อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
แม้ 5 คนไทย รวม “ส.ส.พนิช” จะรอดพ้นจากคุกเขมรกลับไทยแล้ว แต่ยังต้องลุ้นชะตากรรมของอีก 2 คนไทยที่เหลือ(วีระ-ราตรี) ว่าศาลกัมพูชาจะพิพากษาอย่างไรในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ขณะที่ “พนิช วิกิตเศรษฐ์” เอง แม้ได้รับอิสรภาพกลับคืน แต่การถูกคุมขังในคุกเขมรและถูกศาลเขมรพิพากษาจำคุก โดยรอลงอาญา ก็อาจนำปัญหามาสู่ตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในอนาคตอันใกล้ได้เช่นกัน เพราะ รธน. ห้าม ส.ส.ต้องคำพิพากษาจำคุก ลองไปฟังมุมมองของนักกฎหมายและอดีต ส.ส.ร.ต่อประเด็นนี้กัน รวมทั้งวิเคราะห์วาทะของนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ว่า “คำพิพากษาของศาลเขมร ไม่ผูกพันเรื่องเขตแดน” เป็นสิ่งที่ฟังได้หรือไม่?
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
น่าเห็นใจนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์อยู่พอสมควร เพราะแม้จะรอดพ้นคุกของกัมพูชามาได้ในสภาพที่โดนแมลงสาบกัดหัวจนต้องโกนผมทิ้งแล้ว ตอนนี้ยังต้องมาลุ้นอนาคตทางการเมืองของตัวเองต่ออีกว่า ที่สุดแล้ว จะต้องหลุดจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หรือไม่ หลังถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 9 เดือน ในความผิดฐานลักลอบเข้าเมือง และลักลอบเข้าพื้นที่ทางทหารของกัมพูชาโดยไม่ได้รับอนุญาต
แม้ในข้อเท็จจริง คนไทยที่รักชาติจำนวนไม่น้อยจะยืนยันว่านายพนิชและคณะทั้ง 7 ไม่ได้รุกล้ำดินแดนเขมร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่บุคคลในรัฐบาลหลายคนช่วยกันย้ำแล้วย้ำอีกว่า 7 คนไทยรุกดินแดนเขมรจริง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลไทยได้ช่วยเขมรเอาผิดคนไทยด้วยกันเองจนดิ้นไม่หลุด ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
กล่าวเฉพาะนายพนิชกับตำแหน่งทางการเมือง เพราะหลายฝ่ายสงสัยกันมากว่าการที่นายพนิชถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 9 เดือน ซึ่งแม้จะรอลงอาญา(ยังไม่รวมว่าในทางปฏิบัตินายพนิชก็ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลา 1 เดือน) ถือว่านายพนิชต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) และ (11) ระบุว่า สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุด แม้จะรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือเป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วว่า รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ครอบคลุมถึงคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศด้วยหรือไม่ โดยให้เวลาอนุกรรมการ 30 วัน หากที่สุดแล้ว กกต.เห็นว่านายพนิชต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส. กกต.ก็จะส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ลองมาฟังมุมมองของนักกฎหมายและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) 2550 ต่อประเด็นดังกล่าวกัน เผื่อจะช่วยไขข้องใจได้บ้าง
