xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยตอบโต้เร็วเขมรโหมข่าว ตาย 7 เจ็บ 31 อพยพชาวบ้าน 1 หมื่นคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หน่วยสื่อและตอบโต้เร็วกัมพูชา แถลงข่าวความเสียหายจากการปะทะกับไทยเมื่อวันที่ 4-7 ก.พ. ระบุฝ่ายกัมพูชาตาย 7 ราย บาดเจ็บ 31 ราย ผู้คนต้องอพยพประมาณ 10,000 คน ชี้ฝ่ายไทยใช้ระเบิดพวง และระเบิดเคมี พุ่งเป้าพลเรือน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประตูปราสาทพระวิหารได้รับความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่และกระสุนปืน เรียกร้องความช่วยเหลือและการเข้าตรวจสอบจากยูเนสโก และทหารยูเอ็น

เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผยแพร่ข่าวระบุว่า หน่วยสื่อและตอบโต้เร็วสังกัดสำนักนายกกัมพูชา ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับความเสียหายของกัมพูชาที่ปะทะกับไทยเมื่อวันที่ 4-7 ก.พ.54 โดยนายทิธ สุเธีย อดีตสื่อสังกัดเสียงอเมริกา ในฐานะเจ้าหน้าที่หน่วยสื่อและตอบโต้เร็วในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชาภายใต้กำกับดูแลของนายสก อาน ลอกรายงานจดหมายของสก อาน ที่ส่งถึง UNDP ออกเป็นแถลงข่าวชี้แจงความเสียหายด้านต่างๆ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 ฟิฟทีนมูฟแปลเรียบเรียง ดังนี้

ประชาสัมพันธ์

ใน 4 วันของการโจมตีเกิดขึ้นซ้ำบนและรอบปราสาทพระวิหาร ระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2011 ปืนใหญ่ไทยและทหารราบได้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงและหลายอย่าง ดังอธิบายในรายละเอียดด้านล่าง สอดคล้องกับการใช้คำว่า “สงครามที่แท้จริง” โดยนายกรัฐมนตรี สมเด็จเดโช ฮุนเซน

แม้ว่าไม่มีการโจมตีหลักนับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ แต่ยังมีความเสี่ยงสูงว่าการอาจเกิดการโจมตีใหม่เกิดขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยยังคงเพิ่มกำลังพร้อม อาวุธอย่างต่อเนื่องตลอดแนวพรมแดน

ผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากการโจมตี

- ทหาร 4 นาย และตำรวจ 1 นาย เสียชีวิต
- ทหารได้รับบาดเจ็บ 30 นาย
- พลเรือน 2 คน เสียชีวิต
- พลเรือน 1 คน ได้รับบาดเจ็บ
- 2,956 ครอบครัวต้องทิ้งบ้านเรือนไปพักอาศัยในค่ายใน 3 อำเภอ
- มีประมาณ 10,000 คน กลายเป็นคนพลัดถิ่น รวมถึง 70% เป็นผู้หญิง 5% เป็นผู้สูงอายุ
- คนพลัดถิ่น 50 รายล้มป่วยหลังการโจมตี
- สถานีตำรวจ 2 แห่ง ถูกทำลาย
- บ้าน 3 หลังถูกทำลาย (ควรระลึกด้วยว่าบ้านเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของยูเนสโก ภายหลัง 317 ครัวเรือน ถูกบังคับย้ายถิ่นฐานจากการโจมตีของไทยเมื่อ เมษายน 2009)

มีความกังวลเป็นการเฉพาะ

การใช้อาวุธที่ไม่เป็นไปตามอนุสัญยาโดยทหารไทย รวมถึงระเบิดพวงและระเบิดเคมี
การปนเปื้อนของระเบิดพวง (M42 และ M46) เป็นวงกว้างในพื้นที่สวายจรุมในเขตอนุรักษ์และหมู่บ้านธรรมชาติที่เพิ่งตั้งใหม่ ห่างพรมแดน 20 กิโลเมตร ซึ่งผู้ถูกโยกย้ายนี้ เคยตั้งถิ่นฐานใกล้ปราสาทและย้ายถิ่นที่อยู่ในปี 2010 มีเป้าหมายอย่างชัดเจนต่อที่ตั้งพลเรือนและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ทหารไทย 4 นายซึ่งยอมแพ้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ในการปะทะกับกำลังทหารกัมพูชาในดินแดนกัมพูชา และถูกปล่อยตัวในวันถัดมา ทหารอีกนายถูกจับภายในเขตแดนกัมพูชาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ หลังจากประเทศไทยปฏิเสธในเบื้องต้นว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในมือกัมพูชา รัฐมนตรีกลาโหมได้ร้องขออย่างเป็นทางการให้ปล่อยตัวทหารที่ถูกจับเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ในงานฉลองหนึ่งในพนมเปญ ทหารที่ถูกจับตัวถูกส่งตัวคืนไปยังสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ โดยการเป็นสักขีพยานของสภากาชาด สากลและเจ้าหน้าที่ทหารประจำกัมพูชาของหลายประเทศ ทหารไทยเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม และด้วยความเคารพต่ออนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ในการปฏิบัติต่อเชลยสงคราม

