xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์เลขานายกฯ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กับบทบาทประธานครม.น้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การที่นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ถ้าจะมองเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างไร ก็มองได้ แต่ในแง่ปฏิบัติ ผมคิดว่าเรื่องนึ้ไม่ใช่ของใหม่เลย สมัยท่านประสงค์ สุ่นศิริ ทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ท่านก็ทำแบบนี้ หลายๆคนเขาก็ทำแบบนี้ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมถึงได้เป็นประเด็น จริงๆไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมเองก็เอาแบบฟอร์มของคนเก่าที่เขาเคยทำ มาทำดูบ้าง มันก็เท่านั้นเอง

ตำแหน่ง “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” ถือเป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ในเก้าอี้นี้ ต้องเป็นที่ไว้วางใจของนายกรัฐมนตรี เพราะต้องคอยดูแลกลั่นกรองในทุกๆเรื่องที่จะผ่านมาถึงมือนายกรัฐมนตรี หากจะว่าไปแล้วมันคือการทำหน้าที่ม้าใช้ หรือ “เบ้” ดังที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เปรียบเปรยไว้

หลังจากที่นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้โยกนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแทน

เหตุเพราะนายกอร์ปศักดิ์ ทำงานร่วมกับนายอภิสิทธิ์ ภายใต้คณะทำงานที่ใกล้ชิดมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงที่ประชาธิปัตย์ผลัดใบก้าวสู่ทศวรรษใหม่ นายกอร์ปศักด์ ถือเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ร่วมผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี50 เขาก็ทำประชาสัมพันธ์รณรงค์หาเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ จนเป็นที่ไว้วางใจ กระทั่งก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เขาก็มาในโควต้าของนายอภิสิทธิ์ เมื่อหลุดจากตำแหน่งรองนายกฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายอภิสิทธิ์ จะเลือกนายกอร์ปศักดิ์ จะมาทำหน้าที่นี้ให้กับตัวเอง

แถมล่าสุดยังมอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สวมหมวกเพิ่มอีกหนึ่งใบคือการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ปคค.) หรือในทางการเมืองเรียกกรรมการชุดนี้ว่าเป็น ครม.น้อย

โอกาสนี้นายกอร์ปศักดิ์ เปิดเผยต่อ “เอเอสทีวีผู้จัดการ” ว่า งานของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีภายใต้คณะกรรมการ ปคค. ส่วนใหญ่เป็นงานในลักษณะติดตามงาน ตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ฉะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องงานนโยบาย แต่เป็นเรื่องนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่เข้าก็ตาม

เรามีหน้าที่ต้องไปติดตามว่า มันเกิดผลในทางปฏิบัติหรือไม่และมีอุปสรรค์อย่างไร และรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

กอร์ปศักดิ์เปิดเผยความคืบหน้าในงานที่สำคัญนี้ว่า ขณะนี้การประชุม ปคค. ในฐานะคณะกรรมการติดตามประสานงานให้โครงการทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันครั้งแรกแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา มีปลัดกระทรวงมาร่วมกันเกือบทุกกระทรวงและทุกคนเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าเรื่องของนโยบาย

“โดยโอกาสพบกันครั้งแรกได้ขอให้ปลัดกระทรวงมาประชุมร่วมกัน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นในทุกๆวันอังคาร เริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 – 16.00 น. ทั้งนี้ไม่ได้หมายความปลัดทุกระทรวงจะต้องมา แต่หมายความว่าหากมีเรื่องของกระทรวงใดเข้าครม.ครั้งนั้น ก็ให้ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหรือมอบหมายใครมาแทนก็ได้ โดยกำชับไปว่าต้องตรงเวลา เพราะอาจมีหลายเรื่องที่ต้องคุยกัน การหารือมันต้องกระชับ” ประธานปคค.พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และว่า

“ผมในฐานะประธาน ปคค.ยอมรับว่า ต้องระมัดระวัง เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ไม่อยากถูกมองว่า เข้าไปล้วงลูก ทั้งนี้หากเป็นงานเฉพาะกระทรวงเราเกือบจะไม่เข้าไปยุ่งเลย เพียงแต่ให้มารายงานเฉยๆว่า ทำไปถึงไหนแล้ว แต่หากเป็นงานที่ต้องร่วมกันทำหลายๆกระทรวง เราจำเป็นต้องประสาน เพราะตรงนี้คือปัญหา เพราะที่ผ่านมาแต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ

เช่น เรื่องที่เห็นชัดๆคือโครงการประกันรายได้ที่ต้องร่วมกันดำเนินงานถึง 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ( ธกส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ทำเรื่องทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่ทำเรื่องการพยุงราคาสินค้า

ฉะนั้นนโยบายลักษณะนี้ต้องใช้ถึง3 กระทรวง จำเป็นต้องบริหารให้สอดคล้องกัน คณะกรรมการชุดนี้จึงต้องมีปลัด 3 กระทรวงมานั่งคุยกัน ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์ ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดหรือต่างคนต่างทำ”

