“กษิต” เผยยื่นขอประกันตัว 7 คนไทย หวังคดีจะจบได้เร็วภายในสัปดาห์นี้ แต่การเพิ่มข้อกล่าวหา “วีระ-ราตรี” ต้องรอดูว่า “วีระ” จะให้ความร่วมมืออย่างไร ส่วนพื้นที่ชายแดนทางฝ่ายท้องถิ่นต่างคนต่างปกครองดูแลอยู่ “เราก็รู้กันว่าอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไร?” ชี้การเจรจาเขตแดนต้องใช้เวลาพร้อมเปิดเผยข้อมูลทุกด้าน ยืนยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในรายการ “เจาะลึก ครม.” ออกอากาศทางช่อง NBT กล่าวว่า ความคืบหน้าในการช่วยเหลือ 7 คนไทย เรื่อง คดีมีการตั้งข้อหาเพิ่มนายวีระ และผู้ต้องหาหญิง 1 ราย (นางราตรี) ว่าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ทนายความของทั้ง 7 คน ได้ยื่นขอประกันตัว และศาลกัมพูชารับทราบแล้ว ต้องรอการพิจารณาซึ่งอาจจะทำควบคู่ไปกับการพิพากษาตัดสิน คาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งสถานทูตไทยก็ได้เร่งให้ดำเนินกระบวนการยุติธรรมให้สิ้นสุดโดยเร็ว เพื่อให้มีการปล่อยตัวคนไทยทั้ง 7 คนกลับประเทศให้เร็วที่สุด ซึ่งถ้ายืดเยื้อแต่ละฝ่ายก็จะถูกกดดันจากภายในประเทศซึ่งทำให้เป็นปัญหาโดยใช่เหตุ ส่วนกรณีของนายวีระก็ต้องดูว่ามีข้อกล่าวหาอย่างไร นายวีระจะให้ความร่วมมืออย่างไร
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับทางกัมพูชา เป็นจุดเดียวที่จะให้ข่าวสารเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด เพื่อให้บรรยากาศต่างๆดีขึ้น หลังจากศาลพิพากษาแล้วก็จะเป็นกระบวนการฝ่ายบริหารที่จะดูว่าจะมีการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่อย่างไร จาก 2 ข้อกล่าวหา คือ เข้าเมืองผิดกฎหมาย และเข้าเขตทหาร เชื่อว่าไม่ใช่โทษร้ายแรงอะไร น่าจะดำเนินการให้เร็วได้เพราะทั้ง 7 คน ไม่ได้มีเจตนาจะเข้าไปในเขตที่เขาปกครองอยู่
นายกษิตอธิบายสภาพพื้นที่มีถนน 2 เส้นขนานกัน คือ ถ.ศรีเพ็ญ ซึ่งอยู่ในการดูแลของฝ่ายไทย และถนน K5 ซึ่งอยู่ในการดูแลของกัมพูชา จากเสาปักปันเขตแดนที่ 46 และ 47 โดยใช้แผนที่ L7018 ถ้าขีดเส้นตรงระหว่างหลักเขตแดน 46 และ 47 ก็จะเข้าใจว่าใครอยู่ตรงไหน แม้การเจรจาปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จเพราะมีเจบีซีอยู่ เมื่อมีการ พลัดหลงเข้าไปก็ถูกจับ เมื่อถูกนำสู่กระบวนการยุติธรรม เราก็ให้การช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ต่างคนต่างปกครองดูแลอยู่ เราก็รู้กันว่าอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไร
สำหรับท่าทีของฝ่ายกัมพูชาต่อคดีนี้ นายกษิตกล่าวว่า เขาก็ให้ดำเนินกระบวนการยุติธรรมให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะเป็นการดำเนินการของฝ่ายบริหาร อย่างกรณีของวิคเตอร์ บูท หลังจบกระบวนการยุติธรรม ก็เป็นกระบวนการของฝ่ายบริหารที่จะดูว่าจะส่งตัวไปรัสเซีย หรือส่งตัวไปสหรัฐฯ กรณี 7 คนไทยเมื่อจบกระบวนการศาลแล้ว การขอพระราช ทานอภัยโทษจะเป็นกระบวนการของฝ่ายบริหารต่อไป ซึ่งจะคำนึงถึงภาพรวมคือความสัมพันธ์ของสองประเทศ เพราะถ้าคดียืดเยื้อไปแต่ละฝ่ายก็จะถูกกดดันซึ่งทำให้เกิด ปัญหาโดยใช่เหตุ
นายกษิตกล่าวว่า ในประเด็นแนวชายแดนต้องมีการให้ข้อมูลว่าเป็นเขตที่ประกาศกฏอัยการศึก มีปัญหาความมั่นคง ต้องชี้แจงให้เข้าใจโดยเฉพาะคนไทยที่ไม่ใช่ชาวบ้านแถว นั้น ส่วนประเด็นเรื่องโฉนดที่ดินที่มีการร้องเรียนก็ได้ทราบแล้วว่าไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีกรณีพิพาท ส่วนการเจรจาเรื่องเขตแดนวันนี้นายอัษฎา ชัยนาม ประธานเจบีซีฝ่ายไทยก็ ได้เดินทางไปกัมพูชาเข้าพบกับประธานเจบีซีฝ่ายกัมพูชา สำหรับเรื่องความมั่นคงในการดูแลพื้นที่ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพ ของฝ่ายมหาดไทย เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ดูแลให้เกิด ความเรียบร้อย
นายกษิตกล่าวว่า การชี้แจงต่อสาธารณะนั้น ทางการไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ข้อมูล ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด รัฐบาลต้องปกป้องคุ้มครองคนไทย ให้การดูแลให้ความ ช่วยเหลือมีการประสานงานกับญาติ และทนายความมาโดยตลอด ตนขอยืนยันว่าตั้งแต่คนไทยถูกจับข้าราชการทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ทำงานอย่างเต็มที่ไม่ได้ลา ไม่ได้หยุดปีใหม่ ส่วนเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า ว่าเส้นทางเดินเป็นอย่างไร ไม่มีการปิดบัง ซึ่งการชี้แจงต่างๆของทางการก็จะอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เป็นไปตามความจริง
นายกษิตกล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากอดีต 30-40 ปี ซึ่งต้องดูการเมืองในกัมพูชาด้วยว่าปัญหาต่างๆที่ยังค้างคาอยู่ ขณะนี้การเมืองภายในทั้ง สองประเทศเริ่มสงบก็มีการเจรจากัน ต้องใจเย็นๆ การเจรจาเรื่องเขตแดนต้องใช้เวลา ดูอย่างอินเดียกับจีนมีการรบกันเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเจรจากัน แต่กรณี รัสเซียกับจีนมีการรบกัน แต่สุดท้ายการเจรจาก็สำเร็จ เราก็ต้องใจเย็นๆ ซึ่งพื้นที่ชายแดนมีหลายเรื่องทั้งการลักลอบตัดไม้ การก่ออาชญากรรม ทั้งสองประเทศต้องร่วมกันเสริม สร้างความสัมพันธ์ให้ดีซึ่งเป็นพันธะต่อโลก ต่อประชาคมอาเซียน การมุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีความอยู่ดีกินดีเป็นเป้าหมายหลัก นอกจากนี้ทั้งไทยและ กัมพูชาต่างก็เป็นชาวพุทธ การให้ทานเป็นสิ่งสำคัญ ก็อยากให้มีการให้อภัยต่อกันซึ่งเป็นหลักสำคัญในพุทธศาสนา