กกต.ยกร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.31 มาตรา เสนอ สภา พร้อมยกร่าง ประกาศ กกต.32 ข้อ เนื้อหาสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองรับยุบสภา
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ กกต.ได้เตรียมการภายในโดยยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ไว้ทั้งสิ้น 31 มาตรา เพื่อเสนอต่อกกต.ให้ความเห็นชอบก่อนเสนอเข้าสู่สภา เพื่อพิจารณาเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมกันนี้ ยังยกร่าง “ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... พ.ศ....” จำนวน 32 ข้อ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 93-98) มาตรา 7 วรรคท้ายกรณีมีการยุบสภาเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไประหว่างการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พิจารณาในสภายังไม่แล้วเสร็จใน 1 ปี โดยร่างประกาศ กกต.ดังกล่าวจะบังคับใช้แทน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มีบทบัญญัติถ้อยความที่เหมือนกับร่างประกาศ กกต.เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฯโดยเนื้อหาไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะเป็นการนำมาปรับใช้ซึ่งกันและกันให้สอดคล้องตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 31 มาตรามีเนื้อหาเพื่อยกเลิกความในบางมาตราแห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 และแก้ไขใหม่โดยมีสาระสำคัญ อาทิ มาตรา 3 ให้ยกเลิก ส.ส.แบบสัดส่วน, มาตรา 4 ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวและใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งในการสมัครรับเลือกตั้ง, มาตรา 5 กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกิน 20 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับและต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน กำหนดวันที่พรรคการเมืองจะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งกำหนดให้เป็นวันก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน
มาตรา 12 ให้จัดทำบัญชีรายชื่อตามแบบที่ กกต.กำหนดโดยจัดเรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลขจำนวนไม่เกิน 125 คน, มาตรา 17 ถ้าพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตให้ใช้หมายเลขเดียวกับหมายเลขผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด,
มาตรา 24 ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียว ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้ง ในกรณีผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น
มาตรา 27 เมื่อ กกต.ได้รับผลรวมคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากกกต.ประจำจังหวัดแล้วให้ดำเนินการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.โดยให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองได้รับคะแนนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นรวมกันแล้วหารด้วย 125 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน และให้นำคะแนนรวมของแต่ละพรรคที่ได้รับหารด้วยคะแนนเฉลี่ยผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นต้น