โฆษกเพื่อไทยปฏิเสธข่าวสามาชิกเตรียมตบเท้าลาออกจากพรรค ท้าให้ยุบสภาพิสูจน์ ฟุ้งเตรียมผู้สมัครไว้ครบทุกเขตแล้ว ปูดซ้ำ พลเอก “ด.-ป.” จ้องปฏิวัติ ชี้สถานการณ์ตึงเครียดชายแดนเขมร เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การทำรัฐประหาร
วันนี้ (30 ม.ค.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเตรียมย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นหลังรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยแตกตามที่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวอ้าง รวมถึง ส.ส.นครราชสีมา ที่มีข่าวว่าจะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งจากการสอบถาม ส.ส.ในพื้นที่ก็ยืนยันว่าไม่มีการย้ายพรรคแต่อย่างใด โฆษกพรรคเพื่อไทยจึงมองว่าการให้ข่าวดังกล่าวเป็นการเบี่ยงเบนทางการเมือง ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการล็อบบี้ และการจัดทำงานประมาณกลางปีที่มีนัยแอบแฝง ดังนั้น ในวาระ 3 ที่เป็นการลงมติรายบุคคล เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ส.ส.หรือ ส.ว.คนใดบ้างที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
นอกจากนี้ โฆษพรรคเพื่อไทยยังท้าให้รัฐบาลประกาศยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่แตก และพรรคเพื่อไทยพร้อมลงเลือกตั้งไม่ว่าจะมีการแก้เขตเลือกตั้งเป็นรูปแบบใด ซึ่งขณะนี้พรรคได้เตรียมผู้สมัครไว้ครบทุกเขตทั่วประเทศแล้ว
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยได้รับนอกจากจะมีพลเอก อักษรย่อ ด.ที่เตรียมการปฏิวัติแล้วยังมี พลเอกอักษรย่อ ป.อีกด้วย ซึ่งไปสอดคล้องกับการให้ข่าวของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารประธานเตรียมทหารรุ่นที่ 1 และอดีตนายทหารที่เคยร่วมปฏิวัติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 ที่ระบุว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยอ้างการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการตัดสินคดี 2 คนไทยของศาลกัมพูชา ขณะเดียวกันก็พบว่าตามแนวชายแดนขณะนี้มีการฝึกซ้อมรบ และมีการเคลื่อนกำลังพลประชิดแนวชายแดนทำให้สถานการณ์มีความตึงเครียด ซึ่งจะทำให้นำสถานการณ์ทั้งหมดนี้ไปเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ดังนั้นจึงขอเตือนให้รัฐบาลหามาตรการป้องกันเพราะอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว โดยเฉพาะสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย พร้อมแนะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หลังกลับจากเมืองดาวอาส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้ไปคุยกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อลดชนวนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง