ผ่าประเด็นร้อน
ปมปัญหาสินค้าราคาแพง-ขาดตลาด เป็นอีกเรื่องหนึ่งกำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังกระหน่ำรัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากต้องจนมุมกับปัญหาเสียอธิปไตยให้กับกัมพูชา ล้มเหลวจากการปกป้องคนไทยที่ถูก “ลักพาตัว” ในดินแดนของประเทศตัวเอง
แม้ว่าหากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรมกรณีสินค้าราคาแพง เงินเฟ้อ จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายประเทศเกิดการประท้วงขับไล่รัฐบาล มีการจลาจลวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ แต่สำหรับประเทศไทยยังมีสูตรสำเร็จพ่วงเข้าไปด้วยนั่นคือ ผลประโยชน์ของนักการเมือง ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ที่ขูดรีด บนความเดือดร้อนของชาวบ้าน
นาทีนี้ขอแยกพิจารณาเฉพาะปัญหา “น้ำมันปาล์ม” ที่กำลังราคาแพงและขาดตลาดกันก่อน เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางการเมือง ของนักการเมือง โดยเฉพาะคนในรัฐบาล
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ได้อนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซียเข้ามาถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 3 หมื่นตัน ครั้งที่ 2 อนุมัติให้นำเข้าเพิ่มอีกจำนวน 1.2 แสนตัน โดยคาดว่าจะเริ่มนำเข้ามาในเดือนมีนาคมนี้เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มราคาแพง และขาดตลาด โดยน้ำมันปาล์มดังกล่าวที่นำเข้ามาครั้งแรก เริ่มนำมากลั่นทยอยนำมาระบายวางขายในตลาดบ้างแล้ว
อย่างไรก็ดี เวลานี้ปัญหาการขาดแคลน และราคาแพงยังไม่ทุเลา สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนกระทบกันเป็นลูกโซ่ เพราะนอกจากน้ำมันปาล์มจะเป็นต้นทุนในราคาสินค้าชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารทั่วไปแล้ว ยังเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นวัตถุดิบของสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นอื่นอีกหลายรายการ เช่น สบู่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูง ทำให้ต้องมีการปรับราคาสูงขึ้นตามมา และต่อไปเราอาจจะไม่ได้เห็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาถูก หรือเป็นอาหารในยามยากของคนไทยอีกต่อไปก็เป็นได้
หากพิจารณาตามโครงสร้างของน้ำมันปาล์มก็ต้องยอมรับว่าไม่สมดุลย์กันระหว่าง อุปสงค์ อุปทาน มีทั้งเรื่องปัญหาน้ำมันราคาแพง จนต้องมีนโยบายนำไปกลั่นเป็นไบโอดีเซลเพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเพื่อนำออกขายในรูปแบบ “ดีเซล” บีต่างๆ ตั้งแต่ บี 2 บี 3 จนถึง บี 5 วันละหลายแสนตัน ก็มีส่วนสำคัญทำให้น้ำมันปาล์มขาดตลาด ผสมโรงด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
แต่ในฐานะที่ไทยเริ่มเป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น แม้ว่าอาจยังน้อย เมื่อเทียบกับ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาก็ควบคู่กันไปด้วยก็คือสินค้าสำคัญทุกรายการจะต้องมีการ “สต๊อก” สำรองเอาไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลน ซึ่งกรณีของปาล์มน้ำมันจะสต็อกเอาไว้ในสถานการณ์ปกติจำนวนประมาณ 7.7 หมื่นตันต่อเดือน แต่ปริมาณการบริโภคมีประมาณ 1.2-1.5 แสนตันต่อเดือน ซึ่งรวมทั้งใช้บริโภคและนำไปใช้ไปผลิตไบโอดีเซลก่อนนำไปผสมน้ำมัน “บี” ชนิดต่างๆ อย่างไรก็ดี จากการเช็กสต๊อกล่าสุดเหลือแค่ประมาณ 3 หมื่นตันเท่านั้น ทำให้ต้องอนุมัตินำเข้าอีกประมาณ 3 หมื่นตัน เพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะต้องนำเข้าเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 5-6 หมื่นตัน เพื่อให้พอเพียงกับการบริโภคในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มี รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ได้อนุมัติให้นำเข้าเพิ่มอีกในล็อตที่ 2 จำนวน 1.2 แสนตัน ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาได้ในเดือนมีนาคม มันมี “วาระซ่อนเร้น” อะไรกันแน่ เพราะจากข้อมูลระบุว่า เป็นการนำเข้าที่มีปริมาณมากเกินไป ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นตันดังกล่าว เพราะหลังเดือนมีนาคมเป็นต้นไปปริมาณปาล์มสดก็ทยอยออกมาสู่ตลาดได้ตามปกติแล้ว
แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสังเกตและเป็นคำถามคาใจตามมาควบคู่กันมาก็คือ กรณีปาล์มน้ำมัน ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชการเมืองในภาคใต้ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด และเป็นข้อเท็จจริงอีกว่า มีนักการเมืองในพรรคระดับ “ขาใหญ่” เป็นเจ้าของสวนปาล์มและโรงงานน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะได้ประโยชน์อันมหาศาลจากทั้งจากการ “กักตุน” และได้ประโยชน์จากการ “นำเข้า” ในครั้งนี้ โดยอาศัยส่วนต่างด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในมาเลเซีย เป็นลักษณะที่ “รวยสองต่อ” แบบไป-กลับ
เพราะสิ่งที่ต้องพิจารณากันตามความเป็นจริงกันก็คือ ส่วนหนึ่งที่น้ำมันปาล์มขาดแคลนเป็นเพราะมีการกักตุนเก็งกำไร จากนั้นเมื่อมีการนำเข้าคนกลุ่มนี้ก็จะได้ประโยชน์จากกำไรส่วนต่างด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับราคาในมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีราคาต่ำกว่ามาก นอกจากนี้เมื่อมีการนำเข้าก็เชื่อว่าจะมีรายการ “สวมตอ” นั่นคือมีรายการ “นำเข้าแฝง” หรือนำเข้าเถื่อนพ่วงเข้ามาอีกจำนวนมาก โดยได้กำไรจากส่วนต่างจากราคาดังกล่าวรวยกันพุงปลิ้น ซึ่งฝ่ายที่ทำได้แบบนี้ก็ต้องเป็นคนในรัฐบาลเท่านั้น และถ้าหากให้ตั้งคำถามให้กระชับก็ต้องเป็นระดับ “ขาใหญ่” ในรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นถึงจะทำได้
คำถามที่ตามมาอีกก็คือ ทำไมถึงได้ “อำมหิต” นัก เพราะกรณีปาล์มน้ำมัน ถือว่าเกี่ยวข้องกับประชาชนหาเช้ากินค่ำส่วนใหญ่ เป็นวัตถุดิบและเป็นต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดความเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า แต่ขณะเดียวกันยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่หากินบนความทุกข์ยากของชาวบ้าน
แม้ว่านี่คือการกล่าวหาว่ามีคนในพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลประโยชน์จากการกักตุนและการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาในประเทศ รวมไปถึงการได้ประโยชน์จากการ “สวมตอ” จากโควตาน้ำเข้า นั่นคือมีการนำเข้าเถื่อนตามแนวชายแดน เนื่องจากได้กำไรจากส่วนต่างราคาที่มีราคาสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับราคาต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ดังนั้นสิ่งที่ปรากฎย่อมสะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนื้ทำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งการหากำไรบนความเดือดร้อนของชาวบ้าน เหมือนกับว่าเร่ง “หาทุน” เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง ทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบและกลับมามีอำนาจ อย่างนี้หรือ “ประชาชนต้องมาก่อน” !!