xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฮั้วแก้รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปัตย์ต้องมาก่อน !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ต้องบอกว่าทั้งรัฐบาลกระตือรือร้นเป็นพิเศษ เพราะไล่เรียงลงมาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เลขาธิการพรรค สุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างออกโรงกันอย่างแข็งขันทำทุกทางเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสภาและมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ทำทุกทางเท่าที่จะทำได้ 
         
สำหรับเหตุผลที่ต้องเร่งรีบผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมาธิการแก้ไข ชุดที่มี เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธาน เข้าสภาในวันอังคารที่ 25 มกราคมนี้ ซึ่งเป็นวันเปิดรัฐสภาสภาสมัยสามัญนัดแรก ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเพื่อเป็นหลักประกันความชัวร์เอาไว้ให้มากที่สุด
         
เพื่อให้ตัวเองซึ่งในที่นี้คือ พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆได้เปรียบในสนามเลือกตั้งมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับมาให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็จะกลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกรอบ กลับมาฮั้วอำนาจกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกรอบนั่นเอง
         
ล่าสุดมีการกำหนดการมาจากฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิป) เสนอพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวันอังคารที่ 25-26 มกราคม เพื่อพิจารณาในวาระที่สอง ก่อนจะต้องทิ้งช่วงตามกฎหมายเว้นไว้อีก 15 วันค่อยมาลงมติในวาระสามว่าจะผ่านหรือไม่

การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวออกมาก็ต้องบอกว่ารวบรัดกันแบบผิดปกติ ทำเหมือนกับว่าหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปจะมีโอกาสพลิกเป็นอื่นได้ตลอดเวลา ดังนั้นต้อง “รีบทำงาน” เอาไว้ก่อน
         
แม้ว่าจะมีข้ออ้างในเรื่องภารกิจของ นายกรัฐมนตรีที่มีคิวการเข้าร่วมประชุมผู้นำเศรษฐกิจโลกอะไรนั่นที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในราวปลายเดือนมกราคมทำให้ต้องร่นเวลาเข้ามามันก็ฟังได้
         
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือเชื่อว่าเมื่อเปิดสภาสมัยสามัญสถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีหลายกลุ่มจะทยอยออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล จากความไม่พอใจกับการแก้ปัญหาแบบ “ลวงโลก” ไม่ไหว เท่าที่เห็นก็มีจ่ออยู่สองสามกลุ่ม นั่นคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดชุมนุมในวันที่ 25 มกราคมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาปี 2543 (เอ็มโอยู43) รวมทั้งยังมีประเด็นใหม่เข้ามาในเรื่องการยกดินแดนให้เขมร และรวมหัวกันยัดข้อหากับคนไทยไปติดคุกต่างแดน ซึ่งมีการนัดล่วงหน้าข้ามปีมาแล้ว การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน หรือแม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงเจ้าเก่า และเชื่อว่ายังมีอีกสารพัดกลุ่มทยอยเข้ามาเพื่อกดดันรัฐบาล
         
ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากองค์ประกอบทางการเมืองอื่นๆที่ประดังเข้ามามันก็ยิ่งทำให้ชวนหวาดเสียว จนต้องรวบรัดตัดความเร่งนำเข้าสภาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือดันมีตัวแปรในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของบรรดา ส.ว.สรรหา ที่กำลังจะหมดลงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และที่สำคัญยังมีหลายคนที่อยากจะกลับมาเป็นอีกรอบ แต่กังวลว่าจะมีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย ในเรื่องของการตีความหากจะเป็นติดต่อกัน
         
แม้ว่ามีนักกฎหมายหลายคนมีความเห็นว่าสามารถอยู่จนครบวาระแล้วกลับมาลงสมัครสรรหาใหม่ได้ต่อเนื่อง แต่มันก็ยังขวัญเสียกลัวๆอยากๆพิกล ทำให้เวลานี้ต้องจับตาดูว่าจะมี ส.ว.สรรหาคนไหนจะลาออกก่อนกำหนดหรือไม่ ในที่นี้ยังรวมถึงประธาน ส.ว.ประสพสุข บุญเดช รวมอยู่ด้วย โดยจะตัดสินชี้ขาดในวันที่ 30 มกราคมนี้ด้วย
         
