ที่ประชุม ป.ป.ช.รับลูกคำพิพากษาศาลฎีกา เดินหน้าเอาผิด “ทักษิณ” พิจารณา 4 เรื่อง ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ-ปกปิดทรัพย์สิน เมินข้อโต้แย้งทีม กม.แม้ว อ้างไม่มีอำนาจรับสำนวนอดีต คตส.มาดำเนินต่อ พร้อมชี้ทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอมีมูล ปรับองค์คณะใหญ่ไต่สวนเอง
วันนี้ (2 มี.ค.) นายอภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า การประชุม ป.ป.ช.เป็นการพิจารณาเรื่องการดำเนินการของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการรายงานต่อที่ประชุม ว่า ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ที่ผ่านมานั้น มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.รวม 4 เรื่อง คือ
1.กรณี นายวีระ สมความคิด กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของอดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่ออีก 3 เรื่อง คือ
2.เรื่องกล่าวหาคณะกรรมการ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการบริหารงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อให้มีการพิจารณาลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการบัตรเติมเงินมือถือแบบจ่ายเงินล่วงหน้า (Pre-Paid) โดยมิชอบ 3.เรื่องกล่าวหาคณะกรรมการ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้บริหาร บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น และผู้บริหาร บมจ.กสท โทรคมนาคม แก้ไขสัญญาอนุญาตให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ดำเนินการกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ 7) เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) ระหว่างผู้ให้บริการรายอื่น และอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายจากการ Roaming ก่อนนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้กับ บมจ. ทีโอที และปรับลดอัตราค่าใช้จ่ายเครือข่ายร่วมระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม กับบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด
4.เรื่องกล่าวหาการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบด้วยสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) และเรื่องการอนุมัติให้ใช้เงินสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศอันเป็นการขัดต่อสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด และเรื่องกล่าวหาการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทฯ จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ทั้ง 3 เรื่องที่ คตส.ส่งมาให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงไปก่อนหน้านี้แล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะได้ขอคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์จากศาลฎีกาฯ สำหรับนำมาพิจารณาประกอบ ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของอดีตนายกรัฐมนตรี และการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาทั้ง 3 เรื่องตามขั้นตอนต่อไป
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงกณีฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ เตรียมยื่นอุทธรณ์ โดยอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจรับคดีต่างๆ มาทำต่อจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.คงไม่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา เพราะหากฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ ก็เท่ากับไม่ยอมรับอำนาจของศาล คงจะลำบาก หากจะให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาในประเด็นนี้
อีกทั้งที่ประชุม ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ในปี 2552 โดยมีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องกล่าวหาดังกล่าว มีบุคคลผู้เกี่ยวข้องที่ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันราชการและสังคมไทยอย่างกว้างขวางด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวนจากคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แทน