ผ่าประเด็นร้อน
วันนี้( 11 มีนาคม) คงจะทราบถึงกำหนดวันยุบสภา และกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่ชัดเสียที หลังจากที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าพบหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ถ้าให้เดาล่วงหน้าก็เชื่อว่าน่าจะไม่เกินเดือนมิถุนายนอย่างแน่นอน
เพราะในช่วงเวลานั้น หลายสิ่งหลายอย่างที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าคงจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ที่สำคัญเป็นการ “ทำทาง” ไปสู่ความได้เปรียบเรียบร้อยแล้ว
หมายความว่าภายในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมงบประมาณกลางปีร่วมแสนล้านที่กำลังอยู่ในช่วงการพิจารณาของวุฒิสภาคงจะออกมาบังคับใช้ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอีกล็อตในช่วงเดือนเมษายน ที่เรียกว่า “ย้ายกระชับพื้นที่” ก็คงจะทำบัญชีให้เสร็จสิ้นก่อนประกาศยุบสภา
นี่ยังไม่นับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงจากเขตใหญ่เป็นเขตเล็ก และเพิ่มจำนวน ส.ส.แบบสัดส่วนเป็น 125 คน เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว
ปัจจัยหลักๆดังกล่าว ทำให้ฝ่ายรัฐบาลใช้เป็นข้อได้เปรียบสำหรับการเลือกตั้ง และกลับมาใช้อำนาจรัฐอีกรอบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าใครหากมีโอกาสก็ทำแบบเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะทำได้ “น่าเกลียด” มากกว่ากัน
อย่างไรก็ดีหากให้พิจารณาบรรยากาศทางการเมือง โดยมองจากความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไปในเวลานี้จะพบว่าแต่ละพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่มีอะไรหวือหวา หรือติดหูติดตาประชาชน จนกลายเป็น “กระแส” ที่ต้องเทไปข้างใดข้างหนึ่งให้ชัดเจน
ถามว่า “กระแสอภิสิทธิ์” จะเกิดขึ้นในอนาคตเหมือนกับที่ยุคหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับ “กระแสแม้ว” ในช่วงที่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ๆหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเมื่อดูในภาพรวมๆแล้วยังไม่น่าจะใช่ แต่หากก่อนหน้านี้เขาตัดสินใจยุบสภาหลัง “กระชับพื้นที่” จาก “ม็อบเสื้อแดง” เผาเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วได้สำเร็จ ตอนนั้นอาจจะไม่แน่ เพราะตอนนั้นคนไทยส่วนใหญ่คิดว่า เขาเป็น “ฮีโร่” ควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งที่เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ กลายเป็นว่าเขานั่นแหละที่ไม่ทำอะไรจนทำให้ทุกอย่างบานปลายจนเกิดความเสียหายย่อยยับ
เมื่อเวลาล่วงเลยจนถึงวันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจากหน้ามือกลายเป็นหลังมือ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกเปิดโปงรายวันให้เห็นถึงความ “ไม่เอาไหน” เป็นรัฐบาลทุจริตในลักษณะ “โคตรโกง” ไม่ต่างจากยุค ทักษิณ
สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้ กระแสมาร์ค ที่พยายามสร้างกันขึ้นมาจึงปลุกไม่ขึ้น มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น !!
อีกด้านหนึ่งเมื่อหันไปทางฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคฝ่ายค้าน คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านี่คือ “กระแสทักษิณ” ที่ยังเพียรพยายามสร้างขึ้นมาอีกครั้ง แต่จาก “ผลกรรม” และ “ความชั่ว” ที่ทำเอาไว้ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มันย่อมทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องส่ายหัวไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเทียบกันในระดับพื้นที่ต่อพื้นที่แล้วจำนวน ส.ส.เขต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคกลาง และในกรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่งพรรคเพื่อไทยก็ยังน่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาระหว่างสองขั้วนั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย ในเบื้องต้นสามารถสรุปได้ว่ายังไม่มีฝ่ายไหนโดดเด่นเหนือกว่าอย่างชัดเจน เพราะแม้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายรัฐบาล สามารถใช้อำนาจรัฐที่อยู่ในมือมาเป็นตัวช่วยในสนามเลือกตั้งได้บ้าง แต่ก็ทำได้แค่เป็นการนำมาชดเชยเพื่อให้เกิดความสูสีในด้านตัวเลข ส.ส.หลังการเลือกตั้งเท่านั้น
ขณะที่พรรคเพื่อไทย เวลานี้อาศัยเพียงแค่ “กินบุญเก่า” อยู่กับฐานเสียงเดิมๆมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย แต่เวลานี้บางส่วนก็ได้แตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่กับหลายพรรคที่แตกตัวมาร่วมรัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับผลงาน “ชิ้นโบว์ดำ” ของม็อบเสื้อแดง ที่ก่อจลาจลเผาเมืองถึงสองปีซ้อนมันก็ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเห็นถึงความป่าเถื่อน ถอยฉากออกมา แต่ถ้าให้สรุปก็ยังต้องให้เครดิตว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังมีฐานเสียงแข็งแกร่ง และเชื่อว่าในช่วงเลือกตั้ง ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย ก็คงจะอัดฉีดเข้ามาไม่อั้น เพราะนี่คือโอกาสที่จะหวนคืนกลับมาสู่อำนาจ โดย “ฟอกตัว” ผ่านการเลือกตั้ง
เมื่อลักษณะที่เป็นแบบที่ตั้งประจันกันในแบบที่สูสี ไม่มีใครชนะเด็ดขาด มันก็ทำให้ยังเป็น “โอกาสทอง” ของพรรคการเมืองขนาดกลาง ค่อนไปทางขนาดเล็ก ที่จะเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลผสมในคราวหน้า และก็อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้ พรรคภูมิใจไทยของ เนวิน ชิดชอบ ได้นัดหมายหารือกับพรรคชาติไทยพัฒนาของ บรรหาร ศิลปอาชา ในสัปดาห์หน้าเป้าหมายที่รู้กันอยู่แล้วว่าในคือรายการ “แพ็ก” กันให้แน่น เป้าหมายก็เพื่อเพิ่มอำนาจ “ต่อรอง” ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
เพราะในสถานการณ์การเมืองทั้งในและวันนี้และต่อเนื่องไปจนถึงวันข้างหน้าหลังเลือกตั้ง ที่หลายฝ่ายต่างมองเห็นตรงกันแล้วว่าคงไม่มีพรรคการเมืองชนะกันขาดแบบถล่มทลาย ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ลักษณะจึงต้องออกมาแบบรัฐบาลผสม ซึ่งถ้าผสมต่างขั้วมันก็ยังเป็นโอกาสทองของพรรคขนาดกลางในการเข้าร่วมดังกล่าว เว้นเสียแต่ว่าเมื่อถึงเวลานั้นเหตุผลของการ “ปรองดอง” แห่งชาติจะหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง เพื่อนำไปสู่การ “ผสมพันธุ์” แบบใหม่ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ซึ่งก็อย่านึกว่าเป็นไปไม่ได้
เพราะในอนาคตสำหรับการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ หากผลประโยชน์ทางการเมืองประสานกันได้อย่างลงตัว แม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เถอะ ไม่มีข้อยกเว้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้นในระหว่างที่รอวันประกาศยุบสภาเพื่อนับถอยหลังการเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มตัวในวันนี้ (11 มีนาคม) ก็ต้องมาประเมินสถานการณ์กันล่วงหน้าแบบคร่าวๆไปก่อน !!