กรณีดังกล่าวมันย่อมส่งผลสะเทือนไปถึงองค์ประชุม และเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.กลุ่มนี้ไม่น้อย ดังนั้นด้วยเงื่อนไขเวลาที่ว่าทำให้ต้อง “รวบรัด” โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
         
นาทีนี้ ถ้าดูจากผลสรุปจากการลงมติของคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ จากประชาธิปัตย์ เป็นประธานสามารถออกมาเป็นไปตามที่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ต้องการคือใช้สูตรสัดส่วน ส.ส.375-125 เฉือนเอาชนะพรรคร่วมที่ต้องการสูตรสัดส่วน ส.ส.แบบ 400-100 ไปเพียงแค่คะแนนเดียว อย่างไรก็ดีเพื่อให้ทุกพรรคสมประโยชน์จึงมีข้อเสนอใหม่จากพรรคภูมิใจไทยและเพื่อแผ่นดินผลักดันสูตร 400-125 เข้ามา เป็นทางเลือก แม้ว่าจะถูกโห่ตั้งแต่ต้นมือ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะยี่ห้อนักการเมืองไทยเสียอย่างสามารถอ้างเหตุผลรองรับและทำในสิ่งที่ “เห็นแก่ตัว” จนคาดไม่ถึงเสมอ 
         
สำหรับความได้เปรียบของพรรคร่วมรัฐบาลกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในเรื่องของการ “แบ่งเขตเล็ก” จนมาถึงสอง-สามสูตรดังกล่าว ซึ่งไม่ว่าจะออกมาแบบไหนถือว่าพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์จะได้เปรียบมากกว่าใครทั้งหมด และสังคมน่าจะรับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนข้ออ้างอิงทั้งประเภทประชาธิปไตยแบบวันแมนวันโหวต หรือต้องยึด “หลักการ”มากกว่า “ตัวบุคคล” นั้นแค่พ่นน้ำลายบังหน้าเท่านั้น

เมื่อวกมาที่เรื่องความลุกลี้ลุกคนต้องรีบผลักดันการแก้ไขให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด ส่วนหนึ่งนอกเหนือจากมรสุมที่เริ่มรุมเร้าเข้ามาสารพัด ยังมีเรื่องเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.สรรหาดังกล่าว ดังนั้นจำเป็นต้องตัดตอนเรื่องอื่นทิ้งไปก่อน เหมือนกับขีดเส้นให้เสร็จสิ้นก่อนที่ ส.ว.พวกนี้จะครบวาระหรือลาออกก่อนกำหนด นั่นหมายว่าเมื่อพิจารณา 2 วันคือวันที่ 25-26 ม.ค.ในวาระที่สอง จากนั้นจะทิ้งเอาไว้ 15 วัน ตามกฎหมาย ก่อนลงมติในวาระ 3
         
เมื่อนับนิ้วดูตารางเวลาแล้วก็น่าลงตัวแบบฉิวเฉียด แต่บางครั้งคนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิตความพลิกผันอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะมาจากทั้งภายในและนอกสภา
         
อย่างไรก็ดีสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือเมื่อใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง ซึ่งในที่นี้ก็คือพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลและโดยเฉพาะผลประโยชน์ในทางอำนาจของ อภิสิทธิ์-สุเทพ ก็ต้องกุลีกุจอลัดคิวเข้ามาก่อน ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับปัญหาคนไทยในเขมรที่มักมีคำพูดยืนยันว่า “ช่วยเต็มที่” แต่พฤติกรรมตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่า “ประชาธิปัตย์ต้องมาก่อน ไม่ใช่ประชาชนมาก่อน” !!


กำลังโหลดความคิดเห็น