ตัวแทน อสส.แจง กก.ติดตามสถานการณ์ วุฒิฯ ชี้ผลสอบร่วมดีเอสไอ โยนบาปทหารยิงใส่แดงเผาเมืองจริง อ้างการสอบสวนเป็นไปได้ยาก ไม่กล้าฟันธงเพื่อป้องกันตัวหรือยิงกราด ยันนครบาล เตรียมรับลูกดีเอสไอ ส่งเรื่องคืน
วันนี้ (3 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม เชิญอัยการสูงสุดชี้แจงคดีการชุมนุมการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2553 โดย นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า อัยการได้ร่วมสอบสวนคดีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 91 ศพ กับดีเอสไอด้วย โดยแบ่งคดีเป็นกลุ่มๆ ยึดบริเวณของผู้เสียชีวิตเป็นหนึ่งคดี แต่การสอบสวนยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะเหตุเกิดหลายวันแล้วถึงได้เข้าไปในพื้นที่ ลักษณะของศพจึงมีการเปลี่ยนแปลง มีการเคลื่อนย้ายศพ และความคืบหน้าของคดีขณะนี้ยังไม่มีคดีที่ส่งมาให้พนักงานอัยการเลย ทุกคดียังอยู่ในการสอบสวน
“ผลการสอบสวนที่เราไปร่วมสอบ นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่รัฐยิงใส่กลุ่มผู้ชุมุนมแล้ว ยังมีกลุ่มไม่ทราบฝ่ายหรือชายชุดดำซุ่มตามจุดต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมโดยใช้อาวุธยิงใส่ทหาร จนมีทหารเสียชีวิต หรือเรียกว่า ชายชุดดำซุ่มอยู่ตามจุดต่างๆ โดยในกลุ่มที่ซุ่ม มีทหารมากกว่าหนึ่งนายคอยคุม มีอาวุธสงครามร้ายแรง กองกำลังในความควบคุมประมาณ 30-50 คน ซึ่งสามารถก่อการในกรุงเทพฯ ได้ แต่การสอบสวนในขณะนี้ก็ยังไม่พบว่าเป็นกลุ่มไหนแน่” นายรุจ กล่าว
นายรุจ กล่าวต่อว่า กรณีที่เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐยิงใส่ผู้ชุมนุมนั้น เกิดจากการที่ทหารประจันหน้ากับผู้ชุมนุม แต่ขณะนี้ยังสอบสวนไม่ถึงตัวบุคคลที่กระทำผิด แต่ยืนยันว่า เร่งสอบสวนเต็มที่ เพราะหากจะสั่งยุติคดีเพื่อไม่ให้คดีไม่ขึ้นสู่ศาล จะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย คิดว่า ฝ่ายอัยการช่วยรัฐบาลหรือทหารหรือไม่ ดังนั้น เมื่อการสอบสวนพบว่า น่าเชื่อว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทีมสอบสวนจึงหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ว่า เมื่อส่วนหนึ่งน่าเชื่อว่าเกิดจากหน้าที่รัฐ จึงต้องให้ตำรวจนครบาล ชันสูตรพลิกศพหาตัวผู้ทำผิดต่อ เพื่อไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาลให้ประชาชนคลายความสงสัย
“ในการสอบสวนผู้ชุมนุมมักบอกว่าน่าเชื่อว่ามาจากฝ่ายทหาร แต่ก็ยืนยันไม่ได้ว่าใครยิง ในส่วนของศพที่พบเศษหัวกระสุน เราจะขออาวุธปืนจากทหารที่เข้าปฏิบัติหน้าที่มาตรวจสอบว่ามาจากทหารหรือไม่ ฝ่ายทหารก็อาจไม่พอใจ ซึ่งอัยการไม่ได้ให้ความสำคัญว่าใครยิง แต่ต้องการทราบว่าที่ยิงไปนั้นเพื่อป้องกันตัวเองหรือไม่ เราต้องการให้ทหารเคลียร์ตัวเอง ไม่ใช่จ้องจับผิด ต้องการทราบว่าการปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ถ้ายิงใส่ผู้ชุมนุมเพื่อป้องกันตัวเอง ก็คิดว่าไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเหตุผลในการยิ่ง ถ้าทหารกราดยิ่งผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทำอะไรผิด ก็เป็นการทำเกินกว่าเหตุ” นายรุจ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ส.ว.พยายามซักถามว่า การทำงานถูกกดดันจากทางทหารหรือไม่ ซึ่งนายรุจ ยืนยันว่า ไม่มี และฝ่ายอัยการทำงานตรงไปตรงมา ถ้าทหารยิงก็ต้องเป็นทหารยิง แต่ถ้าทหารยิงเพื่อป้องกันตัว ก็ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า แต่สำนวนสอบสวนสวนใหญ่คณะกรรมการสอบสวนยังไม่ทราบตัวผู้ทำผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.หลายคนยังสอบถามการสอบสวนคดี นายฮิโรยูกิ มูราโมโต นักข่าวญี่ปุ่นที่ถูกยิงเสียชีวิต โดย นายรุจ ชี้แจงว่า การสอบสวนพบว่า นายฮิโรยูกิ ถูกยิงด้วยอาวุธปืนขณะเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาสลายการชุมนุม และยิงมาจากทางฝ่ายทหาร จึงเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐกระทำ คณะกรรมการก็ส่งเรื่องให้ฝ่ายตำรวจสอบสวนซึ่งทำอยู่ได้นาน 1-2 เดือนแล้ว แต่ตนได้ข่าวว่า พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.จะส่งเรื่องดังกล่าวคืนให้ดีเอสไอ เพราะดีเอสไอเพิ่งออกมาให้เหตุผลว่า น่าจะเกิดจากกระสุนปืนอาก้า ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ใช้ ข้อมูลตรงนี้ฝ่ายอัยการจึงไม่ทราบมาก่อน ดังนั้น ถ้าทาง บช.น.ส่งเรื่องคืนมาให้ดีเอสไอจริง ทางอัยการก็ต้องหารือกับดีเอสไออีกครั้ง ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
นายรุจ กล่าวด้วยว่า ฝ่ายอัยการก็ต้องการให้คดีขึ้นสู่ศาลให้เร็วที่สุด เพราะเมื่อยังไม่ชัดเจน ฝ่ายทหารก็คงไม่มีความสุขแน่ถ้าลูกน้องถูกกล่าวหาเนื่องจากลูกน้องไปทำงานให้ ซึ่งเวลาทหารตบเท้ามาคุยก็เสียงดังเหมือนกัน ถ้าถามว่ากดดันหรือไม่คิดว่าเสียงของรองเท้าก็หนักเหมือนกัน ซึ่งทาง ผบ.ทบ.ก็บอกว่า ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งถ้าอัยการไม่สอบสวน แต่แจ้งข้อหาแล้วไปจับเลยจะยิ่งหนัก ความรู้สึกของทหารก็สำคัญ ยอมรับว่าทหารมีอะไรที่มากกว่า มีพลานุภาพพอสมควร อย่างไรก็ตาม อัยการต้องพยายามทำอย่างโปร่งใส และทำให้คดีสิ้นสุดเร็วที่สุด