“วีระชัย” เผยจีนรับข้อเสนอ “มาร์ค” เปิดข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขงให้มากขึ้น อ้างจีนก็แล้งหนัก แบ่งรับแบ่งสู้จัดประชุมทางวิชาการแก้ปัญหาแม่น้ำโขงแห้ง ขณะที่ ส.ว.แฉข้อมูลจีนกักเก็บน้ำ จึ้รัฐใช้เวที กก.ลุ่มแม่น้ำโขงถก พร้อมเจรจาจีนเปิดทาง 5 ประเทศ เข้าตรวจสอบเงื่อน
นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายหู เจิ้ง เย่ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เข้าหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถึงการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำในแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า นายอภิสิทธิ์ ได้ขอความร่วมมือกับประเทศจีนให้ข้อมูลเรื่องน้ำ ตลอดเวลาไม่ใช่ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น และในขณะนี้มีความไม่เข้าใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้มีการจัดการประชุมทางวิชาการ เพื่อนำความคิดมาอธิบายกัน ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศจีนก็รับทราบข้อเสนอของนายกฯแล้ว
อย่างไรก็ตาม จีนอธิบายว่า เขื่อนที่มณฑลยูนนาน ก็ประสบปัญหาภัยแล้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี แต่อย่างน้อยก็จะสนับสนุนแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ คือ จะเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น และดูว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้มีการจัดการประชุมทางวิชาการ
ส่วนการประชุมที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน คือ การประชุม Mekong River Commission (MRC) ทั้ง 4 ประเทศได้แก่ กัมพูชา ลาว ไทย และ เวียดนาม แต่พม่าและจีนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะมีการประชุมที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 2-5 เมษายน และเป็นการประชุมที่มีทุกปีอยู่แล้ว ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นแม่งานอยู่แล้ว
ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง ในกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นายสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ในกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรและนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงความผิดปกติของน้ำในลำน้ำโขง และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเจรจากับรัฐบาลจีนอย่างเร่งด่วน
นายประสาร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6-7 มี.ค.ที่ผ่านมา ตน ผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศ 17 สำนัก ได้เดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนกับประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง และได้ล่องเรือในลำน้ำโขงบริเวณคอนผีหลง-เชียงของ-ปากอิง-ผาได ซึ่งพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีการขึ้นลงเร็วอย่างผิดปกติ โดยจากการล่องเรือ 2 วัน และการพบปะชาวบ้าน พบว่า ในรอบ 10 วันที่ผ่านมารับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ขณะที่ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาระดับน้ำลดลงผิดปกติ โดยในวันที่ 27 ก.พ.2553 ระดับน้ำอยู่ที่ 36 ซม.แต่ในวันที่ 28 ก.พ. 2553 ระดับน้ำอยู่ที่ 56 ซม.ซึ่งสูงกว่าวันที่ 27 ก.พ.ถึง 20 ซม.และวันที่ 7 มี.ค.2553 ระดับน้ำอยู่ที่ 65 ซม.จะเห็นได้ว่าน้ำเพิ่มขึ้นถึง 20 ซม.ภายในวันเดียว ทั้งที่ฝนไม่ตกและไม่มีน้ำในแม่น้ำสาขาอื่นมาเติม เพราะแม่น้ำสาขาล้วนแห้งขอดทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบในปี 2551 ซึ่งน้ำท่อวมหนักในอำเภอเชียงของ เชียงแสนและเวียงแก่น วัดระดับน้ำได้ดังนี้ คือวันที่ 11 ส.ค.2551 มีระดับน้ำอยู่ที่ 11.18 ซม.วันที่ 12 ส.ค.2551 ระดับน้ำอยู่ที่ 12.50 ซม.และวันที่ 13 ส.ค.2551 ระดับน้ำอยู่ที่ 13.60 ซม.
นายประสาร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่น้ำโขงแห้ง หากเกิดจากภาวะโลกร้อนจะต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ แต่การที่ระดับน้ำโขงขึ้นเร็วในเดือน ส.ค.2551 และลงเร็วในเดือน ม.ค.-ก.พ.2553 แล้วกลับมาขึ้นเร็วเมื่อ 28 ก.พ.2553 เนื่องมาจากการเก็บกักและการปล่อยน้ำจากเขื่อนเป็นด้านหลัก นอกจากนี้ นางเตา หลินอิว ผู้ว่าเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ได้แจ้งทางโทรศัพท์กับ นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมานี้ ว่า มณฑลยูนนานแห้งแล้งมาก จึงต้องเก็บกักน้ำในเขื่อนไว้ อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของ 5 ประเทศท้ายน้ำ จึงต้องขึ้นอยู่กับเมตตาธรรมของจีน ว่า จะเปิดหรือปิดเขื่อนอย่างไร เพราะขณะนี้เสมือนว่าจีนจะถือเอาแม่น้ำโขงเป็นสมบัติของตนเอง
ด้าน นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลไทยเอาเวทีประชุมคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงที่จะมีการประชุมในต้นเดือน เม.ย.นี้ที่หัวหิน บรรจุเรื่องเขื่อนจีนสร้างผลกระทบต่อแม่น้ำโขงเป็นวาระสำคัญและเร่งด้วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรเร่งเจรจากับรัฐบาลจีนทันที เพื่อเปิดทางให้อีก 5 ประเทศได้เข้าตรวจสอบการเก็บกักน้ำของเขื่อนจีนโดยเปิดเผย เพื่อสรุปข้อเท็จจริงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรมอบหมายให้มีหน่วยราชการหรือคณะกรรมการที่มีภารกิจเฉพาะแน่นอนในการเป็นเจ้าภาพตรง เพื่อแก้ปัญหาแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้ปัญหาแม่น้ำโขงไร้ผู้รับผิดชอบอย่างที่เป็นอยู่ และรัฐบาลไทยควรหาทางร่วมกับอีก 5 ประเทศรวมทั้งจีน เพื่อปรึกษาหารืออย่างสร้างสรรค์ในการกำหนดกติการ่วมกันในการบริหารจัดการน้ำโขงร่วมกันอยางยั่งยืนด้วยไมตรีจิตมิตรภาพแบบเดียวกับแม่น้ำดานูบในยุโรป