xs
xsm
sm
md
lg

วิปถกรับมือแก้ รธน.25 ม.ค. ชี้ ส.ว.ลาออกเพื่อสมัครใหม่ขัด ม.115 (9)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิทยา แก้วภราดัย (แฟ้มภาพ)
วิปรัฐบาลประชุมรับมือพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 วันที่ 25 ม.ค.นี้  “วิทยา” เผยที่ต้องรีบพิจารณาเพราะนายกฯ กลัวเกิดความล่าช้า หาก ส.ว.สรรหาลาออกอาจทำให้ไม่ครบองค์ประชุมตามกฎหมายกำหนดจนเกิดปัญหาพิจารณาไม่ได้ ยันแม้ ส.ว.ไขก๊อกก็ไม่พ้นขัด มาตรา 115 (9) เตรียมสั่งร่นงานเลี้ยงเคลียร์ใจพรรคร่วมฯ มาเป็นวันที่ 24 ม.ค. ยันต้องหนุนสูตร ส.ส. 375+125



นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวแถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเพื่อเตรียมการเปิดสมัยประชุมสภาฯ โดยมีพระบรมราชโองการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 21 ม.ค. เพื่อเตรียมพิจารณาระเบียบวาระต่าง ๆ รวมทั้งการเตรียมการประชุมร่วมของรัฐสภาตามมติประธานรัฐสภา วันอังคารที่ 25 ม.ค. ในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใน 2 ร่าง คือ มาตรา 190 และมาตรา 93-98 ในเรื่องจำนวนของ ส.ส. ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐสภาว่า กมธ.ได้มีการพิจารณาเสร็จแล้วและจะสามารถทบทวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอต่อประธานสภาได้ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ซึ่งประธานจะสามารถประกาศวาระได้ในวันที่ 21 ม.ค.

โดยวิปรัฐบาลได้พิจารณาถึงความจำที่จะต้องประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันอังคารที่ 25 ม.ค.ตามที่ประธานสภาได้พูดไว้ และด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1. นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจที่จะให้ข้อเสนอของฝ่ายวิชาการได้รับการปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลอย่างจริงจัง หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้เสนอแนวทางการแก้ไข และรัฐบาลก็มีความจริงใจในการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวตลอด และมีความกังวลว่าหากปล่อยให้มีความล่าช้า ตามที่มีกระแสข่าวว่า ส.ว.จะครบวาระในวันที่ 18 ก.พ. และจะมี ส.ว.บางส่วนลาออกในวันที่ 15 ก.พ. ซึ่งมีจำนวนหลายสิบคน เพื่อจะกลับมาเข้าสู่กระบวนการสรรหาอีกครั้ง เพราะมีความกังวลว่าหาก ส.ว.ที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่จะขัดมาตรา 115 (9) ของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.ไม่ได้

ทั้งนี้ วิปรัฐบาลได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีปัญหาว่า แม้ว่าจะลาออกก่อน แต่ในมาตรา 115 (9) ระบุว่า จะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นและยังไม่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ซึ่งหาก ส.ว.จะลาออกวันนี้และหากตีความตามมาตรา 115 (9) ก็จะไม่ครบระยะเวลา 5 ปี บุคคลดังกล่าวก็จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาไม่ได้

ส่วนกรณีที่ ส.ว.ลาออกแล้วจะทำให้วุฒิสมาชิกไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมาตรา 118 นั้น วิปรัฐบาลได้มีการหารือและมีความเห็นว่า มาตรา 118ใช้บังคับในกรณีการสรรหาหรือการเลือกตั้งครั้งแรกเท่านั้น เพราะถ้า ส.ว.ได้ปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกไปแล้ว กรณีที่สมาชิก ส.ว.ลาออกหรือขาดไม่ครบ 95% ต้องถือตามองค์ประชุมที่มีอยู่ ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ และมีการเลือกซ่อมแทนตำแหน่งที่ขาดหายไป ซึ่งกฎหมายได้ระบุว่าจะต้องมีการสรรหาภายใน 180 วัน ต่างจากการขาดสมาชิกภาพหรือการที่ ส.ว.พ้นจากตำแหน่งในวาระอื่นๆ กฎหมายได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 30 วัน

นายวิทยากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตัดปัญหา หากมีการส่งตีความเรื่องการลาออกของ ส.ว. ซึ่งทำให้กระบวนการยืดเยื้อ และอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมชะงักไป จึงได้มีการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันอังคารที่ 25 ม.ค. โดยจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระ 2 ในวันอังคารและวันพุธ และเลื่อนการจัดเลี้ยงรับรอง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไปเป็นวันจันทร์ที่ 24 ม.ค. ที่โรงแรมพลา
ซ่า แอทธินี ส่วนจะมีการถ่ายทอดการประชุมหรือไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญควรจะให้ประชาชนได้ติดตาม เพราะหลังจากที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 แล้วจะต้องมีการพักการประชุม 15 วันเพื่อ ส.ส.ได้ลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนที่จะมาลงมติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงในเรื่องของเสียง ส.ว.ที่ลาออก นายวิทยากล่าวว่า เป็นข้อกังวล ซึ่งตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว และชี้แจงข้อกฎหมายว่าหากจะลาออกก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปรับการสรรหา ส.ว.ได้เพราะลาออกไม่ถึง 5 ปี และหากลาออกมากว่า 5% ส.ว.ก็ยังทำหน้าที่ต่อไปได้ เพราะ 95% ตีความเฉพาะการสรรหาวาระเบื้องต้น แต่นายกรัฐมนตรีกังวลว่าหากมีการส่งตีความ ก็จะทำกระบวนการพิจาณากฎหมายล่าช้า ก็เป็นจุดอ่อนว่ารัฐบาลไม่จริงใจ ก็เลยแสดงความจริงใจโดยการนำเข้าทันทีในกระบวนการของรัฐสภาสูงสุด ซึ่งความเห็นของวิปรัฐบาลในเรื่องจำนวน ส.ว.นั้นเห็นว่าจำนวน ส.ว. เหลืออยู่เท่าไหร่ก็เป็นองค์ประชุมของวุฒิสภาได้ ซึ่งตนได้มีการพุดคุยกับ ส.ว. ที่จะลาออกบ้างแล้ว ซึ่งมีความกังวลว่า หากไม่ลาออก คณะกรรมการสรรหา ส.ว.บอกว่ามีปัญหาก็จะทำให้เขาหมดโอกาส และคณะสรรหาจะได้ไม่ติดใจ แต่ตนคิดว่าหากลาออกก็ไม่พ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ดูสูตรคิดว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องจำนวน ส.ส.จะเป็นสูตรไหน ระหว่างสูตร 400 ต่อ 125 หรือ สูตร 400 ต่อ 100 และสูตร 375 ต่อ125 นายวิทยากล่าวว่า ตนจะรอให้ทางคณะกรรมาธิการนิ่ง ซึ่งจะมีการประชุมวิปในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เพราะขณะนี้การประชุมของคณะกรรมธิการ อยู่ระหว่างการสงวนการแปรญัตติและหากคณะกรรมการฯเห็นด้วยกับผู้แปรญัตติ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อถามว่า สูตรจำนวน ส.ส.400 ต่อ 125 ที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยเสนอมามีความเป็นไปได้หรือไม่ นายเนวินกล่าวว่า ต้องอยู่ที่รัฐสภา เพราะมีหลายสูตร ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีการพัก 15 วัน เพื่อให้ ส.ส.ไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง ส.ส.ทุกคนต้องลงพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเรื่องจำนวน ส.ส.375 ต่อ 125 ไม่ผ่านใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ นายวิทยากล่าวว่า หากไม่ผ่าน รัฐสภาก็จะเป็นผู้รับผิดชอบเพราะตนไม่สามารถควบคุมเสียงในรัฐสภาได้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องยุบสภา เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐสภา อำนาจยุบสภาไม่ใช่อำนาจของสภา แต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนิยาม ความรับผิดชอบคือ ความเห็นของรัฐสภาเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะกฎหมายของรัฐธรรมนูญเป็นความรับผิดชอบของรัฐสภา โดยวิปรัฐบาลจะพยายามจะประสานให้เสียงของรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน

นายวิทยากล่าวด้วยว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นคณะกรรมการกลั่นกรองของวิปรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ส่งเข้ามา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมวิปรัฐบาล โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือหากจะมีการชุมนุมจะต้องแจ้งให้ทราบและห้ามชุมนุมในสถานที่บางแห่ง เช่น วัด โรงเรียน พระราชวัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการจะชุมนุมก็จะทำได้ในสถานที่ที่ไม่ได้ห้ามชุมนุม

สำหรับการชุมนุมของคนไทยหัวใจรักชาติที่หน้าทำเนียบรัฐบาลผิดหรือไม่นั้น นายวิทยากล่าวว่า ถ้าไม่ปิดทางเข้าออกก็คงไม่ผิด แต่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ผ่าน ขออย่าถามล่วงหน้า อย่าตีตนไปก่อนไข้ ต่อข้อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ปิดแค่ทางเข้าออก แต่ปิดถนน รัฐบาลควรจะต้องทำอย่างไร นายวิทยากล่าวว่า ก็ต้องไปถามรัฐบาล ซึ่งก็ต้องให้รัฐบาลตัดสินใจตามสถานการณ์ ซึ่งการใช้ความรุนแรงก็ไม่มีใครชอบ อ่อนแอเราก็ไม่ชอบ มันไม่มีความพอดี ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องแสวงหาความพอดีร่วมกัน ดังนั้นจะทำตามอารมณ์ทุกคนไมได้ ไม่ใช่เอาใจคนอื่นอยากให้ปราบปรามรุนแรง แต่พอคนตายก็มาตามหาคนปราบ ขณะที่คนที่ชุมนุมก็อยากแสดงความคิดเห็น คนที่ไม่เห็นด้วยก็อยากให้จัดการ สังคมมี 2 แนวทางเสมอ ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องพยายามคิดให้รอบคอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น