ผ่าประเด็นร้อน
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเริ่มเห็นสัญญาณ “ฉิบหาย” กำลังก่อตัวขึ้นมารอบใหม่หรือเปล่าไม่ทราบ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรวมไปถึงพนักงาน ลูกจ้างในย่านราชประสงค์ ต่าง “นั่งไม่ติด” ไม่อยากโดน “เผารอบสอง” ต้องออกมาเคลื่อนไหวแสดงท่าทีอย่างชัดเจน หลังจากที่แกนนำเสื้อแดงรุ่นใหม่ ที่นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ์ และ “ไอ้ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประกาศว่าจะจัดให้การมีการชุมนุมที่ราชประสงค์เดือนละสองครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้โหมโรงก่อม็อบโหมโรงกันไปแล้ว โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา จากนั้นได้นัดหมายชุมนุมครั้งต่อไปในวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม
การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ดังกล่าวเมื่อวานนี้ (11 มกราคม) โดยยื่นหนังสือเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ลงมาบริหารจัดการ จัดหาพื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงเสียใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือให้รัฐบาลลงมาบริหารจัดการพื้นที่ ขณะที่คนเสื้อแดงก็ให้ไปหาสถานที่อื่น ซึ่งถ้าถ้าพูดกันแบบตรงไปตรงมาแบบดิบๆ ก็คือ ให้ไป “บ้าที่อื่น” อย่ามาป่วนแถวนี้นั่นแหละ
พร้อมกันนี้ยังได้แยกแยะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจลาจลเผาเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยแยกเป็นความเสียหายทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่จำนวน 2,088 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 11,275 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพของพนักงานจำนวน 30,661คน รวมไปถึงสร้างความเดือดร้อนในเรื่องปัญหาจราจรและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อีกจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งหากมองในมุมของเครือข่ายทักษิณ ก็ย่อมจะเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมถึงต้องเลือกพื้นที่แยกราชประสงค์เป็นสถานที่ในการปักหลักชุมนุม นั่นคือ ความ “จงใจ” ให้เกิดความ “ฉิบหาย” ทางเศรษฐกิจ โดยนำมาเป็น “ตัวประกัน” ต่อรองกับรัฐบาล เพราะพื้นที่แถบนั้นเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าเป็น “สัญลักษณ์” ทางธุรกิจของกรุงเทพฯ หรือของประเทศไทยก็ได้
ทั้งที่ตามปกติการชุมนุมทั่วไปมักจะใช้พื้นที่ซึ่งศูนย์กลางอำนาจ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือสถานที่ราชการอื่นๆ แต่คราวนี้กลับใช้พื้นที่ของเอกชน ถือว่าไม่มีเหตุผล นอกเหนือจากเจตนา “สามานย์” ต้องการทำให้เกิดความพินาศทางเศรษฐกิจมากดดันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นคำถามกลับไปเช่นเดียวกันสำหรับผู้ประกอบการในย่านราชประสงค์ว่าในช่วงเวลานั้นทำไมไม่รวมตัวออกมาแสดงท่าที “คัดค้าน” การชุมนุมในลักษณะที่สร้างความเสียหายจำนวนมากตามที่อ้างแบบนั้นบ้าง เพราะถ้าจำกันได้กลุ่มที่ออกมาขัดขวางอย่างเต็มตัวกลับกลายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ “ย่านสีลม” มีการรวมกลุ่มกับ “เสื้อหลากสี” จนถูกยิงถล่มด้วยระเบิดเอ็ม 79 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผลจากการแสดงท่าทีขัดขวางอย่างเต็มตัวดังกล่าวทำให้ม็อบเสื้อแดงไม่ขยายวงออกไปจนถึงย่านสีลม จำกัดอยู่แค่ย่านราชประสงค์เท่านั้น
นอกเหนือจากนี้หากจะอ้างว่าเกรงจะเกิดกระทบกระทั่งบานปลายกรณีออกมาเคลื่อนไหวแบบม็อบชนม็อบ ก็ถือว่ามีเหตุผลรับฟังได้ แต่ทำไมไม่ใช่วิธีการอย่างอื่น เช่น ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง หรือเรียกร้องให้ศาลไต่สวนคุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งก็ทำได้ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร
นั่นเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่มันก็อดไม่ได้ที่จะต้องนำมากล่าวถึงกันบ้าง
อย่างไรก็ดี หากยกยอดตัดตอนมากล่าวเฉพาะการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้คงเป็นเพราะ “เหลืออด” จริงๆ หลังจากควันไฟเริ่มจาง จนสามารถกลับไปฟื้นฟูซากปรักหักพังอาคารร้านค้าจนกลับไปทำมาหากินได้อีกครั้ง แต่การประกาศของแกนนำเสื้อแดงว่าจะชุมนุมเรื่อยไป 2 ครั้งทุกเดือน ทำให้ทนไม่ไหว
ประกอบกับที่ผ่านมายังได้รับการการันตีจาการรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มานิตย์ สุขอนันต์ ว่าการเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงเกิน 5 คนของ จุตพร พรหมพันธุ์ ว่าไม่ได้ขัดคำสั่งศาลอาญา เนื่องจากได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญยกเว้นแต่ห้ามกล่าวถึงหรือพาดพิงไปถึงคดีที่ตัวเองตกเป็นจำเลยเท่านั้น นั่นหมายความว่าต่อไปนี้คนอย่างจตุพร สามารถอ้างสิทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าวนำคนเสื้อแดงไปชุมนุมที่ราชประสงค์ได้ทุกเดือนๆละสองครั้งเป็นอย่างน้อย
ด้วยสาเหตุนี้หรือเปล่า ทำให้ผู้ประกอบการในย่านราชประสงค์หวั่นไหวจนต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก เพราะหากไม่ผนึกกำลังกันออกมาแสดงท่าทีคัดค้านตั้งแต่ต้นมือในครั้งนี้ เชื่อว่าผลกระทบที่จะตามมาอาจซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็เป็นได้
ถ้าพิจารณาจากพฤติกรรมในอดีตของแกนนำแกนนำคนเสื้อแดงเมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุมเมื่อปีก่อนซึ่งย้อนไปจนถึงปี 2552 ที่เริ่มมีลักษณะการชุมนุมแบบย่อย เพื่อสะสมกำลัง มีการปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง จากนั้นก็จะ “ยกระดับ” ให้มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ ที่เริ่มขึ้นในราวเดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปถึงเดือนเมษายนและ พฤษภาคม
จากการประกาศของแกนนำคนเสื้อแดงรุ่นใหม่ที่นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ์ และ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ได้รับไฟเขียวเข้าร่วมการชุมนุมได้โดยไม่ขัดคำสั่งศาล จากการอ้างสิทธิ์ในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เหมือนกับทุกครั้งก่อนที่จะมีการชุมนุมยืดเยื้อบานปลายในเวลาต่อมา
ดังนั้น นาทีนี้ถ้าให้เข้าใจถึงการออกมารวมตัวเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในย่านราชประสงค์เพื่อต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายเกิดผลกระทบในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากข้ออ้างในเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญทำให้ แกนนำบางคนสามารถนำเป็นข้ออ้างในการชุมนุมโดยไม่ขัดคำสั่งศาลอาญาที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนก่อนหน้านี้
ซึ่งการออกมาผนึกกำลังของคนราชประสงค์ครั้งนี้ถือว่าน่าจับตา เพราะอย่างน้อยได้สร้างแรงกดดันกลับไปที่กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นครั้งแรก!!