จะเรียกว่า “เหลี่ยมจัด” เกินความคาดหมายจริงๆ สำหรับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่คราวก่อน เคยถูกปรามาสว่าเป็นแค่ “เด็กละอ่อน” ไร้เดียงสาทางการเมือง ได้โอกาสขึ้นมาเป็นเพราะโชคช่วยและ “เงื่อนไขพิเศษ” ผลักดันอุ้มสม
ขณะเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขพิเศษและสถานการณ์พิเศษดังกล่าวก็ย่อมทำให้ได้รับการปกป้องเอาใจช่วยอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากสีเขียว และชาวบ้านส่วนหนึ่งที่หลง “ตายใจ” จนตามไม่ทันเกม แต่มาถึงวันนี้เป็นที่แจ้งประจักษ์อย่างชัดเจนแล้วว่า คนอย่างอภิสิทธิ์นั้นไม่ธรรมดา ภายใต้ใบหน้าที่ดูใสซื่อ คำพูดที่ดูดีสุภาพเรียบร้อย แต่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยม มีเบื้องหลังอยู่ตลอดเวลา
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ความเป็นจริงเสียก่อนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายกฯ อภิสิทธิ์กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทุกทาง ทั้งความไม่พอใจของชาวบ้านที่เกิดจากปัญหาข้าวยากหมากแพง การทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นกันอย่างมโหฬาร ไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนที่เคยมีการกล่าวหากันเอาไว้
นอกเหนือจากม็อบเจ้าประจำอย่าง “คนเสื้อแดง” ที่เป็นเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เรียกร้องให้เขาลาออกหรือยุบสภามาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาก็มีการกดดันทุกวิถีทางทั้งภายในสภา และนอกสภา
จากนั้นก็มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มคนไทยที่รักชาติที่สุดทุนถึงความไม่เอาไหน ขาดภาวะผู้นำทำให้บ้านเมืองเสียศักดิ์ศรีจนทำให้ประเทศเพื่อนบ้านย่ำยีอยู่ตลอดเวลาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และที่สำคัญทำให้สูญเสียอธิปไตย และทำให้คนไทยต้องติดคุก ทนทุกข์ทรมานในเขมร โดยที่รัฐบาลไทยไม่ให้การช่วยเหลือ เพราะสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลได้ทำมาตลอดก็คือใช้ “คำพูด” เพียงอย่างเดียวว่า “ช่วยเหลืออย่างเต็มที่” แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างออกมาในทางตรงกันข้าม
เพราะหากพูดให้ชัดเจนก็คือ กรณีของ วีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ ตรงกันข้ามกลับไปยืนยันความผิดให้ต้องไปขึ้นศาลกัมพูชาจนต้องรับโทษความผิดในที่สุด และต่อมาแทนที่จะให้การช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ กลับปล่อยให้อยู่ไปตาม “ยถากรรม” จนเกิดอาการป่วยปางตาย กระทั่งมารดาและน้องชายต้องดิ้นรนช่วยเหลือและนำเรื่องออกมาแฉทางสื่อทำให้ต้อง “ตื่นตัว” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังปัดภาระโดยบอกว่าหากมีการขอพระราชทานอภัยโทษก็ต้องเป็นความสมัครใจของคนในครอบครัวของพวกเขาเอง ความหมายก็คือ รัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินการให้
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมสารพัดกลุ่มที่รุมเร้าเข้ามา ทั้งกลุ่มชาวนาในภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่างที่ออกมาชุมประท้วงให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วกลุ่มดังกล่าวมีเรื่องการเมืองระหว่างพรรคเข้ามาเจือปนอยู่ก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงว่า ราคาข้าวตกต่ำอย่างที่ไม่ควรจะเป็น อีกทั้งโครงการประกันราคาที่นายกฯ อภิสิทธิ์ คุยฟุ้งอยู่ตลอดเวลานั้นไม่ได้ผลจริงตามราคาคุย เพราะส่วนใหญ่ถูกกดราคาชาวนาขายไม่ได้ตามราคาประกัน