ผลกระทบทางวัฒนธรรมจากการโจมตี

ในขณะเดียวกัน การโจมตีได้ทำให้เกิดความเสียหายดังนี้

ความเสียหายต่อโคปุระ (ประตู) ทั้งห้าของปราสาทพระวิหาร ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี ค.ศ. 2008 ความเสียหายบางส่วนประกอบด้วยความเสียหายต่อรูป สัญลักษณ์ของโคปุระที่ 1 และหนึ่งในเศียรนาคหล่นลงจากที่ตั้ง กระสุนปืนใหญ่หลายร้อยและกระสุนปืนหลายพันสร้างความเสียหายภายในตัวปราสาทหรือภายในขอบ เขตกำแพง อาจมีผลเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างและความมั่นคง

ความเสียหายต่อป้ายสัญลักษณ์ที่ปราสาทที่มีข้อความว่า “ทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรมภายใต้การคุ้มครองพิเศษ” (ตามข้อ 17 ของอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1954 ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีมีการสู้รบ)

ความเสียหายร้ายแรงต่อวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ซึ่งเป็นที่แรกที่ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้รับความเสียหายและมีการทำลายพระพุทธรูป รวมทั้งรูปเคารพทางศาสนาอื่น

รัฐบาลของราชอาณาจักรกัมพูชามีความกังวลอย่างจริงจังต่อผลกระทบทางมนุษยธรรมและวัฒนธรรมของสงครามที่แท้จริงนี้ และได้แสวงหาความช่วยเหลือจากนานาชาติ เพื่อยุติการรุกรานเช่นนั้น การจัดส่งคณะตรวจสอบของยูเนสโกและทูตพิเศษจากคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อตรวจสอบความเสียหายของปราสาทพระวิหาร เช่นเดียวกับการ ส่งคณะสังเกตการณ์ทางทหารของยูเอ็น

พนมเปญ, 12 กุมภาพันธ์ 2011

-----

นอกจากนี้ เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟได้เผยแพร่ข่าวระบุว่า สำนักข่าวต้นมะขาม และหนังสือพิมพ์กัมพูชาใหม่ รายงานสถานการณ์พรมแดนด้านพระวิหาร วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า ทหารไทยได้ส่งรถถังจำนวน 100 คัน พร้อมกำลังทหาร 20,000 นาย มายังพรมแดนด้านกัมพูชา ที่แนวพรมแดนพระวิหารที่จักจเรง ช่องคานม้า ภูมะเขือ ตาเส็ม ตาเฒ่าและสมบกขมม ซึ่งอยู่ตรงข้ามปราสาทพระวิหาร มีการวางกำลังทหารไทยประมาณ 1,000 นาย

กำลังทหารไทยที่ภูมะเขือเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ยิงระเบิดประมาณ 10 ลูกเข้าใส่กำลังทหารกัมพูชาเพื่อยุให้ปะทะ แต่กำลังทหารกัมพูชาไม่ตอบโต้

หนังสือพิมพ์กัมพูชาใหม่รายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. กำลังทหารไทยปาระเบิดมือ 15 ลูก หน้าสนามเพลาะของไทยที่ภูมะเขือเพื่อยั่วยุให้เกิดการต่อสู้กับทหารกัมพูชา ชาวกัมพูชาประมาณ 1,288 ครอบครัว รวมถึงครอบครัวตำรวจ 60 ครอบครัว ได้อพยพทิ้งบ้านเรือนจากแนวพรมแดนพระวิหารไปอาศัยในอำเภอกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไป 70 กิโลเมตร

ที่เกาะกงวันนี้ ประเทศไทยได้เสริมกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ใกล้แนวพรมแดนกัมพูชา ทำให้ประชาชนละทิ้งบ้านเรือนอพยพออกจากพื้นที่

กำลังโหลดความคิดเห็น