xs
xsm
sm
md
lg

“เทพไท” หยัน “เจ๊มิ่ง” มือใหม่หัดขับ ลีลาติวเตอร์เหมาะบรรยายวิชาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทพไท เสนพงศ์
ปชป.ขอบคุณทุกเสียงหนุนผ่านงบกลางปี 54 สับฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ผู้แทนลงมติสนับสนุน หยันท่าที “มิ่งขัวญ” อภิปรายเหมือนติวเตอร์ชาเนล แขวะ “เหลิม” ท่วงท่าแบบเก่าเอาใจฮาร์ดคอร์ ย้ำ ปชป.ไม่คิด 4 สูตรจัดตั้งรัฐบาลเพราะไม่ถึงเวลา ชี้เป็นแนวคิดของนักวิเคราะห์การเมือง แนะทุกฝ่ายอย่ามองข้ามช็อตไปไกล เหตุยังไม่มีการกำหนดวันยุบสภาแน่นอน

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ว่า ต้องขอบคุณสำหรับคะแนนเสียงที่สนับสนุน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่การที่พรรคฝ่ายค้านไม่ได้ลงมติไม่เห็นด้วยนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่สนับสนุนในการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน และอยากให้ติดตามผู้ที่ไม่ได้ลงมตินั้นเป็นผู้แทนประชาชนหรือไม่ เพราะจะได้ตั้งคำถามว่ามีความคิดอย่างไรที่รัฐบาลจะนำเงินไปเยียวยา

นายเทพไทกล่าวว่า ส่วนการที่มีผู้งดออกเสียงนั้น ถือว่าเป็นมารยาททางการเมืองในการพิจารณากฎหมายสำคัญถือว่าพอรับได้ ซึ่งบรรยากาศการพิจารณาเมื่อวันที่16 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตถึงการช่วงชิงแกนนำในพรรคเพื่อไทยของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรค ที่พยายามแย่งซีนจากนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน ในฐานะผู้นำทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ถ้าดูการอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรูปแบบเดิมๆ ลีลาเร้าใจให้ประชาชนคอการเมืองลักษณะฮาร์ดคอร์สนใจ สำหรับลีลาของนายมิ่งขวัญนั้น หลายคงนึกถึงติวเตอร์แชลแนลของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น ตนอยากให้กำลังใจการทำหน้าที่ของนายมิ่งขวัญ ในฐานะนักการเมืองมือใหม่หัดขับ เพื่อปรับปรุงและไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วาง ซึ่งท่าดูจากแนวทางดังกล่าวค่อนข้างเรียบง่าย แต่เหมาะกับการอภิปรายในที่ประชุมมหาวิทยาลัยหรือมากกว่ารัฐสภา หากใช้สไตล์ดังกล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในส่วนของรัฐบาลก็พร้อมชี้แจง และง่ายต่อการตอบคำถาม

“ผมคิดว่าการอภิปรายไม่กระทบต่อกฎหมายหรือท่าทีรัฐบาล แต่เป็นการบอกนัยยะทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย คือ วัดความสามารถในการเป็นผู้นำของร.ต.อ.เฉลิม และนายมิ่งขวัญ ซึ่งเนื้อหาที่มีนั้นเป็นลักษณะไร้นำหนักที่ไม่แตกต่าง ดังนั้น ใครมีทีเด็ดมากกว่ากันไม่สามารถแยกได้” นายเทพไทกล่าว และว่า การลงมติของพรรคเพื่อไทยเมื่อวาน ก็บอกนัยยะทางการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ได้ชัดคือ ส.ส.กลุ่มนายมิ่งขวัญที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับงบกลาง ถึง 61 คน ส่วน ส.ส.ที่เห็นด้วยกับ ร.ต.อ.เฉลิมในการงดออกเสียง ถึง 90 คน แสดงให้เห็นว่าการวัดกำลังภายในพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนนายมิ่งขวัญ และ ร.ต.อ.เฉลิม ใครมากกว่ากัน และหลังจากนี้คงจะนำเรื่องดังกล่าวไปสรุปบทเรียน และนำไปปรับปรุงกาอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากยังปรับปรุงไม่ได้ คงใช้เวทีอภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลสัปดาห์หน้าอีกครั้ง

นายเทพไทกล่าวถึงกรณีการจัดตั้งสูตรรัฐบาล 4 สูตรนั้น ถือว่าเป็นคาดการณ์ทางการเมืองล่วงหน้าของนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่คิดเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต เพราะมีแนวคิดคือทำหน้าที่ของรัฐให้ดีที่สุด และยอมรับว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ยังเป็นบุคคลโดดเด่นที่สุดและยังไม่สามารถมีหัวหน้าพรรคการเมืองใดเสนอตัวแข่งได้อย่างชัดเจน เช่น พรรคเพื่อไทย ที่มีแคนดิเดตถึง 5คน คือ ร.ต.อ.เฉลิม นายมิ่งขวัญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรค พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งรายชื่อดังกล่าวไม่สามารถสู้พรรคประชาธิปัตย์ได้ ดังนั้น จึงไม่อย่าให้มองการเมืองข้ามช็อตไปไกล เพราะการยุบสภายังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน อีกทั้งอาจจะมีการพรรคการเมืองเข้ามาใหม่เป็นตัวแปรได้ เช่น ร.ต.อ.เฉลิมจะจับมือกับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคชาติไทย เป็นต้น

โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของ อ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง ที่เสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ และยังมีเวลาศึกษาเรื่องดังกล่าว และมองว่า 5 ข้อที่เสนอมานั้นยังไม่เห็นภาพรวม คือ 1.คะแนนสัดส่วนอันดับหนึ่งไม่ต้องโหวตในสภา เป็นเรืองใหม่และยากต่อปฏิบัติ ซึ่งอาจทำให้เสถียรภาพนายกฯ อ่อนไหว 2.ไม่มีสิทธิยุบสภานั้น หากเกิดความขัดแย้งของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ไม่มีการถ่วงดุลกัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางออกการแก้ปัญหาคืออะไร การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ 3.การแยกอำนาจชัดเจนของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะขัดต่อหลักปฏิบัติสากล เหมือนเป็นการเลือกประธานาธิบดีมากกว่า และไม่สอดรับกับระบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และทำให้ชาติถึงทางตัน และมีวงจรอุบาทว์เข้ามาแทรกแซง 4.ห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ส.ส.กับฝ่ายบริหาร และ 5.ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ซึ่งประวัติศาสตร์มีความล้มเหลวให้ ส.ส.เป็นอิสระ แม้ปัจจุบันกฎระเบียบพรรคก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ และอาจกลายเป็นการเมืองลักษณะโกลาหล ตลาดนัด ส.ส. ทำให้รัฐสภาอ่อนแอไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น