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า นายพนิชยังไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเฉพาะศาลที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของประเทศไทย หากเป็นศาลในต่างประเทศ ต้องดูว่า ประเทศนั้นมีข้อตกลงรับรองคำพิพากษากับไทยหรือไม่
“รัฐธรรมนูญมันมีผลเฉพาะในเขตอำนาจรัฐของไทย รัฐธรรมนูญไทยย่อมไม่สามารถไปใช้ในประเทศอเมริกาได้ มันไม่คุ้มครองสิทธิไปถึง และไม่ไปทำให้เสียผลไปถึงรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ เว้นเสียแต่ว่ามันมีกฎหมายรับรองคำพิพากษาของศาล ในกรณีเช่นนั้น กฎหมายไทยถึงจะยอมรับเอาคำพิพากษาของศาลหรือผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีผลเสมือนคำพิพากษาของศาลไทย”
“(ถาม-สมมติว่า ถ้า ส.ส.ของไทยไปค้ายาเสพติดไปถูกจับ เป็นคดีขึ้นศาลที่ต่างประเทศหรือไปฆ่าคนที่ต่างประเทศก็ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของไทย?) มันขึ้นอยู่กับว่าในเวลาที่ถูกศาลต่างประเทศพิพากษา อันที่ 1.นะ มันเป็นความผิดตามกฎหมายไทยมั้ย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คนไทยไปฆ่าคนไทยในต่างประเทศ เราถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายไทยด้วย และอาจจะถูกลงโทษตามกฎหมายไทยได้ ทีนี้สมมติว่าเขาได้ถูกลงโทษโดยคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศและมีข้อตกลงว่าให้มารับโทษในประเทศไทย กรณีนี้มันจะต้องมีข้อตกลงเป็นสนธิสัญญาให้นักโทษมารับโทษในประเทศของตนได้ เพราะศาลตัดสินแล้ว คุกเนี่ยมันคุณภาพไม่เท่ากัน ประเทศที่เจริญแล้วก็อยากให้คนของตนที่ไปทำความผิดในต่างประเทศ ซึ่งเขาเชื่อในบรรทัดฐานของศาลมารับโทษในประเทศของเขา อันนี้มันจะมีข้อตกลงระหว่างประเทศ ขึ้นอยู่ว่าไทยเรามีข้อตกลงกับประเทศนั้นๆ หรือไม่ ในกรณีเช่นนั้นเราถึงจะยอมรับได้ว่าคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีค่าเทียบเท่ากับคำพิพากษาของศาลไทย ...หลักมันจะมีอยู่ว่า หลักที่ 1 ก่อน คือหลักอธิปไตย อธิปไตยของใครก็ของคนนั้น แต่หลักข้อยกเว้นอธิปไตยคือ มีข้อตกลงได้ ข้อตกลงนี่คือ 1.ยอมรับความผิดของกันและกัน และยอมรับคำพิพากษาของกันและกัน และยอมรับให้ลงโทษในประเทศใดประเทศหนึ่งได้ มีค่าเท่ากัน ซึ่งพวกนี้ก็จะมีปัญหาต่อไปอีก เพราะรัฐลงโทษ เขาอาจจะให้อภัยโทษ หรือลดโทษได้อีก เพราะฉะนั้นมันจึงต้องรับรองคำพิพากษากันมาตั้งแต่ต้น ซึ่งโดยทั่วไปมันจะต้องมีข้อตกลงว่าด้วยการรับรองคำพิพากษาระหว่างกัน”
ด้านนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีต ส.ส.ร.2550 และสื่อมวลชนอิสระ มองว่ากรณีของนายพนิช ขึ้นอยู่ว่าจะตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแบบเคร่งครัดหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่า ควรตีความอย่างเคร่งครัด นั่นหมายถึง นายพนิชขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.แล้ว