เป็นยุทธวิธีที่จะทำให้งานนโยบายเดินหน้าไม่สะดุด ด้วยการประสานและติดตาม แต่หากเจอว่างานขับเคลื่อนช้าหรือเดินไม่ได้ กอร์ปศักดิ์บอกวิธีสะสางปัญหาว่า

หากพบปัญหาเราก็ต้องเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งแล้วแต่นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีหรือสั่งการโดยตรงก็แล้วแต่นายกฯ

อย่างไรก็ดี กอร์ปศักดิ์ก็อดห่วงไม่ได้ว่าจะมีถูกโจมตีในภายหลังกับการหน้าที่ตรงนี้ เลยเปรยฝากมาว่า

“ขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เป็นการกลั่นกรอง แต่เป็นการติดตามผลจากมติคณะรัฐมนตรี เพราะก่อนที่เรื่องจะถึง ครม.จะมีการกลั่นกรองตามปกติ แต่เวลาเรื่องมีมติไปแล้วไม่มีคนติดตามว่า เร็วหรือช้า อย่างไรและมีปัญหาในการปฏิบัติหรือไม่ คณะกรรมการชุดนี้จะช่วยดูให้ หากมีปัญหาอยากจะนำกลับมาใน ครม.อีกหรือไม่ก็ค่อยตัดสินใจกัน”

นอกจากเป็นการ “กำจัดจุดอ่อน”ในเรื่องนโยบายไม่เดินหน้าแล้ว การตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา ถูกมองว่าหวังผลทางการเมืองไปพร้อมกัน ซึ่งกอร์ปศักดิ์ได้ชี้แจงว่า

การที่นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ถ้าจะมองเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างไร ก็มองได้ แต่ในแง่ปฏิบัติ ผมคิดว่าเรื่องนึ้ไม่ใช่ของใหม่เลย สมัยท่านประสงค์ สุ่นศิริ ทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ท่านก็ทำแบบนี้ หลายๆคนเขาก็ทำแบบนี้ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมถึงได้เป็นประเด็น จริงๆไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมเองก็เอาแบบฟอร์มของคนเก่าที่เขาเคยทำ มาทำดูบ้าง มันก็เท่านั้นเอง

“สำหรับปัญหาการทำงาน ผมเชื่อว่า มีแน่นอน แต่เราต้องทำให้มันน้อยและไม่ให้เป็นประเด็นการเมือง ผมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ความสามารถหากเจอปัญหาตรงไหนก็ต้องรีบโทรบอกนายกรัฐมนตรีก่อน”

เมื่อถามว่า นายกฯอภิสิทธิ์ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่? กอร์ปศักดิ์บอกว่า งานในหน้าที่นี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ บอกแต่เพียงว่าให้ช่วยไปดูตรงนี้ เพราะมันไม่มีคนติดตาม จะได้เร่งงานให้เกิดผลเร็วขึ้น

การมีคณะกรรมการชุดนี้ มันน่าจะเป็นการปรับโฉมใหม่ ในหน้าที่ของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จากนี้ไปเราจะมีหน่วยที่จะตั้งพิเศษขึ้นมาอีก เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีเรื่องของนโยบาย หมายความว่า ทำเรื่องลักษณะ think tank ให้กับนายกรัฐมนตรี

“ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผมคงไม่มีอะไรพิเศษ เพราะหน้าที่แท้จริงคือเป็น “เบ้” ส่วนที่มองกันว่านายกรัฐมนตรีไว้ใจ จึงได้มานั่งในตำแหน่งนี้ ผมมองเป็นไปได้ เพราะทำงานกับท่านมาหลายปีแล้ว ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านอาจจะคิดว่าเรารู้ใจท่านมากมาย”

แต่ในความคิดกอร์ปศักดิ์ที่มีต่อนายกฯอภิสิทธิ์เป็นอย่างไร? เขาบอกว่า จากการทำงานร่วมกันมากับนายกรัฐมนตรี คิดว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนฉลาด เก่ง คิดไว ไม่ต้องอธิบายนาน บางทีไม่ต้องอธิบายท่านรู้มากกว่าเราด้วยซ้ำ ตรงนี้ทำให้ผมทำงานง่ายขึ้น เราเสียอีกอายุเยอะกว่า การทำงานอาจไม่ฟิตเท่าท่าน

“เวลาที่นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.หลายครั้งพบว่า นายกฯ ทำงานมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆด้วยซ้ำ ในบางครั้งซักถามอยู่คนเดียว นายอภิสิทธิ์ เป็นผู้นำในคณะรัฐบาลได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่งั้นคงทำหน้าที่มาไม่ได้ปีกว่าในสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะลำบากขนาดนี้”

เมื่อรู้คำตอบแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนายกฯอภิสิทธิ์ถึงเลือกกอร์ปศักดิ์มาอยู่ในตำแหน่งสำคัญใกล้ตัว เพราะรู้ใจและหวานแบบนี้...ใครจะไม่เลือกใช้!

กำลังโหลดความคิดเห็น