xs
xsm
sm
md
lg

เกียรติ สิทธีอมร ผู้แทนการค้าของใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เจรจาโน้มน้าวให้ผู้มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เพื่อให้งานนั้นๆ สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ เช่นว่า การเจรจากับผู้บริหารในภาครัฐให้อนุมัติโครงการ การเจรจาเพื่อให้มีการอนุมัติการจัดซื้อสินค้าจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เป็นต้น

ความสามารถของล็อบบี้ยิสต์ ขึ้นอยู่กับว่าเขารู้เรื่องอะไร และเขารู้จักใคร

ในสหรัฐอเมริกา ล็อบบี้ยิสต์มีบทบาทสำคัญมากในการผลักดัน-ยับยั้ง-แก้ไขเปลี่ยนแปลง นโยบาย หรือกฎหมายสำคัญๆ ที่จะมีผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเข้าไปมีอิทธิพลในรูปแบบต่างๆ ต่อผู้ออกกฎหมาย คือ นักการเมือง ทั้งของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต และผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบายซึ่งก็คือรัฐบาล จนกล่าวได้ว่าล็อบบี้ยิสต์มีบทบาทอย่างมากต่อระบบการเมืองของอเมริกัน และเป็นบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐฯ ต้องลงทะเบียนไว้กับรัฐบาล เพื่อแสดงตัวโดยเปิดเผยว่าล็อบบี้ให้ใคร เรื่องอะไร และต้องรายงานค่าใช้จ่าย พร้อมหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่า ค่าเลี้ยงดูปูเสื่อ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าสนามกอล์ฟ ฯลฯ

จึงมีตัวเลขว่า เมื่อปี 2008 ธุรกิจล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินไป 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) สำหรับล็อบบี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง มากกว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว 2 เท่าตัว

ในสหรัฐฯ เช่นกัน มีคำว่า revolving door ซึ่งไม่ได้หมายถึงประตูเข้าออกอาคารที่เป็นประตูหมุน แต่หมายถึง การที่คนที่เคยเป๋นนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านหนึ่งๆ เช่น ด้านสุขภาพ หรือการเงิน ผันตัวเองไปเป็นล็อบบี้ยิสต์ให้กับธุรกิจที่ตัวเองเคยเป็นผู้กำกับดูแล หรือในทางกลับกัน ผู้บริหารจากภาคธุรกิจได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจควบคุมดูแลธุรกิจที่ตัวเองเคยเป็นผู้บริหารอยู่

ตัวอย่างที่โด่งดัง คือ นายโรเบิร์ต รูบิน ที่เป็นประธานโกลด์แมนแซกส์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรํฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน หรือนายเฮนรี พอลสัน ซึ่งเป็นประธานโกลด์แมนแซกส์เหมือนกัน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคลังในยุคของประธานาธิบดีบุช และมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โกลด์แมนแซกส์ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมากที่สุด จากกรณีการล้มละลายของเอไอจี

ความหมายของ revolving door ก็คือ ผลประโยชน์ทับซ้อนนั่นเอง

ในประเทศไทยไม่มีการจดทะเบียนธุรกิจล็อบบี้ยิสต์อย่างเป็นทางการ แต่มีการล็อบบี้เกิดขึ้นทุกระดับ ทุกรูปแบบ ที่เรียกว่าการ “วิ่งเต้น” ตั้งแต่ฝากลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล ประมูลงานสร้างถนน ประมูลสัมปทานโทรศัพท์ สมัคร ส.ว.สรรหา สมัครองค์กรอิสระ ฯลฯ

คนที่ทำหน้าที่ล็อบบี้ยิสต์ในเมืองไทยมีหลายลักษณะ มีทั้งที่เป็นเถ้าแก่ เจ้าของกิจการ วิ่งเต้นกับอธิบดี วิ่งไปหาผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเอง ธนาคาร และบริษัทใหญ่ๆ บางแห่ง นิยมเชิญคนใหญ่คนโตในวงราชการไปเป็นประธาน หรือเป็นกรรมการหลังจากเกษียณแล้ว เพื่อเอาไว้ช่วย “วิ่งเต้น” หรือ “ล็อบบี้” ในยามจำเป็น เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ “รู้จักคน” อันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของล็อบบี้ยิสต์ที่สำคัญกว่า “รู้อะไร”

สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2540-2543 มีการแก้ไขกฎหมายที่เปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาฮุบรัฐวิสาหกิจ และซื้อสินทรัพย์ ครอบครองกิจการในประเทศไทยได้ ซึ่งรู้จักกันในชื่อกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ

หนึ่งในกฎหมาย 11 ฉบับนี้คือ กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขคนสำคัญ คือ นายเกียรติ สิทธีอมร ในฐานะตัวแทนของหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย

ดูจากประวัติของนายเกียรติ เท่าที่เปิดเผย ไม่ปรากฏว่าเคยทำงานในบริษัทเอกชน หรือเป็นเจ้าของธุรกิจแต่อย่างใด มีแต่ตำแหน่งหน้าที่ในหอการค้านานาชาติ ซึ่งมีสมาชิก ประเทศต่างๆ 140 ประเทศ โดยเป็นรองเลขาธิการ เป็นกรรมการบริหาร และเป็นประธานหอการค้านานาชาติ

