xs
xsm
sm
md
lg

เร่งรัฐเจาะช่องระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นักพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะอนุกรรมการปฎิรูประบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ในคณะกรรมการปฎิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กล่าวถึงผลการลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคณะอนุกรรมการฯเพื่อสำรวจสาเหตุที่น้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่พบว่าการน้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 พบว่าสาเหตุไม่ใช่มาจากปริมาณฝนที่มากเกินไป แต่มาจาก 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ สร้างสิ่งกีดขวางทับทางระบายน้ำ และการเก็บน้ำไว้เกินปริมาณแล้วปล่อยออกมาโดยไม่มีการวางแผน เพราะในปริมาณฝนเท่านี้หากเป็นหลายปีก่อนน้ำไม่ท่วมนานขนาดนี้ เป็นเพียงปรากฎการณ์น้ำหลากตามธรรมชาติ อาจจะมีน้ำขังบ้าง มากที่สุด 1-2 วัน แต่ปัจจุบันท่วมหลายวันเพราะน้ำไม่มีทางไป ปัญหาสำคัญที่ไม่สามารถวางแผนการจัดการน้ำได้ เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีเอกภาพ เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ หน่วยไหนมีงบประมาณก็มุ่งหน้าก่อสร้าง โดยไม่สนใจว่าจะกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยเฉพาะการสร้างถนนกลายเป็นทุกวันนี้ทุกหน่วยงานสร้างถนนได้เอง ถนนของอบต.วันนี้มีขนาดใหญ่กว่าถนนที่สร้างโดยกรมทางหลวง ก็ยังมีขึ้นอยู่กับว่างบประมาณตั้งอยู่ที่ไหน
นายหาญณรงค์ กล่าวว่า เบื้องต้นคณะอนุฯ จะเสนอให้แก้ไขปัญหาสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำเดิม เช่น ถนนที่กั้นทางน้ำทั้งหลายต้องเปลี่ยนใหม่ให้เป็นเป็นสะพาน โดยหน่วยงาน อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมผังเมือง ต้องเข้ามาจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ยกตัวอย่างถนนที่วิ่งจาก จ.พัทลุง ไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระยะทาง 50 กม. มีสะพานประมาณ 50 แห่ง และมีการวางท่อทุกสะพานทำให้น้ำระบายออกได้ทันทีไม่มีปัญหาน้ำขังหรือน้ำท่วมจะเสนอให้หน่วยงานต่างๆต้องวางแผนร่วมกันในการจัดการน้ำ
ส่วนถ้ามีการก่อสร้างสนามกีฬาหรืออาคารขนาดใหญ่ทับทางน้ำธรรมชาติ อย่างจ.นครราชสีมา เจาะทำทางระบายได้ยาก ก็เสนอให้ลงทุนทำบายพาสทางระบายน้ำแห่งใหม่ เช่นที่เคยทำให้ลอสแองเจอลิส สหรัฐฯ มีการก่อสร้างทับทางระบายน้ำแทบทั้งหมด แต่ได้เวนคืนที่ดินชาวอเมริกันหลายร้อยไร่ เพื่อตัดเป็นทางน้ำไหลลงทะเล โคราชก็ต้องแก้ปัญหาเช่นนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี
นอกจากคณะอนุฯ จะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปแก้ไขความผิดพลาดแล้ว ยังจะออกแบบให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่ อย่างน้อยหน่วยงานรัฐต้องบอกข้อมูลกับชาวบ้านอย่างพอเพียง เพราะที่ผ่านมามีการปิดกั้นข้อมูลที่ประชาชนควรจะได้รู้ ครั้งหนึ่งชาวบ้านถึงกับร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิแห่งชาติว่า เจ้าหน้าที่ไม่ยอมบอกข้อมูลโดยบอกกับชาวบ้านว่าแก่แล้ว ไม่ต้องฟัง หรืออ้างไปว่าจบคณะวิศวกรรมศาสตร์มาชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องหรอก
“มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่ามนุษย์ที่เอาชนะจัดการธรรมชาติได้ ซึ่งคนเหล่านั้นอยู่ในหน่วยงานของรัฐ และมีนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลประโยชน์จากการก่อสร้างถนน หรือคันกั้นน้ำ จากการขุดดินขาย” นายหาญณรงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น