“มาร์ค” ชี้ โจทย์ใหญ่ดับไฟใต้ยังไม่พอใจ ยืนยันนโยบายเอาชนะความไม่ยุติธรรม-การพัฒนา ลั่นไม่ได้ดูจากสถิติการก่อเหตุที่ลดลง ชี้ ระหว่างทางเกิดปัญหาเราต้องไขว้เขว และไม่ตกเป็นเหยื่อ ของพวกยั่วยุ ลั่นโลกควรรู้ไทยไม่เคยข่มเหงกดขี่พี่น้องมุสลิมในไทย ยันรัฐให้สิทธิเสรีภาพไม่เลือกว่านับถือศาสนาไหน ดักคอประชาคมโลกไม่หลงทางให้ความชอบธรรมกับคนที่ใช้ความรุนแรง
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในเวทีสัมมนา “เหลียวหลังแลหน้าการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการเร่งรัดประเมินผลการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อนที่ต้องติดตามการทำงานและการแก้ไขอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลไม่คิดเอาชนะใคร แต่คิดเอาชนะ 2 อย่าง คือความไม่ยุติธรรมและความด้อยโอกาสความยากจนในพื้นที่ เพราะรู้ว่าที่สุดแล้วความสงบความสันติสุขจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความพึงพอ ใจของประชาชนในการได้รับโอกาสและความเป็นธรรม ส่วนจะใช้คำว่าการเมืองนำการทหาร หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ก็ต้องมีกระบวนการขั้น ตอนกลไกที่จะผลักดันเป็นรูปธรรม แต่ทั้งนี้การทำงานแก้ไขปัญหาต้องอยู่กับความเป็นจริง เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะประเมินสถานการณ์ผิดและกำหนดแนวทางที่เป็นรูปธรรมไม่ถูกต้อง
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนฟันธงตั้งแต่แรกว่าในเชิงของการพัฒนาการสร้างโอกาสตนมองว่า 2 ปีที่ผ่านมาเราทำงานคืบหน้าไปมาก แต่เรื่องความยุติธรรมยังมีปัญหา และที่บอกว่าอยู่กับความเป็นจริง เพราะส่วนใหญ่เวลาที่เขาดูถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาจะดูสถิติความรุนแรง แต่ถ้านับสถิติในรอบ 2 ปี ถือว่าแนวโน้มลดลง แต่ลดลงช้า และโอกาสลดลงกว่านี้เป็นไปได้ยาก แต่การแก้ปัญหาหยุดกับที่ไม่ได้ แม้บางเรื่องที่ทำมาเป็นความสำเร็จแล้ว นอกจากนี้ มีการพูดให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น รัฐบาลเอาเงินไปแก้ปัญหาแล้วจะสำเร็จ ก็มีการพูดถึงงบพัฒนา 3 ปี 6 หมื่นล้านหรือมากกว่านั้น แต่หัวใจของการทำงานด้านการพัฒนาไม่ใช่เรื่องของปริมาณเงิน แต่เมื่องบลงไปแล้วตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่ ซึ่งสองปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกฯได้กล่าวถึงโครงการของรัฐ ว่า ทำเป็นลักษณะล่างขึ้นบนไม่ใช่บนลงล่าง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงสะท้อนมาว่าหากโครงการเดินไปด้วยดีฝ่ายความมั่นคงก็จะได้รับความร่วมมือ แต่ยอมรับว่า บางพื้นที่ยังไม่สำเร็จ และเมื่อไม่สำเร็จความรุนแรงก็ยังมีอยู่ ส่วนพื้นที่ใดสำเร็จผู้ก่อเหตุก็จะเปลี่ยนแนวคือก่อเหตุไม่ถี่แต่รุนแรงและโจมตีเป้าที่เป็นจุดอ่อนเพื่อนครู
ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องรูปแบบการปรับปรุงโครงสร้างการกระจายอำนาจเป็นเขตพิเศษนั้น นายกฯ กล่าวว่า ถ้าอยากมีรูปแบบพิเศษอีกก็ไม่มีปัญหา แต่ขอให้อยู่ในรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องยึดรูปแบบของกทม.และพัทยาเป็นต้นแบบ โดยอาจจะมีลักษณะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ก็รับหน้าที่ดูแลเรื่องนี้