จากปัญหาที่รุมเร้าเข้าทุกทาง จนทำให้เขาต้องรีบหาทางออก แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความ “เขี้ยว” ทางการเมืองที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ธรรมดา ทำให้ต้องหาทาง “แก้เกม” ซึ่งนั่นก็คือการ “ส่งสัญญาณ” ยุบสภา เพื่อลดแรงกดดันลงไป เพราะอย่างน้อยเขาก็แสดงความจำนงแล้วว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ไม่ครบวาระอย่างแน่นอน จากนั้นก็ตามมาด้วยการออกมาบอกว่าจะยุบสภาในราวต้นปีหรืออย่างช้าไม่เกินปลายปีนี้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยระบุวันเวลาออกมาให้แน่ชัดแต่อย่างใด เลี่ยงไปเลี่ยงมาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเขาก็สร้างกลไกใหม่ที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบมากที่สุดในสนามเลือกตั้ง หากจำเป็นต้องยุบสภา โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้เขตเลือกตั้งเล็กลง และเพิ่มจำนวน ส.ส.สัดส่วนให้มากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อวกกลับมาที่การส่งสัญญาณยุบสภาอีกครั้งของ นายกฯ อภิสิทธิ์ ซึ่งคราวนี้มีท่าทีเป็นจริงเป็นจัง โดยการนัดหมายไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวานนี้ (11 มีนาคม) นัยว่าเพื่อพูดคุยตกลงกันถึงวันยุบสภาและวันเลือกตั้งทำให้ทุกฝ่ายต้องเงี่ยหูฟังอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาทางฝ่าย กกต. ก็ส่งสัญญาณโต้ตอบกลับมาล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างน้อย 3 ฉบับเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญใหม่เสียก่อน เพื่อป้องกันปัญหาภายหลัง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามชี้ให้เป็นว่า กกต.สามารถออกประกาศการเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องรอกฎหมายลูก
เป็นการ “สร้างภาพ” ให้เห็นว่า ทั้งนายกฯ และรัฐบาลต้องการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนโดยเร็ว แต่การพูดแบบนี้มันเหมือนกลับปลดชนวนออกไป นั่นคือ หนึ่ง-ลดแรงกดดันจากรอบข้าง สอง-หากไปหารือกับ กกต.แล้ว กกต.ยืนยันว่าต้องออกเป็นกฎหมายลูกมารองรับ ก็ถือว่าเป็นความประสงค์ของ กกต. ไม่ใช่นายกฯ อภิสิทธิ์ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ทำให้กำหนดการยุบสภายังไม่อาจระบุออกมาได้แน่ชัด แม้ว่าประธาน กกต.คือ อภิชาต สุขัคคานนท์ ได้เสนอทางเลือกออกมา 2-3 ทางสำหรับวันยุบสภาที่เหมาะสม ซึ่งอย่างเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคม ให้เลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจ
อย่างไรก็ดี ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ที่ผ่านมาหากเป็นรัฐบาลผสมจะต้องมีการหารือกันกับบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก่อนตัดสินใจ เพราะนี่คือความหมายของคำว่า “มารยาท” ทางการเมืองที่ถูกทำให้เข้าใจแบบนี้มาตลอด ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของแกนนำของพรรคร่วมฯหลายคนต่างก็ออกมาไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาในช่วงต้นปีนี้ โดยเห็นว่ายังไม่เหมาะ อ้างว่าต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านไปก่อน หรือบางคนถึงกับบอกว่าให้อยู่จนครบวาระไปเลยก็มี
ดังนั้น แม้ว่าล่าสุดจะมีการระบุว่าจะมีการยุบสภาภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมก็ตาม แต่นั่นก็ย่อมหมายความว่าเขาได้ทำตามคำแนะนำของ กกต.โดยเฉพาะต้องรอการออกกฎหมายลูกที่จะต้องเสนอเข้าสภาให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ซึ่งตามตารางเวลาที่กำหนดเอาไว้คร่าวๆอย่างเร็วที่สุดจะมีการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม หากช้าไปกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาซึ่งเขาไม่ต้องไปเกี่ยวข้องและรับผิดชอบแล้ว ขณะเดียวกันแรงกดดันจากภายนอกที่เข้ามาก็ไม่ต้องไปสนใจ เวลาที่เหลือจึงถือว่า “ปลอดโปร่ง” ที่สุดแล้ว
อีกด้านหนึ่งยังใช้เวลาที่เหลือจัดระเบียบ “กระชับพื้นที่” ทั้งย้ายข้าราชการ ใช้งบกลางปีที่กำลังจะผ่านสภาขั้นตอนสุดท้ายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อสร้างความได้เปรียบ และหวังกลับมาอีกครั้ง ซึ่งนี่คือแผนที่ “พวกเขา” ได้กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าอย่างแนบเนียน และ “เหลี่ยมจัด” ที่สุด!!