ครม.แต่งตั้ง “อัญชลี วานิช เทพบุตร” เป็นเลขาธิการนายกฯ ขณะเดียวกัน อนุมัติให้ กอ.รมน.ใช้ ม.21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอนำร่อง จ.สงขลา พร้อมเห็นชอบให้ปี 2554 เป็นแแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกกันน็อก 100% ในหน่วยงานรัฐ
นพ.มารุต มัสยวานิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ (4 ม.ค.) เห็นชอบการแต่งตั้งนางอัญชลี วานิช เทพบุตร ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบตามที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กำหนดในพื้นที่ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี จ.สงขลา เป็นพื้นที่ที่จะประกาศใช้ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 การประกาศกำหนดลักษณะความผิดอันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
โดยเรื่องดังกล่าวนั้น เดิมที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ออกประกาศข้อกำหนดในมาตรา 15, 16 และมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรนั้น และมีการดำเนินการตามลำดับ มีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก มีการประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง มีความเห็นสมควรว่าจะต้องมีการนำเอามาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้
นายศุภชัยกล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่นำผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคง ด้วยความหลงผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเปิดโอกาสให้ปรับตัวเพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตาสมวิธีการและขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด โดยการเข้ารับการอบรมหรือการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และสิทธิทางคดีอาญาให้ระงับไป เป็นทางเลือกในการเบี่ยงเบนคดีจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ ที่เคยมีการนำแนวคิดเช่นนี้มาใช้ใน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดปี 2545
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบตามที่ รมว.มหาดไทย รองประธานกรรมการและรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เสนอ ประกาศให้ปี 2554 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% โดยให้หน่วยงานภาคราชการ องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมาตรการเพื่อรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย
โดยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 ซึ่งกำหนดมาตรการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบายความปลอดภัยทางถนนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้แล้ว โดยให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งกำชับให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ในสังกัดปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบายความปลอดภัยทางถนน เรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายและให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อไป