xs
xsm
sm
md
lg

ทองใบ ทองเปาด์ ทนายความของคนยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 คณะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ในนาม "คณะผู้แทน และส่งเสริมวัฒนธรรม" จำนวน 12 คน จากประเทศไทยนำโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" เดินทางเยือน สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของทางการจีน

ระหว่างที่อยู่ในประเทศจีน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 มีการกวาดล้าง จับกุม ประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจาก รัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยใช้ พรบ. ป้องกัน การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 และประกาศคณะปฏิวัติ เป็นเครื่องมือ ตั้งข้อหา คอมมิวนิสต์ให้ฝ่ายตรงข้าม

กุหลาบ สายประดิษฐ์ซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพไม่ถึงปี หลังจากถูกคุมขังในข้อหา กบฎสันติภาพ นาน สี่ปีเศษ เมื่อทราบข่าว การรัฐประหาร ก็ตัดสินใจ ไม่กลับเมืองไทย ขอลี้ภัยอยู่ที่จีน ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง ในปี 2517 ส่วนคนอื่นๆ รวมทั้ง สุวัฒน์ วรดิลก หรือ "รพีพร" เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ ทองใบ ทองเปาด์ เดินทางกลับถึงประเทศไทย ในวันที่ 20 ธันวาคม 2501 พอลงจากเครื่องบิน ที่สนามบินดอนเมือง ก็ถูกจับทันที ในข้อหากบฏภายนอกและภายในราชอาณาจักร เพราะจีน มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ และยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศไทย ผู้ที่เดินทางไปจีน ในช่วงนั้น จึงมีความผิด

ทองใบ ทองเปาด์ ในขณะนั้น ซึ่งจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 แล้วยังทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ของ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ก่อนจะ ย้ายไป อยุ่ที่ "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง" เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ

ระหว่างปี ปี พ.ศ. 2501-2509 มีประชาชนจำนวนมาก ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการ จับกุมคุมขัง เพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน บางคน ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อร้องขอ ก็ถูกจับฐานเป็นกบฎ แต่ก็มิได้มีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และไม่มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ทุกคนถูก "ขังลืม" ตามคำพิพากษาของศาลเตี้ย โดยไม่รู้ว่า ชะตากรรมในวันรุ่งขึ้นจะเป็นอย่างไร

ในคุกลาดยาว ที่ทองใบ ทองเปาด์ ถูกจองจำในฐานะนักโทษทางการเมืองอยู่นั้น มีทั้งชาวนาชาวไร่ ผู้นำกรรมกร นักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ครู และพระ มากกว่า 300 คน ถูกคุมขังอยุ่ด้วย แม้คุกจะขังพวกเขาไว้ แต่ไม่สามารถปิดกั้นหัวใจได้ ผลงานสร้างสรรค์จำนวนมาก เกิดขึ้นในคุกลาดยาวแห่งนี้ อาทิเช่น นวนิยาย ชื่อ "ลูกผู้ชาย ชื่อ ไอ้แผน" ของ อิศรา อมันตกุล "ภูติพิศวาส" ของ "รพีพร" รวมทั้ง ผลงานประเภทต่างๆจำนวนมาก ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เกิดขึ้นในช่วงที่เขาอยู่ในคุกลาดยาว ระหว่าง พ.ศ. 2501-2507 ทั้งวรรณกรรม ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ งานแปล บทกวี เช่น "ความเป็นมาของคำสยาม ลาว และขอม" และ "ลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ"  หรือ "สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา" งานวิจารณ์วรรณคดี เช่น  "นิราศหนองคาย" วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา งานพจนานุกรมภาษาละหุเล่มแรกของเมืองไทย คือ "ภาษาละหุหรือมูเซอร์" งานแปล เช่น "แม่ ของแมกซิม กอร์กี้"  "โคทาน" ของเปรมจันท์ "คนขี่เสือ" ของภวานี ภัฎฏาจารย์ "ความเรียงว่าด้วยศาสนา" ของศาสตราจารย์ยอร์จ ทอมสัน

