xs
xsm
sm
md
lg

มติ ป.ป.ช.ยกคำร้อง “บรรณวิทย์” ฟ้อง “มาร์ค-กอร์ป-ซาเล้ง” ฟื้นฟูรถไฟมิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป.ป.ช.มีมติยกคำร้อง กรณีประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ฟ้อง “มาร์ค-กอร์ป-ซาเล้ง-ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.” ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หลังมีมติปรับปรุงโครงสร้างการบริหารฟื้นฟูการรถไฟ ชี้ไต่สวนแล้วไม่พบเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (5 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายอภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.แถลงว่า การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณา กรณีที่ พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และคณะ ได้มีหนังสือกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงและมีมติให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย และเป็นการถ่ายโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องห้ามถ่ายโอนแก่กันนั้น

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติอนุมัติในหลักการตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สิน โดยอ้างหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 ที่เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยปรับโครงสร้างกิจการแยกเป็นหน่วยธุรกิจ โดยให้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูก ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งได้ให้อำนาจการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยไม่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เนื่องจากเมื่อคราวที่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541 นั้น ได้ดำเนินการโดยนำทุนบางส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาแปรสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นเหตุให้ได้รับการต่อต้านจากสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย

ซึ่งภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 แล้ว ปรากฏว่า ยังไม่มีการดำเนินโครงการแต่อย่างใด เนื่องจากถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงได้มีการนัดเจรจากันเรื่อยมาระหว่างสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยกับผู้แทนคณะรัฐมนตรีและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย จนกระทั่งมีการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC Real - TimeSurvey) เมื่อวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2552 โดยยังไม่มีการดำเนินโครงการ และเป็นกรณีที่ได้มีการดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยทำการสำรวจจากครัวเรือน (ประชาชนทั่วไป) และกลุ่มประชาชนผู้ใช้บริการ ที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศ ตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) ซึ่งจากผลการสำรวจปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะดำเนินการฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างเร่งด่วนและเห็นด้วยกับการจัดตั้งบริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สิน การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจึงถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ซึ่งในการจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 2 บริษัท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ดังกล่าว ได้กำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 100 ดังนั้น บริษัทลูกทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว จึงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจรูปแบบหนึ่ง ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502

นอกจากนี้ พลเรือเอก บรรณวิทย์ ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ดังกล่าว โดยปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1121/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ 1288/2552 วินิจฉัยไว้ว่า เป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา เนื่องจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษา ของศาลปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีผลบังคับใช้ดัง เช่น พระราชบัญญัติ แต่กรณีนี้เป็นการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นการกระทำของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา และผู้กล่าวหาในฐานะผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากการมีมติอนุมัติในหลักการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการบริหาร จัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทยดังกล่าวมิได้ทำให้สถานะของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนแปลงไป และแม้จะมีการจัดตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ยังถือหุ้นร้อยละร้อย บริษัทลูก 2 บริษัท ก็ยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่า การมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทยดังกล่าว เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น