xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.ยกคำร้อง กสท ฟ้อง กทช.ระงับปฏิบัติหน้าที่ กสทช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาล ปค.กลางสั่งยกคำร้อง กสท ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ระงับใช้เงื่อนไขในการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่บริษัท กสท ร้องขอ ชี้เป็นผลเสียกับรัฐ เหตุจะเปิดช่องให้ กสท สามารถใช้บริการดาวเทียมต่างชาติที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทช.หรือ กสทช.ได้ พร้อมระบุที่อ้างทำให้ขาดรายได้จากลูกค้าที่ต้องการใช้บริการปีละ 60 ล้านนั้น ยังไม่เป็นข้อมูลที่แน่นอน

วันนี้ (25 ก.พ.) ศาลปกครองกลาง ที่มี นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นขอให้ศาลฯสั่งให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระงับการบังคับใช้เงื่อนไขในการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3ไว้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.52 ซึ่งเป็นวันที่ กทช.กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากบริษัท กสท ยื่นฟ้อง กทช.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้เพิกถอนเงื่อนไขในการอนุญาต หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม โดยเฉพาะ 1.เงื่อนไขเฉพาะรายบริการ บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมโดยไม่มีสถานีแม่ขายเป็นของตนเอง (รหัสบริการ 3-2-9) บริการ CAT IP STAR (รหัสบริการ 3-2-9.2) ข้อ 2 และข้อ 9 2.เงื่อนไขเฉพาะรายบริการ บริการรับส่งสัญญาณเป็น Transmission Platform (รหัสบริการ 3-2-10) ข้อ 2 และข้อ 11 3.เงื่อนไขเฉพาะรายบริการ บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้จานสายอากาศขนาดเล็ก เพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไปจำนวนมาก รหัสบริการ (3-2-11) บริการโกลบแซท (Globesat) ในและระหว่างประเทศ (รหัสบริการ3-2-11.1) VSATในประเทศ (รหัสบริการ 3-2/11.2) ข้อ 2 และข้อ 11 เนื่องจากเห็นว่าข้อกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ทำให้เกิดการครองสิทธิข้ามสื่อและเป็นการครอบงำ จึงเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

ส่วนเหตุที่ศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้คำสั่งตามที่บริษัท กสท ร้องขอ ระบุ ที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาระบุว่า การกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัท กสท เป็นอำนาจของ กทช.ตามมาตรา 79 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 การที่บริษัท กสท อ้างว่า การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นสิ่งที่ศาลจะพิจารณาต่อไป ส่วนที่อ้างว่าการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวทำให้บริษัท กสท เสียหาย เนื่องจากได้ขอความเห็นชอบขอใช้ดาวเทียมต่างชาติไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามเงื่อนไขที่กทช.กำหนดแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา และการกำหนดเงื่อนไขของ กทช.จึงทำให้บริษัทกสท ถูกโต้แย้งสิทธิในการดำเนินธุรกิจ เสียภาพลักษณ์ในสายตาผู้ใช้บริการ ขาดรายได้ปีละ 60 ล้านบาท จากการที่ไม่สามารถให้บริการกับลูกค้าที่ระบุให้ใช้ดาวเทียมต่างชาตินั้น จากการชี้แจงของ กทช.พบว่า กทช.ไม่เคยอนุญาตให้บริษัท กสท ใช้ดาวเทียมต่างชาติ แต่ดาวเทียมต่างชาติที่บริษัท กสท ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้ว บริษัท กสท จึงมีสิทธิใช้ดาวเทียมต่างชาตินั้นต่อไป เท่ากับว่า ความเสียหายของบริษัท กสท ตามที่อ้างนั้นยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม บัญญัติให้กิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารเป็นกิจการโทรคมนาคม กิจการดังกล่าวจึงอยู่ในการกำกับดูแลของกทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่กสทช.ด้วย สำหรับดาวเทียมต่างชาตินั้น กทช.หรือ กสทช.ต้องดำเนินการตามที่รัฐบาลแจ้งให้ทราบตามมาตรา 75 แห่ง พ.รบ.ดังกล่าว ดังนั้น กทช.หรือ กสทช.จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการดาวเทียมของประเทศไทยและดาวเทียมต่างชาติต่อไป การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาฯตามที่บริษัท กสท ร้องขอ ย่อมทำให้บริษัท กสท มีสิทธิใช้บริการดาวเทียมต่างชาติที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทช.หรือ กสทช.ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการการบริหารงานของรัฐและการให้บริการสาธารณะในกิจการโทรคมนาคมจึงไม่สมควรมีคำสั่งทุเลาฯตามที่ร้องขอ
กำลังโหลดความคิดเห็น