“เอแบคโพลล์” เผยผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นภาวะ ศก.รัฐบาล “ปู 1” ค่าดัชนีชี้วัดต่ำกว่า 100 ทุกตัว ผิดหวังนโยบายหาเสียงทำไม่ได้จริง ผลสำรวจบ่งชี้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง ราคาสินค้าไม่ลงตามน้ำมัน ค่าครองชีพแพง ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่ยังดีกว่าปลายยุครัฐบาลมาร์ค เพราะราคาน้ำมัน เนื้อหมู เริ่มปรับลง
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC - SIMBA) โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 (ABAC Consumer Sentiment Index : ACI) กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา จำนวน 2,764 ตัวอย่าง ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-31 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ทั้งหมดที่ www.abacpolldata.au.edu
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 พบว่า เมื่อค่าอ้างอิงความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 100 จุด ปรากฏว่า ประชาชนผู้บริโภค “ไม่เชื่อมั่นในทุกตัวชี้วัด” เพราะค่าดัชนีที่วัดได้ ต่ำกว่า 100 จุดในทุกตัว ได้แก่ ไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบันเพราะได้เพียง 49.0 จุด แต่ถ้าในอีก 3 เดือนข้างหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจได้เพิ่มเป็น 82.6 จุด ซึ่งยังไม่ถึงจุดเชื่อมั่น
นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในเรื่องรายได้ในปัจจุบันของประชาชนแต่ละคนเพราะมีค่าดัชนีที่วัดได้เท่ากับ 70.6 จุด และในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนก็ยังไม่เชื่อมั่นในเรื่องรายได้ของตนเช่นกันเพราะมีค่าดัชนีเท่ากับ 98.7 จุด ซึ่งก็ยังเป็นค่าที่ต่ำกว่า 100 จุดอันเป็นค่าอ้างอิงของความเชื่อมั่น ยิ่งไปกว่านั้น ค่าดัชนีที่ค้นพบต่ำที่สุดได้แก่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน ประชาชนไม่เชื่อมั่น เพราะมีค่าดัชนีที่วัดได้เพียง 15.6 จุด และในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในขั้นวิกฤต คือได้เพียง 36.0 จุดเท่านั้น
เมื่อวัดความเชื่อมั่นในเวลาที่เหมาะสมซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ พบว่า ประชาชนผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่น เพราะวัดค่าได้เพียง 33.5 จุด ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าค่าอ้างอิงที่ระดับ 100 จุด และในอีก 3 เดือนข้างหน้าประชาชนผู้บริโภคยังคงไม่เชื่อมั่นในเวลาที่เหมาะซื้อสินค้าคงทนเช่นกัน เพราะค่าที่วัดได้เท่ากับ 35.3 จุดเท่านั้น เช่นเดียวกัน ประชาชนผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นต่อโอกาสในการหางานทำ เพราะวัดค่าได้เพียง 37.8 จุด อันเป็นค่าต่ำกว่าค่าอ้างอิงที่ระดับ 100 จุด
และในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนผู้บริโภคก็ยังไม่เชื่อมั่นต่อโอกาสในการหางานทำ เพราะวัดค่าได้เพียง 51.0 จุด และเมื่อประเมินความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยภาพรวมพบว่าอยู่ที่ 51.01 จุด หมายความว่า ประชาชนผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนในเวลานี้เพราะเป็นค่าที่ต่ำกว่าค่าอ้างอิงที่ระดับ 100 จุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคระหว่าง ช่วงปลายของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ กับช่วงแรกภายหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ 1 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงแรก หลังตั้งคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 ปรับตัวสูงกว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงปลายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชาชีวะในเกือบทุกตัวชี้วัด ยกเว้นเรื่องการวางแผนซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ที่ยังไม่มีการปรับตัวดีขึ้นแต่อย่างใด รวมถึงโอกาสหางานทำในปัจจุบันด้วย
ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลสำรวจหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ 1 พบว่า คนรวยมีรายได้สูง ก็ยิ่งเห็นว่ารายได้ปัจจุบันของตนเองดีขึ้น ในขณะที่คนมีรายได้น้อยก็ยังมองว่ารายได้ปัจจุบัน “แย่ลง” มากกว่าคนที่มีรายได้สูง โดยพบว่า คนรายได้มากกว่า 75,000 บาท ร้อยละ 42.3 เห็นว่ารายได้ของตนเองในปัจจุบันดีขึ้น แต่คนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท ที่มองว่ารายได้ของตนเองดีขึ้นมีอยู่เพียงร้อยละ 7.6 เท่านั้น แต่ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มนี้ร้อยละ 39.3 มองว่ารายได้ปัจจุบันของพวกเขากำลังแย่ลง
ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ คนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ที่มองว่า รายได้ของตนเองในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น สูงกว่า คนในภาคอื่นๆ คือ ภาคเหนือมีอยู่ร้อยละ30.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอยู่ร้อยละ 23.3 คนภาคกลางมีอยู่ร้อยละ 21.2 คนกรุงเทพมหานครและคนภาคใต้มีจำนวนผู้ที่มองว่ารายได้ของตนเองจะดีขึ้น ต่ำกว่าคนในภาคอื่น โดยคนกรุงเทพมหานครอยู่ที่ ร้อยละ 16.4 และคนภาคใต้ต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 13.5 เท่านั้น
