กรรมการสิทธิฯถก “เมา-ง่วง-ซิ่ง—โทร.แล้วขับ” ยกเคส โทลล์เวลย์ 9 ศพเป็นบทเรียน “ปริญญา” ระบุ คนขับรถทำผิดมักใช้เส้น-อิทธิพล รอดพ้นกฎหมาย แนะใช้ กม.เข้มงวด พร้อมปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย เสนอ ก.คมนาคม ใช้รถบัสขนาดกลาง แทนรถตู้รับผู้โดยสาร
วันนี้ (27 ม.ค.) คณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่มี นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นประธาน ได้จัดสัมมนา เรื่อง “เมา-ง่วง-ซิ่ง—โทร.แล้วขับ มหันตภัยการละเมิดสิทธิ” โดยก่อนการสัมมนา นายธนพันธ์ ประธานเครือข่ายเมาแล้วขับได้ยื่นหนังสือต่อ กสม.ผ่านทาง นพ.แท้จริง เพื่อเรียกร้อง ให้ กสม.ถือเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครอง และขอให้ กสม.ตรวจสอบติดตามการดำเนินการของรัฐในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ตลอดจนการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ส่งผลให้ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิไม่ได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างที่ควรจะเป็น
นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว ข่าว 3 มิติ กล่าวว่า กรณีอุบัติเหตุบนโทลล์เวย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ราย ปรากฏว่า ในโลกไซเบอร์มีการแสดงความเห็นตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมสื่อไม่เสนอข่าว ข้อเท็จจริงคือ การนำเสนอข่าวมีข้อจำกัดทางกฎหมาย เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน จึงไม่สามารถนำเสนอชื่อได้ ซึ่งก็เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับข่าวเยาวชนอื่นๆ ประกอบกับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ไม่สามารถทำอะไรอีก เนื่องจากจะกระทบต่อการพิจารณาคดี ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของสื่อ คือ การนำเสนอข่าว ไม่ได้เห็นใจผู้กระทำผิด แต่ต้องเคารพสิทธิของผู้ที่เป็นข่าวด้วย
นายธนพล ทายะติ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณี 9 ศพ ซึ่งเป็นคนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 คน นักศึกษาส่วนใหญ่ตั้งคำถาม เพื่อหาความจริง และเกรงว่า คดีจะเงียบ ทางองค์การนักศึกษาพยายาม ร่วมกับ TU accidents watch ตั้งกลุ่มใน face book เพื่อรวบรวมข้อมูล ซึ่งขณะนี้มีหลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ เช่น การมีผู้สนับสนุนสติกเกอร์ โปรดคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อเป็นการรณรงค์ ให้ขับขี่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แค่นี้ไม่เพียงพอจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และตัวผู้ขับขี่เองก็จะต้องมีความรับผิดชอบในการขับขี่รถ ที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิ เสรีภาพ ใครจะทำให้เราเสียชีวิต หรือเสียหายไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทหรือไม่ก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางด่วนโทลล์เวย์ สร้างความสูญเสียมากมาย ซึ่งผู้ที่ก่อเหตุเป็นเยาวชนที่ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ทั้งที่การขับรถต้องมีใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนของการใช้บังคับใช้กฎหมาย เพราะการขับขี่รถจะต้องผ่านการทดสอบเพื่อให้รู้จักกฎจราจร และการขับขี่ที่ถูกต้อง ถึงจะได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ แต่ในประเทศไทยการขับรถไม่มีใบขับขี่ถือเป็นปกติ บางคนมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อใบขับขี่ อายุ 15-17 ปี ก็มาขับรถ ทั้งๆ ที่ไม่ความรู้เรื่องกฎจราจร นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่เข้มงวด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ บางครั้งก็ลำบากใจ เช่น มีคนขับรถผิดกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกก็จะมีการแสดงนามบัตร ใช้อิทธิพล หรือจ่ายเงินเพียง 100 บาท เพื่อให้ปล่อย เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดก็ไม่ได้ แต่เป็นเพราะสังคมไทยชอบใช้สิ่งเหล่านี้ แนวทางแก้ไขคงไม่ใช่แค่การใช้กฎหมาย หรืออาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดการจับกุมเท่านั้น แต่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก หรือกฎหมายอย่างเคร่งครัด เชื่อว่า อุบัติเหตุทางถนนจะน้อยลง
“ในกรณีของเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี กระทำความผิดขับขี่รถยนต์ กฎหมายจะลดโทษให้เยาวชน แต่พ่อแม่ก็จะมีความผิดไปด้วย เพราะพ่อแม่รู้ว่า ลูกไม่มีใบขับขี่ และอายุไม่ถึง 18 ปี รวมไปถึงเจ้าของรถที่ให้ยืมรถ ก็มีความผิดเช่นกัน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ทาง ม.ธรรมศาสตร์ จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป กรณีดังกล่าวนี้ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วแต่ไม่ต้องการให้ผู้กระทำผิดติดคุก แต่อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาท ผู้กระทำผิดจึงต้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผมหวังว่า ความสูญเสียในครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย” นายปริญญา กล่า ว
นายปริญญา กล่าวว่า ขอเสนอว่า กระทรวงคมนาคมน่าจะใช้โอกาสนี้ปฏิรูปขนส่งมวลโดยสารรถตู้ เพราะมีประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น และเห็นว่า มีข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้มาโดยตลอด เนื่องจากรถตู้ไม่เหมาะสมกับการโดยสารคนกว่า 10 คน ในประเทศแถบยุโรปใช้รถบัสขนาดกลางเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความปลอดภัย ซึ่งกระทรวงคมนาคมควรต้องดำเนินการอย่างจริงจัง