“กฎหมายรัฐธรรมนูญมีมาตราหนึ่งบัญญัติไว้ เรื่องคุณสมบัติ ส.ส.ว่า ถ้าหากถูกต้องโทษจำคุก อันนี้จะขาดคุณสมบัติ ซึ่งในกรณีของคุณพนิช ก็มีการตัดสินโดยศาลกัมพูชาลงโทษจำคุก 9 เดือน แต่ให้รอลงอาญา แต่มันมีปัญหาในทางปฏิบัติก็คือ เขาได้นำตัวคุณพนิช วิกิตเศรษฐ์ เข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลาหนึ่ง อันนี้ก็ถ้าว่าไป มันตีความได้ 2 สถาน 1.ถ้าตีโดยเคร่งครัด ก็ถือว่าคุณพนิชได้ถูกจำคุกไปแล้ว อันนี้ก็จะถือว่าคุณสมบัติขาดไป แต่ถ้าตีอีกสถานหนึ่ง คือเขาถูกตัดสินโดยรอลงอาญา อันนี้ก็ถือว่ายังไม่ถือว่าถูกจำคุก พ้อยท์มันก็อยู่ตรงที่ว่า จำขังไประยะเวลาหนึ่งนั้น ถือว่าเขาถูกจำคุกหรือไม่ ซึ่งตรงนี้มันก็ยังถกเถียงได้ แต่ถ้าความเห็นส่วนตัวผมเลยนะ การที่ถูกจำขังไปแล้วเนี่ย ถ้าตีความโดยเคร่งครัด ก็ถือว่าต้องขาดคุณสมบัติ (ถาม-รัฐธรรมนูญครอบคลุมไปถึงศาลต่างประเทศด้วย?) ตรงนี้ก็มีการถกเถียงกันอยู่นะว่า ออกคำสั่งให้จำคุกหรือจำขังโดยศาลเนี่ย เขาไม่ได้ระบุว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ถ้าดูตามตัวลายลักษณ์อักษร เขาไม่ได้ระบุ ซึ่งอันนี้มันก็ตีความได้อย่างที่ผมเรียน ตีความโดยเคร่งครัด ก็ถือว่าไม่ว่าศาลในประเทศหรือต่างประเทศ ก็ถ้ามีคำสั่งออกมา ก็ต้องถือว่าเป็นคำสั่งของศาล แต่ถ้าจะตีความแบบหัวหมอว่าเป็นศาลในประเทศเท่านั้น อันนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าถามส่วนตัวผม ศาลต่างประเทศก็ถือว่ารวมอยู่ด้วย”
ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลยอมรับคำพิพากษาของศาลกัมพูชาที่ตัดสินจำคุกคนไทยฐานรุกล้ำดินแดน เท่ากับรัฐบาลยอมรับว่าจุดที่ 7 คนไทยถูกจับเป็นอาณาเขตของกัมพูชา ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นดินแดนของไทย หรือเป็นดินแดนทับซ้อนที่ยังมีข้อพิพาทไม่สามารถตกลงกันได้ แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กลับยืนยันว่า คำพิพากษาของศาลกัมพูชาไม่ผูกพันเรื่องเขตแดนนั้น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า คำพิพากษาของศาลกัมพูชาส่งผลกระทบต่อไทยแน่นอน เพราะการที่รัฐบาลไทยยอมให้ศาลกัมพูชาตัดสิน 7 คนไทย เท่ากับยอมรับในอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชา ซึ่งหากรัฐบาลไม่ปฏิเสธ กัมพูชาก็สามารถนำประเด็นนี้ไปอ้างเพื่อประโยชน์ของตนได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องแสดงท่าทีว่า รัฐบาลเคารพในอำนาจศาลของกัมพูชาว่ามีอิสระในการพิจารณาคดี โดยรัฐบาลไทยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ต้องยืนยันว่า กรณี 7 คนไทย ศาลกัมพูชากระทำเกินอำนาจ
ขณะที่นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีต ส.ส.ร.2550 และสื่อมวลชนอิสระ ก็มองว่า คำพิพากษาของศาลกัมพูชาที่ตัดสินจำคุก 5 คนไทยฐานรุกล้ำดินแดน มีผลต่อเขตแดนของไทยแน่นอน เพราะรัฐบาลไปยอมรับคำพิพากษาดังกล่าว หากรัฐบาลไม่ยอมต้องประกาศตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่ยอมรับและไม่ให้ 7 คนไทยขึ้นศาลเขมร เหมือนกรณีที่จีนกับญี่ปุ่นมีความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะเตียวหยู หรือหมู่เกาะเซนกากุ ที่กัปตันและลูกเรือจีนถูกทางการญี่ปุ่นจับตัวไป ครั้งนั้น จีนได้ประกาศทันทีว่าไม่ให้ขึ้นศาลญี่ปุ่น เพราะจีนไม่รับรองบูรณภาพเหนือดินแดนของรัฐบาลญี่ปุ่นและศาลญี่ปุ่น แต่การที่รัฐบาลไทยนอกจากไม่ได้ประกาศว่าไม่ยอมรับแล้ว ยังเร่งให้ศาลกัมพูชารีบตัดสินคดี 7 คนไทยเร็วๆ อีกด้วย ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลไทยยอมรับบูรณภาพเหนือดินแดนของรัฐบาลและศาลเขมร!!