นายกฯ ฟุ้งก่อนไทย-เขมรเกิดปัญหาพิพาทพื้นที่พระวิหาร การค้าขายโตกว่า 40% เผยคุย “ฮุนเซน” เปิดด่านเพิ่ม ย้ำทางออกสองประเทศกลับมาบริหารดินแดนร่วมกันช่วยแก้ปัญหา ระบุผลถกยูเนสโกเชื่อเลื่อนพิจารณาแผนจัดการพื้นที่
วันนี้ (26 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามของนักศึกษาจากสถาบันพระปกเกล้า ภายหลังการเดินทางมาเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ บรรยายหัวข้อวิชา “การเมืองของการบริหารเศรษฐกิจไทย” ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถึงการแก้ปัญหาไทย-กัมพูชาว่า นโยบายของไทย-กัมพูชาในการส่งเริมการค้าขาย เมื่อที่ปีที่แล้วโตถึง 40% ถือว่าสูง และยังมีการหาทางเปิดด่านเพิ่มเติม โดยตนได้คุยกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เฉพาะเรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนเรื่องในพื้นที่พระวิหารนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องเรียนว่ามีที่มาที่ไปมาจากปัญหาเรื่องมรดกโลก เพราะก่อนหน้าที่มีเรื่องของมรดกโลกนั้นประชาชนไปเที่ยวได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่าอะไรอยู่ตรงไหน พูดง่ายๆ คือแบ่งผลประโยชน์กันมีการเก็บเงินที่ทางขึ้นในฝ่ายเราเป็นต้น แต่เมื่อปัญหาเกิดคือกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนฯ หากไม่คิดอะไรมากก็มองว่าเป็นความต้องการจัดระบบการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น แต่พอกัมพูชาทำก็ต้องมีแผนบริหารจัดการพื้นที่ขึ้นก็กระทบดินแดนเราไปโดยปริยาย ทั้งนี้ เราเข็ดอยู่แล้วเมื่อปีที่เราเสียปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกบอกว่าเรายอมรับแล้ว ไม่ทักท้วงก็บอกว่าเรายอมไปแล้ว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ตนจึงบอกว่าก่อนหน้านี้ในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะพูดว่าทำอะไรต้องทำร่วมกัน แต่ในปี 2551 พอเราไปเซ็นยอมให้กัมพูชา ขึ้นมรดกดลกฝ่ายเดียว นั่นคือที่มาของปัญหา หลังจากนั้นเขาก็จะมาบริหารพื้นที่ของเรา ในช่วง ก.ค. 2551 จึงมีการส่งทหารมาตึงกำลังในพื้นที่ มีแต่ทหารทำให้มีความไม่ปลอดภัยคนจึงไม่ได้เข้า และเมื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไป แต่ก็มีบางกลุ่มที่เขาไม่ได้ไปท่องเที่ยวจึงมีความเสี่ยงที่จะลุกลาม
“วิธีการแก้ปัญหาประการแรกผมบอกยูเอ็นและยูเนสโกว่าให้คุณหยุดทุกอย่างก่อนได้ไหม เพราะมีแรงกดดันว่ากัมพูชาจะเคลียร์ตรงนี้ ผมจึงบอกไปกับผู้แทนยูเนสโกว่าจะเดินไปอย่างไรเพราะเป็นพื้นที่ของไทย นี่คือปมปัญหาที่ต้องเร่งคลี่คลาย ซึ่งแนวโน้มก็ดีขึ้น และเชื่อว่ายูเนสโกเลื่อนพิจารณาแผนแล้วให้เราคุยกับกัมพูชาก่อน และถ้าเราจะปลดล็อกตรงนี้ได้ คือกลับมาสู่การบริหารดินแดนร่วมกันทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ซึ่งเราก็พยายามเดินไปสู่จุดนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว