xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.รส.เพิ่ม 68 จุดตรวจขึ้นลงทางด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศอ.รส.สั่งเพิ่มด่านตรวจบริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วนอีก 68 จุด “สรรเสริญ” รับทหาร-ตร.หนักใจระเบิดป่วนเมือง ยืนยันทำงานเต็มที่แล้ว วอนสื่ออย่าตกเป็นเครื่องมือคนร้ายที่ต้องการดิสเครดิตเจ้าหน้าที่รัฐ


ที่กองอำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) เมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ (24 มี.ค.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอ.รส. แถลงผลการประชุม ศอ.รส.ว่า รอบเช้ามี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.เป็นประธานการประชุม ซึ่งได้มีการสรุปข้อมูลและเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นที่กรมบังคับคดี ศาลากลาง จ.นนทบุรีำ และได้สั่งการเพิ่มมาตรการบนทางด่วน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามีข้อสันนิษฐานว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุพยายามใช้ทางด่วนเป็นจุดที่จะยิงระเบิด จึงได้สั่งการเพิ่มจุดตรวจบนทางด่วน 68 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่ล่อแหลมเส้นทางขึ้นและลง ทั้งนี้ ได้ประสานกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อจะตรวจสอบกล้องซีซีทีวี ซึ่งมีอยู่ 180 กล้อง และของดอนเมืองโทลล์เวย์อีก 26 กล้อง เป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราเส้นทาง หรือข้อมูลหลักฐานในการสืบสวนสอบสวน

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ได้รายงานเหตุระเบิดในสองจุดที่เกิดขึ้นให้ ศอ.รส.ได้รับทราบตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งถือเป็นความหนักใจของ ศอ.รส.ทั้งทหาร ตำรวจ ในเรื่องการสร้างสถานการณ์ การยิงระเบิด และ การสืบสวน สอบสวนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุก็มีน้อย สื่อถือเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยสื่อเองจะสามารถปะติดปะต่อเรื่องได้ว่า การสร้างสถานการณ์มีความเชื่อมโยงกันในแต่ละครั้ง วิธีการสร้างสถานการณ์เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วก็จะขยายผลในทางสื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องถูกต้องที่สื่อต้องทำหน้าที่สื่ออยู่แล้ว

“เมื่อย้อนไปตอนเกิดข่าวแก๊งค์ปาหินในช่วงหนึ่ง ก็ปรากฎว่าเริ่มมีการปาหินทุกวัน แต่พอช่วงหลัง สื่อได้พิจารณาและได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้นำเสนอในมุมที่ทำให้สังคมเครียด คล้ายกับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมาตรการที่ล้มเหลว ทำให้สถานการณ์ให้ดีขึ้น อยากขอให้สื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในการนำเสนอผ่านสื่อ อยากจะให้สื่อช่วยกับประณามกลุ่มที่พยายามสร้างสถานการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ยอมรับอยู่แล้ว เราก็พยายามทำงานเต็มที่และไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่ขอความเห็นใจว่าเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องที่ยาก อยากให้สื่อเสนอแง่มุมข่าวในเรื่องของระเบิด ไม่ให้เป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ไม่หวังดี ที่พยายามสร้างสถานการณ์ เชื่อมั่นว่าถ้าเราเห็นตรงกันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าจะเปลี่ยนเป้าในการระเบิดไปที่บุคคลสำคัญ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า คงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาเป้าหมายของเขาเป็นสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่มากที่สุด ซึ่งการเกิดเหตุยิงระเบิดจะเกิดในพื้นที่เดิมๆ เมื่อใน กทม.มีการต่อพ.ร.บ.ความมั่นคง เหตุจึงไปเกิดที่ นนทบุรี ซึ่งกลุ่มที่ก่อเหตุพยายามเลือกจุดที่มีจุดตรวจน้อย แต่ให้เป็นเหตุที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐ

เมื่อถามว่า พื้นที่ กทม. เวลานี้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ทหารตำรวจเต็มกำลัง แต่ยังมีเหตุร้ายขึ้นรายวันเจ้าหน้าที่ไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีอะไรที่เจ๋งไปกว่านี้แล้ว คือ การเพิ่มจุดตรวจ สายตรวจ ซึ่งเราก็แทบไม่ได้หลับ ได้นอน เป็นเรื่องที่ป้องกันยาก กรุงเทพฯ มีพื้นที่กว้าง มีจุดตรวจ 300 จุด เมื่อนำ 50 เขตในกทม.มาหาร ก็จะมีจุดตรวจ เขตละ 6 จุด ถึงแม้ในแต่ละจุดจะมีหลายคน และมีสายตรวจก็ตาม แต่ด้วยพื้นที่มีความกว้างก็ทำได้ยาก บ้านเมืองของเราไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ ทหาร เท่านั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน ส่วนงานด้านการข่าวต้องเข้มข้นมากขึ้น

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นขณะนี้มีจำนวน 16 ครั้ง ส่วนความคืบหน้าในการหาตัวคนก่อเหตุนั้น ตอนนี้ได้มีการออกหมายจับแล้ว และจากรายงานใน ศอ.รส. ตำรวจมีความมั่นใจว่า สามารถหาตัวผู้กระทำผิดในกรณีนี้ได้ และเชื่อมั่นว่าเมื่อได้ตัวอาจจะผูกโยงไปถึงกรณีอื่นๆที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนที่มองว่าอาจเกี่ยวกับนักการเมืองนั้น ไม่คิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้อง สำหรับการระบุถึงอาร์พีจีที่นำมาใช้ก่อเหตุอาจเข้ามาจากชายแดนไทยกัมพูชานั้น เราไม่ได้ลงรายละเอียดว่ามาจากกัมพูชา หรือเอามาจากที่ไหน แต่อาร์พีจีเคยเป็นอาวุธสงครามในสมัยก่อน ปัจจุบันการบรรจุอาวุธประเภทนี้เป็นอุปกรณ์หลักของกองทัพ ก็ไม่มีแล้ว เพียงแต่ในสมัยก่อนอาวุธเหล่านี้หลังจากเลิกใช้ไปแล้วก็มีบางส่วน บางคนที่เก็บเอาไว้ ซึ่งเป็นพวกที่อยู่นอกกฎหมาย และพยายามจะหยิบพวกนี้ออกมาใช้สร้างสถานการณ์ ก่อเหตุรุนแรง

พ.อ.สรรเสริญกล่าวถึงกรณีที่คนเสื้อแดงจับกุมเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวของกองทัพที่แฝงตัวเข้าไปที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า ยอมรับว่าเป็นกำลังพลของกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) เข้าปฏิบัติหน้าที่ เราไม่โทษกลุ่มผู้ชุมนุมอาจเป็นวิธีดูแลความปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมเป็นเจ้าหน้าที่การข่าว เพื่อช่วยดูแลว่าใครจะพกพาอาวุธมาชุมนุมหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ไม่พกอาวุธและไม่ทำผิดและอยู่ในที่สาธารณะก็ไม่มีสิทธิจับกุมเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อล๊อคตัวแล้วเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพเขาก็ต้องปล่อยตัว ส่วนบัตร นปช. ที่เขามีติดตัวนั้น เขาจำเป็นต้องมีบัตร เพราะต้องกลมกลืนจึงจะปฏิบัติภารกิจสำเร็จ ซึ่งไม่ว่าม็อบสีไหนเราก็มีเจ้าหน้าที่การข่าวไปปฏิบัติหน้าที่ตลอด ส่วนที่บอกว่าทหารแตงโมนั้น ไม่ว่าอาชีพทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ก็มีความคิดแตกต่างกัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ส่วนความคิดหลังเลิกงานไม่มีใครบังคับความคิดเขาได้

เมื่อถามว่า ศอ.รส.จับทหารที่เป็นสปายมาเก็บข้อมูลการประชุมได้ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการทำบัตรผู้เข้าร่วมประชุม ศอ.รส. ส่วนจับกุมได้แล้วหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูล ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบรักษาความปลอดภัยของส่วนข่าวร่วมของ ศอ.รส. จะจัดทำบัญชีกำลังพลที่แน่นอน และมีมาตรการของการผ่านเข้าออกการประชุม

กำลังโหลดความคิดเห็น