xs
xsm
sm
md
lg

แฉ “สุรพล-บอร์ด” ต่อสัญญาช่อง 3-โฆษณา ทรูฯ-จัดหาอุปกรณ์ไม่โปร่งใส! สหภาพฯ อสมท เพิ่งตื่นโร่ร้องนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ในเว็บไซต์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท
สหภาพแรงงานฯ อสมท เปิดจดหมายถึงนายกฯ ร้องตรวจสอบการบริหารงานภายใน อสมท พบปมฉาวอื้อ ต่อสัญญา “ช่อง 3” อีก 10 ปี มิชอบ แถมมีข้อโต้แย้งชดเชยค่าเสียหาย 405 ล้าน ทำ อสมท เสียผลประโยชน์ รวมทั้ง “ทรูวิชั่นส์” ชักดาบค่าตอบแทน สวนทางกับกำไรจากโฆษณาถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก พ่วงกรณีจัดซื้อระบบประชุมทางไกล 24 ล้าน ทั้งที่มีรถโอบีและห้องส่งรองรับอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ จดหมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการบริหารงานภายใน อสมท ลงในเว็บไซต์ หลังจาก นางอรวรรณ ชูดี ประธานสหภาพแรงงานฯ อสมท พร้อมด้วยตัวแทนสหภาพแรงงานฯ เข้าพบนายอภิสิทธิ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี คือ เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นภายใน บมจ.อสมท ทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท และพนักงาน มีความวิตกกังวลต่อการบริหารงานภายใต้การกำกับของ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บมจ.อสมท และ นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท อาจไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประชาชนในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย ตลอดจนสร้างปัญหาต่อขวัญกำลังใจของพนักงานและลูกจ้าง

ซึ่งที่ผ่านมา สหภาพฯ ได้พยายามทักท้วงและสอบถามตามช่องทางการบริหาร รวมถึงการประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์แล้ว แต่ยังคงมีความเห็นที่แตกต่าง และไม่ได้รับความชัดเจน จนเกรงจะเกิดความไม่โปร่งใส กระทบต่อองค์กรในอนาคต ทั้งนี้ สหภาพฯ ได้นัดหารือพนักงาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 เพื่อชี้แจงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ข้อยุติร่วมกันว่า มีความจำเป็นต้องขอความกรุณาจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน พิจารณาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน บมจ.อสมท ดังนี้

1.การปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ไม่รักษาผลประโยชน์ของ บมจ.อสมท อาทิ การกำกับดูแลคู่สัญญาสัมปทานช่อง 3 จากการต่อสัญญาไปอีก 10 ปี โดยได้รับค่าตอบแทนคงที่ตลอดอายุสัญญา จำนวน 2,002 ล้านบาท ขณะที่ประธานกรรมการ บมจ.อสมท เจรจาขอให้ช่อง 3 ชดเชยความเสียหาย จำนวน 405 ล้านบาท แต่ยังมีข้อโต้แย้งจากบุคคลภายนอก และกรรมการ บมจ.อสมท ส่วนหนึ่ง จนเกรงว่าท้ายที่สุดจะทำให้ บมจ.อสมท ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตลอดจนประชาชนผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียประโยชน์

การให้ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) มีโฆษณา ตามมติคณะกรรมการ บมจ.อสมท ที่เห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2552 โดยจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มให้ บมจ.อสมท เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ ก่อนหักค่าใช้จ่าย แต่จนถึงขณะนี้ บมจ.อสมท ยังไม่ได้รับรายได้ดังกล่าว จากปัญหาสัญญาที่ไม่ชัดเจนเรื่องฐานการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ ขณะที่ ทางบริษัท ทรูวิชั่นส์ฯ แจ้งผลประกอบการต่อนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่า จะมีรายได้เพิ่มจากโฆษณา โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

นอกจากนี้ การจัดหาวัสดุด้วยวิธีพิเศษระบบ Tele Presence ระยะเวลา 24 เดือน ในวงเงิน 24 ล้านบาท โดยอ้างถึงการไปดูงานของกรรมการ บมจ.อสมท ที่บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการตั้งเรื่องจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยวิธีพิเศษ โดยอ้างว่ารองรับการสื่อสารประชุมทางไกลกับบุคคลสำคัญที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ขณะที่ บมจ.อสมท มีรถถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมและห้องส่งที่พร้อมรองรับภารกิจต่างๆ อยู่แล้ว

2.การบริหารที่ขาดหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สร้างความแตกแยกในองค์กร อาทิ มีการล้วงลูกการบริหาร ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของพนักงาน โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้มีการบรรจุผู้บริหารสัญญาจ้าง โดยจะให้มีลูกจ้างสัญญาจ้างใน บมจ.อสมทเฉพาะ 3 ตำแหน่งคือ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) และผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานตรวจสอบภายใน ซึ่งไม่มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งใดทำเช่นนี้ เป็นการปิดกั้นโอกาสของ บมจ.อสมท ในการสรรหาบุคลากรมืออาชีพในตำแหน่งหลักได้อย่างเปิดกว้างและสอดคล้องกับความจำเป็นทางธุรกิจ และยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของพนักงานในการเติบโตตามสายงานต่างๆ

ต่อมา การจ้างบริษัทที่ปรึกษาปรับปรุงโครงสร้างองค์กร แต่ประธานกรรมการ บมจ.อสมท และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พยายามปิดกั้นการมีส่วนร่วมของสหภาพแรงงาน และไม่มีนโยบายจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากพนักงาน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอนาคตการทำงานของพนักงานทั้งองค์กร อีกทั้งระหว่างที่โครงสร้างยังไม่เสร็จ ได้มีการใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานหลายระดับ โดยไม่ผ่านสำนักทรัพยากรมนุษย์

นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท มาดำรงตำแหน่งรักษาการ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการบริษัท ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากคณะกรรมการ บมจ.อสมท ต้องทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีกทั้งบุคคลดังกล่าวในอดีตเคยเป็นทนายฟ้องร้อง บมจ.อสมท ต่อศาลปกครองให้แก่ นายธนวัฒน์ กล่าวหากระบวนการสรรหา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เมื่อปี 2550 ไม่โปร่งใส

3.ขาดประสิทธิภาพเชิงบริหาร กระทบต่ออนาคตขององค์กร อาทิ มีความล่าช้าในการเตรียมแผนงานรองรับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการรองรับการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีผู้บริหารและตัวแทนสหภาพฯ เข้าร่วมหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ไปแล้ว และมีการโยกย้ายผู้บริหารที่ติดตามผลกระทบทางกฎหมาย ต่อ บมจ.อสมท ออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนงานของธุรกิจใหม่ หรือ New Media เพื่อหารายได้รองรับผลกระทบของกฎหมายดังกล่าว โดยมีแต่โครงการจัดซื้อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์จำนวนหลายร้อยล้านบาท ทั้งที่ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในทางธุรกิจที่ชัดเจน รวมทั้ง แผนการเช่าสัญญาณดาวเทียม มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท รองรับธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม โดยคาดว่า จะมีกำไรเฉลี่ยเพียงปีละ 20 ล้านบาทเท่านั้น

ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท มีความตั้งใจจริง และมุ่งหวังให้ บมจ.อสมท เป็นองค์กรสื่อระดับชาติที่มีความโปร่งใส และทำหน้าที่เป็นกลางอย่างแท้จริง จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณานายกรัฐมนตรี ตรวจสอบการบริหารงานของประธานกรรมการ บมจ.อสมท และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ องค์กร ผู้ถือหุ้น และให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลต่อไป

ย้อนรอยปัญหาต่อสัญญาช่อง 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรณีการต่อสัญญาช่อง 3 เป็นที่กล่าวถึงในช่วงที่สัญญาระหว่าง อสมท กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด จะหมดลงในวันที่ 25 มีนาคม 2553 กระทั่ง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ พร้อมด้วย นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา กล่าวหาคณะกรรมการ บมจ. อสมท กรณีพยายามต่อสัญญาไทยทีวีสีช่อง 3 โดยมิชอบ หลังพบว่า บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มีการกระทำที่ผิดสัญญา รวมทั้งค่าตอบแทนของ อสมท ที่ได้จากสัญญาดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งสัญญาที่ทำกันมาอาจไม่ชอบธรรมและอาจเป็นโมฆะ และการต่อสัญญาโดยทันทีอาจทำไม่ได้ตามกฎหมายหลายฉบับในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นายปานเทพ เห็นว่า มีความพยายามที่จะต่อสัญญากับ บริษัท บางกอกฯ ในการร่วมดำเนินการไทยทีวีช่อง 3 ไปอีก 10 ปี หลังจากวันที่ 25 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นวันหมดสิ้นอายุสัญญา ซึ่งในสัญญาเดิมได้ระบุว่า จะตกลงให้ต่อสัญญาอีก 10 ปี เมื่อไม่ทำผิดสัญญา และจะจ่ายผลตอบแทน 2,002,160,000 บาท ปัญหาคือว่าจ่ายเงิน 405 ล้านบาท เพื่อได้ผลประโยชน์อีก 10 ปี ของช่อง 3 ที่จะดำเนินการโดยบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยการจ่ายอีก 10 ปีข้างหน้า 2002,160,000 บาท ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาตลาด อีกทั้งยังน้อยกว่าบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่จ่ายให้กับ อสมท.ในการรับดำเนินการแบบบอกรับสมาชิกถึง 3 เท่า คือ 650 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการทำผิดสัญญาหลายครั้งใน 2 ประเด็น คือ การปฏิบัติตามสัญญา BTO หรือ Build Transfer Operate ซึ่งบริษัท บางกอกฯ ต้องจัดหาทรัพย์สินทั้งหลายมอบให้ทาง อสมท ก่อน แล้วค่อยใช้ทรัพย์สินเหล่านั้น แต่ไม่ทำตามสัญญา และยังพบว่า บริษัท บางกอกฯ ให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนในกิจการของตัวเอง ซึ่งขัดกับข้อสัญญากับ อสมท เป็นการทำผิดสัญญาในสัญญาหลัก เพราะพบว่ามีบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการขายโฆษณา การจัดผังรายการ ผลิตรายการ เท่ากับสัญญาดังกล่าวถูกละเมิดไปแล้ว รวมทั้งการต่อสัญญาครั้งนี้ต่อโดยอัตโนมัติไม่ได้ เพราะมีการต่อสัญญาซ้ำหลายครั้ง อาจเข้าข่ายเสนอการกระทำความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พยายามไม่ให้เกิดการแข่งขันโดยสมบูรณ์ ผูกขาดด้วยผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากับ อสมท
นางอรวรรณ ชูดี ประธานสหภาพฯ อสมท. และคณะยื่นจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อขอให้ตรวจสอบการบริหารงานภายใน อสมท
นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บมจ. อสมท
บันทึกข้อความ ขออนุมัติดำเนินการเช่าระบบประชุมทางไกล Tele Presence ระยะเวลาเช่า 24 เดือน โดยวิธีพิเศษ ซึ่งสหภาพแรงงานฯ อสมท มองว่าไม่โปร่งใส
บันทึกข้อความ ถึงนายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. เพื่อขออนุมัติให้ประสานงานกับบริษัท ซีสโก้ ซีสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด นำระบบการประชุมทางไกล Tele Presence ด้วยวิธีพิเศษ มูลค่า 24 ล้านบาทมาใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น