นอกจากนี้จิตรยังได้แต่งบทเพลงจำนวนมาก ภายใต้นามแฝง "สุธรรม บุญรุ่ง" ที่มีเนื้อหาสะท้อนสันติภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมในสังคม ต่อต้านการกดขี่เผด็จการทหาร ศักดินาและจักรวรรดินิยม เช่น เพลง "มาร์ชลาดยาว" "มาร์ชชาวนาไทย" "เทิดสิทธิมนุษยชน" "ฟ้าใหม่" "ความหวังยังไม่สิ้น" "แสงดาวแห่งศรัทธา" "ศักดิ์ศรีของแรงงาน" "เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ" "รำวงวันเมย์เดย์" "มนต์รักจากเสียงกะดึง" ฯลฯ

ชนรุ่นหลัง ได้รับรู้ชีวิตภายในคุกลาดยาว ของ นักโทษการเมืองในยุคกึ่งศตวรรษ เหล่านี้จาก บันทึกของ ทองใบ ทองเปาด์ ที่มีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2517 ในชื่อ "คอมมิวนิสต์ ลาดยาว" ซึ่งบรรยายชีวิตภายในคุกลาดยาวของผู้ต้องหาทั้งระดับชาวนาธรรมดา เช่นเฒ่าปาน โนนใหญ่ หรือชีวิตของหมอธรรมเช่น ธรรมชาลี จันทราช ตลอดจนบุคคลระดับชาติที่มีชื่อเสียง เช่นอดีตรัฐมนตรี เทพ โชตินุชิต ผู้นำทางการเมืองแนวสังคมนิยม อดีตทหารเรือพลตรีทหาร ขำหิรัญ หรือชีวิตของ อดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อุทธรณ์ พลกุล เจ้าของนามปากกา "งาแซง" ผู้ใช้เวลาเขียนตำราภาษาฝรั่งเศสเรียนด้วยตนเอง และเจ้าของคติ "เราไม่มีหน้าที่ค้ำบัลลังก์ให้เผด็จการทรราช"

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงชีวิตและจุดเปลี่ยนของ สังข์ พัธโนทัย อดีตนายมั่น นายคง โฆษกคู่บุญของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้ไว้เครายาวประท้วงการจับกุมและการทำลายระบอบประชาธิปไตย ของเผด็จการ

ทองใบ ทองเปาด์ ติดคุกฟรีอยู่ 8 ปีกว่า โดยได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509 จากประสบการณ์ที่ได้กับตัวเองโดยตรง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในระหว่างถูกคุมขัง และได้พบเห็นเพื่อนมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ เช่น ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา พระ ครู นักการเมือง นักเขียน สื่อมวลชนต้องติดคุกทั้งที่ไม่รู้ว่าผิดด้วยเหตุใด จะมีการพิจารณาไต่สวนความบริสุทธิ์อย่างไร ทุกคนต่างมีชีวิตในคุกที่มืดมน ไร้อนาคต ต้องอดทน อดกลั้น ดิ้นรน ต่อสู้ เป็นการต่อสู้ที่ต้องเสี่ยงต่อชีวิต ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สู้กับอำนาจของรัฐบาลอย่างอดกลั้น เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว เขาจึงปวารณาตัวว่าจะประกอบอาชีพทนายความต่อสู้เพื่อประชาชน จึงตั้งความมุ่งหวังไว้ว่าจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายที่เสียเปรียบทางสังคมโดยเฉพาะผู้ไม่รู้กฎหมายให้ได้รับความเป็นธรรมให้ปรากฏในสังคมให้จงได้

ทองใบ ทองเปาด์ นอกจากจะเป็นนักข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แล้ว จึง ตั้งสำนักงานทนายความทองใบ ทองเปาด์ รับปรึกษาและว่าความทั่วราชอาณาจักร โดยมีหลักปรัชญาในการทำงานคือ ให้ความช่วยเหลือคนยากคนจน บุคคลที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคมในเรื่องของคดีความ เช่น คดีแรงงาน คดีชาวสลัม คดีเด็กและสตรี คดีการเมือง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีเพื่อรักษาผลประโยชน์เพื่อแผ่นดิน คดีเกี่ยวกับสิทธิทำกินของชาวไร่ ชาวนา รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายให้แก่ประชาชนผู้อยู่ห่างไกลได้รู้กฎหมายไว้ป้องกันตนเองโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในและต่างประเทศ

ทองใบ ทองเปาด์ ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่เขาปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากไม่ต้องการรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน (สามีของนางคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ. 2526

ทองใบ ทองเปาด์ ในวัย 85 ปี เสียชีวิตเมื่อวานนี้ จากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
กำลังโหลดความคิดเห็น