xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไม่ใช่คู่กรณีกับคู่ความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประโยคสั้นๆ “ศาลไม่ใช่คู่กรณีกับคูความ” เป็นคำพูดของนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวกับสื่อมวลชน ในวันที่ นำสื่อไปเยี่ยมชมศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผุ้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“อยากเตือนสติทุกคนว่า ศาลไม่ใช่คู่กรณีกับคู่ความ แต่ศาลมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาสำนวนคดีตามพยานหลักฐาน โดยไม่มีอคติแต่อย่างใด”

คำเตือนของเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้เจาะจงไปที่คนหนึ่งคนใด แต่ใครก็ตามที่กำลังร้องขอความยุติธรรม แบบเด็กเลี้ยงแกะ และขู่อาฆาตว่า ถ้าไม่ได้รับความยุติธรรม ในวันพรุ่งนี้ บ้านเมืองจะยุ่งแน่ และจะไปฟ้องศาลโลก ใครคนนั้น กำลังทำให้คนไทยหลงเข้าใจไปว่า เขากำลังสู้กับศาลยุติธรรม และกำลังดึงศาลมาเป็นคู่กรณี เหมือนที่ ดึงองคมนตรีมาเป็นคู่ต่อสู้

ประโยคสั้นๆ “ศาลไม่ใช่คู่กรณีกับคู่ความ” จึงเป็นการดึงคนจำนวนหนึ่ง ที่กำลังหลงเชื่อการบิดเบือน ปลุกปั่นยั่วยุ ของใครคนนั้น ได้กลับมาตั้งหลักคิดเสียใหม่ว่า ใครกำลังสู้อยู่กับใคร

คดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ที่จะมีการอ่านคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ เป็นความระหว่างอัยการสูงสุด กับ นช. ทักษิณ ชินวัตร กับครอบครัว ที่ถูกกล่าวหาว่า ปกปิดการถือหุ้นชินคอร์ป ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และใช้อำนาจหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี แสวงหาประโยชน์ให้กับชินคอร์ป ซึ่งเป็นกิจการที่ได้สัมปทานจากรัฐ ที่ตัวเองมีส่วนได้เสียอยู่

อัยการเป็นทนายของแผ่นดิน เป็นตัวแทนของประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมซุกหุ้น และมีผลประโยชน์ทับซ้อนของ นช. ทักษิณ นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ให้ชี้ขาดว่า นช. ทักษิณ ทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่

คู่ความในคดีนี้ กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว จึงเป็น ประชาชนกับ นช. ทักษิณ นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน คู่ความทั้งสองฝ่าย ต่อสู้นอกศาลกันมาโดยตลอด โดยที่ นช. ทักษิณ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อพลังประชาชน เพราะตั้งโจทก์ผิด คิดแต่ว่า กำลังสู้กับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญบ้าง สู้กับมือที่มองไม่เห็นบ้าง สู้กับอำมาตย์บ้าง แต่คู่ต่อสู้ตัวจริงคือ ประชาชนที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำ

สุดท้ายแล้ว เพื่อหาข้อยุติ จึงมีการนำข้อพิพาท กล่าวหา ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล ให้ใช้ความเป็นธรรม หาข้อยุติ ระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่าย

นช. ทักษิณ แม้จะโจมตีให้ร้ายศาลยุติธรรมมาโดยตลอด กล่าวหา เป็นผู้ยุติความเป็นธรรม แต่ก็ยังนำเอาความขัดแย้งนอกศาลระหว่างตัวเองกับประชาชน มาแสวงหาข้อยุติจากศาลอยู่อย่างสม่ำเสมอ มิใช่หรือ

สำนวนที่อัยการยื่นฟ้อง เป็นสำนวนการสืบสวน สอบสวนของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส. ที่ผ่านมา ในคดีอื่นๆ นช. ทักษิณ กับพวก ใช้ข้อต่อสู้ที่เป็นข้อกฎหมายมาโดยตลอดว่า คตส. มาจากการยึดอำนาจ ไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมายในการตรวจสอบ และฟ้องคดี แต่ทุกคดี ศาลก็ยืนยันตามคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่า คตส. มีอำนาจตามกฎหมาย ในการตรวจสอบ และส่งสำนวนให้อัยการฟ้องคดี หรือแม้แต่ยื่นฟ้องคดีเองก็ได้

ผิดถูกอย่างไร นช. ทักษิณจะผิดหรือไม่ อยู่ที่ดุลพินิจของศาล ที่จะพิจารณาตามพยานหลักฐาน และข้อกฎหมาย คตส. หรือ อัยการ เมื่ออยู่ต่อหน้าบัลลังก์ศาลก็คือ คู่กรณีฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิ ไม่มากไปกว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือ นช. ทักษิณกับครอบครัว เมื่ออยู่ต่อหน้าศาล โจทก์และจำเลย ผู้ร้องกับผุ้ถูกร้อง มีศักดิ์และสิทธิเท่าๆกัน

ถ้านช. ทักษิณ จะถูกยึดทรัพย์ในวันพรุ่งนี้ ก็เพราะว่า ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้าง ข้อกล่าวหาของ อัยการได้ ไม่ใช่เพราะว่า ศาลไม่ยุติธรรม และถ้า นช. ทักษิณ จะไม่ถูกยึดทรัพย์ ก็เพราะว่า สามารถต่อสู้กับ “ข้อกล่าวหาลอยๆ” ของอัยการได้ ไม่ใช่เพราะศาลเข้าข้าง นช. ทักษิณ

ที่ผ่านมา นช. ทักษิณ อาจจะคิดจริงๆก็ได้ว่า ตัวเองกำลังสู้กับศาล ไม่ได้สู้กับคู่ความ ดังนั้น จึงมีกรณีล้อบบี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีซุกหุ้นภาค 1 กรณี ถุงขนม 2 ล้านบาท ในคดีที่ดินรัชดา ซึ่งเป็นการสู้โดยใช้ไม้นวม เอาน้ำย็นเข้าลูบ ใช้สินบนเข้าล่อ แต่ครั้งนี้ ใช้ไม้แข็ง ข่มขู่ คุกคาม อาฆาตมาดร้าย

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เกิดขึ้นตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่ง นช. ทักษิณ ยกย่องว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ด้วยเจตนารมณ์ ที่ต้องการตรวจสอบ และลงโทษ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ใช้อำนาจหน้าที่ ทุจริต คอร์รัปชั่น และเพื่อให้การดำเนินคดีในชั้นศาลเป็นไปด้วยความ รวดเร็ว ให้ผู้ทำผิดได้รับกรรมทันตาเห็น และ "เที่ยงธรรม" จึงกำหนดให้มี แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขึ้นในศาลฎีกา เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน ที่ได้รับเลือกด้วยวิธีลงคะแนนลับจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นรายคดีเป็นองค์คณะผู้พิพากษา

ที่มาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และองค์คณะผู้พิพากษาในดคียึดทรัพย์ จึงมีความชอบธรรม ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย คำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ จึง เป็นไปตามหลัก “กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา” ใครทำอะไรไว้ ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น