ส่วนปัญหาเรื่องความยุติธรรม นายกฯ กล่าวว่า ต้องบอกว่า หลายส่วนในต่างประเทศยังเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น เรื่องเสรีภาพที่เราให้กับคนของเราในการนับถือศาสนา การใช้ชีวิตตามความเชื่อ ประเพณีของเขา ทั้งนี้ ตนต้องขออภัย บางครั้งชาวยุโรป มองว่า ไทยข่มเหงกดขี่พี่น้องมุสลิม แต่เราไม่เคยห้ามสตรีใช้ผ้าคลุมหน้า เราไม่ได้ห้ามก่อสร้างมัสยิดเหมือนบางประเทศในยุโรป แต่นี่เป็นความจริงที่ชาวโลกควรรู้ และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมอิสลามศึกษาที่ มอ.ปัตตานี ซึ่งหลายคนที่มาทึ่ง เพราะเคยได้ยินว่าประเทศไทยข่มเหงกดขี่ ไม่เคารพไม่สนับสนุนอิสลามศึกษา แต่ตรงกันข้ามเรามีการส่งเสริมจนมีการประชุมระดับนานาชาติได้แล้วและอาจจะ เกิดขึ้นทุกสองปี ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นคำตอบในที่สุด เพราะการเคารพสิทธิเสรีภาพเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหา บางครั้งเราพูดน้อยไป
“เพราะจริงๆ แล้ว เวลาเรานำชาวต่างประเทศไปดูในพื้นที่ก็ไม่ตรงกับที่เขาเข้าใจจากการอ่านใน นสพ.เพราะสื่อนั้นอะไรที่เป็นปกติก็ไม่เป็นข่าว แต่พอรุนแรงก็เป็นข่าว คนก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องความรุนแรง แต่ต้องคอยเตือนว่าข้อเท็จจริงไม่ได้อยู่ในพาดหัวข่าวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งฝ่ายที่เขาไม่อยากให้สงบก็จะสร้างหัวข่าว ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อแนวร่วมประชาคมโลกในการกดดันประเทศไทยได้” นายกฯ กล่าว แต่ปัญหาเรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข
จากนั้น นายกฯ กล่าวถึงแนวทางการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ ว่า เราเห็นใจผู้ปฏิบัติที่เขาเคยมีกฎหมายที่เป็นเครื่องมือ ที่ย่อมวิตกว่าเมื่อยกเลิกอำนาจแล้วจะสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมั่นคงแค่ไหน แต่ฝ่ายความมั่นคงให้ความร่วมมือที่จะเดินตามแนวทางนี้ และไม่ได้ลังเลว่าเป็นแนวทางที่ผิดแต่อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป แต่ตนก็บอกว่าสมเหตุสมผล แต่ก็มีประชาชนที่บอกว่ากฎหมายพิเศษช่วยดูแลเขาได้ แต่ทั้งนี้ถ้าเราไม่ระวังก็สร้างความขัดแย้งได้ ดังนั้นเราต้องเดินไปอย่างแน่วแน่มั่นคงไม่หวั่นไหว
นอกจากนี้ นายกฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในคืนที่มีการโจมตีฐานของทหารที่อำเภอระแงะ จ.นราธิวาส บอกได้เลยว่าฝ่ายการเมืองก็มาถามกับตนว่าฝ่ายความมั่นคงจะหวั่นไหวมั้ย จะคิดตอบโต้ในลักษณะที่ย้อนกลับไปแบบเดิมๆหรือไม่ ก็มีการแสดงความวิตกกังวล
“แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.โทรศัพท์มารายงานเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว บอกว่า แนวทางที่จะปรับกำลังพลว่าเป็นอย่างไร เสร็จแล้วท่านพูดเองโดยทีผมไม่ได้ถาม ท่านบอกว่าท่านนายกครับไม่ต้องห่วงว่าพวกผมจะตกเป็นเหยื่อของพวกที่ยั่วยุ ผมยืนยันว่า พวกเราจะเดินตามแนวทางของรัฐบาลแน่นอน ท่านพูดเองนะครับผมไม่ได้ถาม ฉะนั้น ถือว่าเราเดินมาไกลพอสมควร แต่คนเกี่ยวข้องเรื่องนี้มีจำนวนมาก ผมไม่กล้ารับประกันหรอกว่าเข้าใจผมหมด ก็อาจจะมีหลุดก็ต้องยอมรับ แต่เราต้องไม่เป็นอย่างนั้น เพราะนี่คือทิศทางและนโยบาย ระหว่างทางเกิดปัญหาเราต้องช่วยกันไม่ให้แนวทางไขว้เขวและไม่ตกเป็นเหยื่อ ของพวกยั่วยุ ดังนั้นต้องช่วยกันเพื่อสร้างกระแสความเข้าใจเพื่อให้เดินได้อย่างมั่นใจ” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวยอมรับว่า จุดที่เป็นปัญหามากคือคดีความที่มีความเกี่ยวข้องว่าเจ้าหน้าที่อาจจะเกี่ยวข้อง ซึ่งอันนี้คือโจทย์ใหญ่ แต่ต้องเรียนให้ทราบว่าเราติดตามค่อนข้างใกล้ชิด และบางครั้งต้องทำความเข้าใจ เพราะตามระบบของเรา เวลาคดีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่กระบวนการจะแตกต่างออกไป แต่นี่ยังเป็นปัญหาแต่ตนติดตามตลอด