ดร.อุดมกล่าวว่า ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจหลังตั้งคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 เกิดจากปัจจัยลบ คือ กระแสข่าวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนผิดหวังในเรื่อง ค่าแรง 300 บาทต่อวัน และเงินเดือน 15,000 บาทของผู้จบปริญญาตรี รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังสูงอยู่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภัยพิบัติที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และความวุ่นวายทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงขึ้นกว่าช่วงปลายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือ แนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่มุ่งไปยังการกระตุ้นเศรษฐกิจประชาชนรากหญ้าและระดับครัวเรือน เช่น การเพิ่มรายได้ การปรับลดราคาน้ำมัน ราคาเนื้อหมูที่เริ่มลดลง แต่อย่างไรก็ดีระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยภาพรวมยังไม่พ้นขีดวิกฤตที่จะมุ่งสู่ระดับเชื่อมั่นได้ในช่วงเวลานี้
“รัฐบาลควรเร่งสร้างให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติขับเคลื่อนนโยบายที่ได้ประกาศไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มรายได้และ ลดภาระค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้”
ในขณะที่ ดร.นพดลกล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังตั้งคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ปรับตัวสูงกว่าช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์แต่ยังอยู่ในขอบเขตวิกฤตโดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า และมีข้อมูลที่ยังคงตอกย้ำว่า คนรวยก็รวยมากยิ่งขึ้น คนจนก็ยังจนเหมือนเดิมและจะแย่ลงไปอีก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเพียงการตอบรับเชิงจิตวิทยาต่อตัวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 และเป็นผลพวงจากการเลือกตั้งที่ทำให้ระดับความเชื่อมั่นในตัวชี้วัดด้านรายได้ของคนภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าภาคอื่นๆ แต่ถ้าในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า รัฐบาลยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้ชัดเจน และชาวบ้านยังสับสนในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่นนี้ต่อไป ผลที่ตามมาคือ ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่น่าจะพ้นขีดวิกฤตได้ และไม่มีพลัง ที่มากพอจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ดุลยภาพโดยรวมได้
“ทางออกคือ รัฐบาลต้องเปลี่ยน “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” มาเป็น “พลังศรัทธา” และวางใจต่อการทำงานของรัฐบาล ทางออกคือ 1) เผยแพร่ข้อมูลข่าวดีที่เป็นจริงอย่างต่อเนื่องกระตุ้นความศรัทธาของสาธารณชนต่อรัฐบาล 2) เน้นนโยบายปฏิรูปกฎหมายเอื้อต่อการเสริมความแข็งแกร่งในระบบเศรษฐกิจรากหญ้า เช่น สัญญาธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมในกลุ่มผู้ประกอบการระดับรากหญ้า การถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และสัญญาข้อผูกมัดที่ หลอกหลวงประชาชน และ 3) เน้นนโยบายกระจายทรัพยากร เช่น การกระจายกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินทำกินของเกษตรกรระดับปัจเจกบุคคล มากกว่าระดับชุมชนเพียงอย่างเดียว งบประมาณอุดหนุนอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และระบบพิกัดอัตราภาษีในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น”
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 54.4 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 45.6 เป็นเพศชาย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า ร้อยละ 6.4 ระบุอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 21.8 อายุ 25-35 ปี ร้อยละ 31.7 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 37.7 ระบุอายุ 46-60 ปี และร้อยละ 2.4 ระบุอายุ 61 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 81.4 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 18.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ร้อยละ 34.7 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ ร้อยละ 33.0 เป็นเกษตรกร/รับจ้างแรงงาน ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 8.5 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.5 ระบุเป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 4.6 ระบุเป็นผู้ประกอบการ ร้อยละ 2.5 เป็นนักศึกษา ร้อยละ 1.3 ระบุว่างงาน และร้อยละ 0.3 ระบุอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือน พบว่า ร้อยละ 76.0 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