หอาการค้าต่างชาติในประเทศไทย และประเทศต่างๆ นั้นก็คือ ตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจของประเทศนั้นๆ มีหน้าที่ดูแล ปกป้องผลประโยชน์ด้านการลงทุน และการค้าของประทเศนั้นๆ ซึ่งก็คือ การทำหน้าที่ล้อบบี่ยิสต์ ให้กับธุรกิจต่างชาตินั่นเอง

ด้วยเหตุนี้กระมัง นายเกียรติจึงมีภาพของความเป็นล็อบบี้ยิสต์ติดตัวอยู่ และได้ชื่อว่าเป็นล็อบบี้ยิสต์ตัวยงคนหนึ่งในประเทศไทย

เมื่อก้าวออกจากประตูหมุน เข้าไปในทำเนียบไทยคู่ฟ้า นายเกียรติได้รับความไว้วางใจจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่งตังให้เป็นประธานคณะผู้แทนการค้าของไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะต้องเจรจาต่อรอง รักษาผลประโยชน์ทางการค้าของชาติในเวทีโลก และน่าจะเหมาะกับเขาซึ่งมีประสบการณ์ในการต่อรอง ล็อบบี้ เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นการล็อบบี้เพื่อชาติ ไม่ใช่ล็อบบี้เพื่อต่างชาติ

นายเกียรตินั้น จัดว่าเป็น “คนวงใน” ที่รายล้อมรอบตัว นายอภิสิทธิ์มักจะร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับนายกรัฐมนตรี ครั้งที่เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง เขาได้รับมอบหมายให้เป็นทูตพิเศษของนายอภิสิทธิ์ชี้แจงสถานการณ์กับนักธุรกิจทั่วโลก เป็นผู้ประสานงาน การไปบรรยายในที่ประชุมนักธุรกิจ เวลาที่นายอภิสิทธิ์ เดินทางไปต้างประเทศ และประสานงานให้นักธุรกิจต่างชาติ เข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล

ถือว่าถึงพร้อมซึ่งคุณสมบัติในเรื่อง “รู้จักคน” ของล็อบบี้ยิสต์

นายเกียรติยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะตรวจสอบปัญหาข้อกฎหมายของโครงการหวยออนไลน์ ที่ล้มเลิกไปตามนโยบายของนายอภิสิทธิ์ แต่ท่าทีของนายเกียรติต่อเรื่องนี้ กลับกลายเป็น ผู้ผลักดันให้รัฐทำโครงการหวยออนไลน์ต่อไป ดังจะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ที่ออกมาเป็นระยะๆ ในทำนองว่าโครงการหวยออนไลน์จะต้องได้เกิดแน่

ผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างแน่นอนหากมีหวยออนไลน์ คือ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างล็อกซเล่ย์ กับบริษัท จาโก ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ขายเครื่องออกหวย และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ได้มีการเซ็นสัญญากับสำนักงานสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปนานแล้ว

ท่าทีของนายเกียรติจึงเป็นที่เคลือบแคลงว่ารักษาผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกา หรือว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติกันแน่

ล่าสุด พรรคเพื่อไทยฉายหนังตัวอย่างก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีแสดงหลักฐานหนังสือที่นายพงศ์ศักดิ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหนังสือลงวันที่ 6 กันยายน 2553 อ้างคำสั่งนายกฯ เรียกอัยการสูงสุด กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานผู้แทนการค้าไทย ฯลฯ ให้มาประชุมทบทวนคดีที่บริษัท ฟิลิป มอร์ริส ถูกดำเนินคดีสำแดงเท็จ แจ้งราคาบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 68,000 ล้านบาท

หลังจากนั้นอีก 5 เดือน คือเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้เอง สำนักงานอัยการสูงสุดก็สั่งไม่ฟ้อง บริษัทฟิลิป มอร์ริส แต่ดีเอสไอในฐานะพนักงานสอบสวน ไม่เห็นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของดีเอสไอ

นายพงศ์ศักดิ์ ซึ่งลงนามในหนังสือเวียน ในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้น คือ อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ในยุคที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. และลาออกจากตำแหน่งมารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ส่วนนายเกียรตินั้นก็เคยเป็นที่ปรึกษานายอภิรักษ์ สมัยที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน

ที่มาของความสัมพันธ์นี้จึงอาจเป็นคำตอบได้ว่า ทำไม นายพงศ์ศักดิ์จึงกล้าลงนามในหนังสือแทนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นายกอร์ปศักดิ์ไปอยูไหนในตอนนั้น และถ้านายกอร์ปศักดิ์ไม่อยู่ ทำไมจึงไม่มีรองเลขาธิการปฏิบัติราชการแทน

เรื่องนี้ ต้องรอดูฝีมือของพรรคเพื่อไทยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าจะมีฝีมือในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่มากกว่าการหากินกับศพหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น