“มาร์ค” เตรียมคุยพรรคร่วมฯเคลียร์ปัญหาแก้ไข รธน.พร้อมแสดงจุดยืนตัวเอง 25 ม.ค.นี้ ขณะที่ โฆษก ชทพ.ยันหนุนสูตร 400+100 แต่ถ้าแพ้โหวตในสภาก็ยอมรับ เห็นด้วยแกนนำพรรคคุยกัน พร้อมเฉ่งลูกหาบ ปชป.ขู่ยุบสภา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า ไม่สามารถคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 เกี่ยวกับสูตร ส.ส.เขต 375 ส.ส.สัดส่วน 125 ได้ว่า คงจะพูดตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้ความเห็นยังแตกต่างกันอยู่ แต่เมื่อรายงานของคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย ทางพรรครัฐบาลต้องมาคุยกัน และในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ที่จะมางานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลตนจะเดินทางไปร่วมคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยเช่นกัน พร้อมกับแสดงจุดยืน ในทั้ง 2 สถานะ และจะต้องบอกว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร และในแง่ของตัวรัฐบาลจะเดินในเรื่องดังกล่าวอย่างไร ซึ่งในชั้นนี้จะต้องรอให้คณะกรรมาธิการทำรายงายออกมาให้ชัดเสียก่อน ขณะเดียวกัน การแสดงจุดยืนทั้ง 2 สถานะดังกล่าวจะไม่มีความขัดแย้งกัน แต่จะมีบทบาทที่ต่างกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่พูดคุยกันในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล คิดว่า จะสามารถทำความเข้าใจจนไม่เกิดปัญหาการอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องมีความชัดเจนว่าจะทำงานร่วมกันต่อไปภายใต้เงื่อนไขอย่างไร และไม่คิดว่าจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
ด้าน นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงความขัดแย้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันใช้สูตร 375+125 ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการสูตร 400+100 ว่า ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นก่อน แม้จะเพิ่งผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีมติยืนยันเข้าวาระ 2 ของรัฐสภาให้ผลักดันที่มา ส.ส.375+125 ก็ตาม เพราะจากนี้ไปจะต้องพิจารณาในวาระที่ 2-3 ของรัฐสภา ซึ่งจะเป็นเรื่องที่จะมีการหยิบยกมาอภิปรายกันในสภาต่อไป อีกทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็แสดงความเห็นว่าที่มา ส.ส.ควรเป็น 400+100 จะเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันจุดยืนสนับสนุนในสูตร ส.ส.400+100 เพราะเหมาะสมต่อสภาพความเป็นจริงในทางการเมืองที่สุด แต่ไม่ว่าจะสูตรใดก็ตามก็ต้องขึ้นอยู่ที่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา และหากผลสุดท้ายการพิจารณาของสภาจะออกมาเป็น 375+125หรือ 400+100 ไม่ว่าสูตรไหน พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ยอมรับผลการพิจารณาของสภาในท้ายที่สุด
นายวัชระ เห็นด้วยที่ให้ผู้ใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาลได้พูดจากันก่อนจะมีการเปิดประชุมสภาเพื่อสะท้อนถึงพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังเป็นการกุญแจสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผ่านได้ด้วยดี เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งหากผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลมีการพูดคุยกันก็จะคุยกันบนเหตุและผลในกรณีเมื่อต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะเกิดอะไรต่อประเทศประเทศชาติจะสงบสุขมีการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ทั้งนี้เข้าใจว่ายังไม่ได้มีการนัดผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลจะมีแต่การเฉพาะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก่อนเปิดสภาเท่านั้น
“ผมไม่สบายใจเพราะไม่อยากให้มีการปล่อยข่าวจากบรรดาลูกพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ใช่แกนนำพรรคออกมาข่มขู่ว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จแล้วจะมีการยุบสภา ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ดี เพราะในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเราต้องทำงานร่วมกันแต่ไม่ใช่ใช้วิธีการรุกไล่กัน อีกทั้งต้องย้อนถามว่าคนที่ขู่ด้วยการยุบสภานั้นเดาใจนายกรัฐมนตรีได้หรือว่าจะยุบหรือไม่ยุบสภา เพราะประเทศนี้มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจในการยุบสภาได้ ดังนั้นการปล่อยข่าวในลักษณะขู่จะยุบสภาไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ เพราะจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับนายกฯมากขึ้น”