ทั้งนี้ นายกฯ ยกตัวอย่างกรณีมัสยิดไอปาแย ที่ชาวบ้านบอกว่า เป็นฝีมือฝ่ายรัฐ ที่ต้องระวังการให้สัมภาษณ์ เพราะเราต้องการค้นหาคนที่ทำความผิดจริงและต่อมามีการออกหมายจับซึ่งไม่มี ลักษณะที่ว่าคนในพื้นที่บอกว่าจับแพะ ส่วนการพบศพคนผูกคอตายในเรือนจำในที่ควบคุมหรือห้องขังก็ยอมรับว่าเป็น เรื่องยากเพราะไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ทางหนึ่งทางใด และความเชื่อของประชาชนที่ต่างจากรายงานที่เป็นทางการ ซึ่งจะต้องติดตามแม้เป็นเรื่องยาก แต่เป็นบทพิสูจน์เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
“ถ้าย้อนหลังไปหมดทุกเหตุการณ์คงเป็นเรื่องที่ยาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้เป็นความรับผิดชอบที่จะติดตามให้ถึงที่สุดและจะทำให้สำเร็จ ที่ผมฟันธงว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจนี่คือโจทย์ใหญ่ที่เราต้องทำต่อไป” นายกฯ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางทั้งหมด คือ รูปธรรมที่จะผลักดัน และมายืนยันว่า มีหลายเรื่องที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาแต่ยังไม่น่าพอใจและต้องทำต่อไป และบางเรื่องการทำงานก็ต้องทำอีกเยอะจึงจะได้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แต่สิ่งท้าทายวันนี้คือเราต้องทำให้สังคมมีความหนักแน่นที่เราจะเดินอย่าง ต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่วกกลับจุดเดิมเพราะแนวทางที่เขาจะเปลี่ยนรูปแบบความรุนแรงก็หวังจะใช้ประชาคมโลกเข้ามา
“ผมก็มีหน้าที่รัฐบาลก็มีหน้าที่ไปทำความเข้าใจ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยเดินหน้าสร้างโอกาสความเป็นธรรมให้คนในพื้นที่ทุกคน เราเข้าใจความห่วงใยของประชาคมโลก แต่ที่เราหวังอย่างยิ่ง คือ ประชาคมโลกไม่หลงทางกับผู้ใช้ความรุนแรง เพราะในที่สุดในวันนี้เหมือนหลายเรื่องที่ปรากฏในโลก ถ้าจะมีการต่อสู้ ก็คือ กับฝ่ายที่ต้องการเห็นการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของกฎหมาย และการพัฒนากับอีกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง วันนี้ต้องทำให้เห็นว่าการต่อสู้เป็นอย่างนี้ เราต้องทำให้คนส่วนนี้หายไป ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือกำหนดประเด็นในการแก้ไขปัญหา ต้องทำให้ผู้ที่เชื่อกระบวนการยุติธรรม การพัฒนา เป็นผู้กำหนดทิศทางอนาคตของประชาชน ถ้าทำได้มั่นใจว่าปัญหาจะแก้ไขได้แม้ใช้เวลาพอสมควร” นายกฯ กล่าว
จากนั้นเวลา 13.30 น.นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการผู้บริหารมัสยิดอาเซียน ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก ว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาสำคัญของโลกซึ่งในประเทศไทยมีชาวมุสลิมจำนวน โดยประเทศไทยให้ความสำคัญ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายเพื่อทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ระหว่างไทย-พุทธ และไทย-มุสลิม มาตลอดระยะเวลายาวนาน ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมความเข้าใจของสังคมโดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา ทังนี้ ในปี 2558 จะเป็นประชาคมอาเซียน จะทำให้ประชาชนอาเซียนมีความใกล้ชิดเป็นหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น และประชาชนชาวมุสลิมจะพบกันมากขึ้น จึงหวังว่า สถาบันมัสยิดที่มีหน้าที่ให้ความรู้อบรมจะช่วยเสริมสร้างบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ด้วย