xs
xsm
sm
md
lg

“ประเวศ” แนะนายกฯ ตั้ง คกก.ยุทธศาสตร์สันติ ตีกรอบชุมนุมสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.ประเวศ วะสี
ราษฏรอาวุโส แนะนายกตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ แก้ปัญหาการชุมนุมสาธารณะ เพื่อวางกรอบกติกาโดยให้สังคมเข้ากำกับให้การชุมนุมเป็นไปโดยสร้างสรรค์

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น ถ.วิภาวดีรังสิต คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” โดย นพ.ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษมีใจความตอนหนึ่งว่า สังคมประชาธิปไตยเรื่องของการชุมนุมสาธารณะนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนได้แสดงเหตุผลของความเดือนร้อน แต่ทั้งนี้ต้องมีกรอบ กติกา กลไก และมีสังคมเข้ามากำกับ เพื่อการชุมนุมจะได้เป็นไปอย่างสันติ และสร้างสรรค์ แต่ในความเป็นจริงกติกาการชุมนุมนั้นปฏิบัติได้ยาก เพราะมักจะมีการปลุกอารมณ์โดยไม่ใช้เหตุผล ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และจะนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่กติกาหนึ่งที่น่าจะกำหนดได้ง่ายคือ การห้ามไม่ให้ฆ่ากันหรือเผาบ้านเผาเมือง รวมทั้งในส่วนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องกำหนดกรอบกติกาว่าไม่สามารถใช้อาวุธปืน หรือแก๊สน้ำตาควบคุมการชุมนุม

นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า ในส่วนด้านกลไกนั้นจำเป็นต้องมีกรรมการคอยกำกับให้เป็นไปตามกติกา ซึ่งตนขอเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ” โดยมีนายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายมาร์ค ตามไท ผอ.สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ ม.บูรพา นายบัณฑร อ่อนดำ นักวิชาการอิสระ นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชำนาญด้านสันติวิธีและมีจิตใจดี ตนคิดว่าน่าจะนำมาช่วยงานได้ แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องให้สังคมเป็นผู้ดูและช่วยกำกับด้วย

ด้าน นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ในรัฐบาลของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ลิดรอนสิทธิของการชุมนุม ในอดีตเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นเครื่องมือของคนระดับล่างที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาปากท้อง แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมสาธารณะกลายเป็นเครื่องมือของการสื่อสารความคิดทางการเมือง ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการที่จะตกผลึกเป็นรากฐานในการเป็นนิติรัฐ

นายคณิตกล่าวต่อว่า ขณะที่ยังไม่มีกฎหมายเรื่องการชุมนุมที่ชัดเจน รัฐจึงนำกฎหมายอื่นที่มาใช้แทนที่อาจไม่สอดคล้องกับการรับรองเสรีภาพในการชุมนุม สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมรัฐบาลได้ดำเนินการตรากฎหมายตั้งแต่ปี 36 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ ตนคิดว่ากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะถือเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น