xs
xsm
sm
md
lg

เสี่ยงส่ง“ปทีป”นั่งผบ.ตร. “อภิสิทธิ์”วัดดวงกับกตช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...กรงเล็บ


ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เราคงได้เห็น “พล.ต.อ.ปทีป” เป็น ผบ.ตร.ตัวจริงเสียที หลังจากที่ต้องนั่งแป้นรักษาการอยู่นานกว่า 4 เดือน หาก “อภิสิทธิ์” ประสบความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยงครั้งนี้ ก็จะทำให้โครงสร้างการบริหารประเทศไม่ถูกบิดเบือน คุ้มค่ากับการยืนหยัดต่อสู้ตามแนวทางที่ถูกต้อง

ถึงเวลาที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี จะบริหารความเสี่ยงอีกครั้ง ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่เป็นศึกยืดเยื้อข้ามปี ด้วยการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ กตช.เพื่อเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ หลังจากที่พยายามมาแล้วสองครั้งแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย กตช. 5 ต่อ 4 โหวตไม่เห็นด้วยกับชื่อ “พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ” ที่ “อภิสิทธิ์” เสนอ แถมยังมีความพยายามที่จะให้ “อภิสิทธิ์” เสนอสองชื่อ โดยเพิ่ม “พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย” ไปอีกคน ทั้งที่ไม่ถูกต้องตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็น ผบ.ตร.เสนอต่อ กตช.พิจารณาเพียงชื่อเดียว

เมื่อ “อภิสิทธิ์” ไม่ยอมอ่อนข้อกับการต่อรองที่ไม่ถูกต้อง การโหวตคว่ำชื่อ “พล.ต.อ.ปทีป” จึงเกิดขึ้น มีการนำเรื่องของสัญญาณพิเศษมาเป็นข้ออ้าง

ต้องบันทึกไว้ว่า กตช.เสียงส่วนใหญ่ที่ร่วมกันฆาตกรรมภาวะผู้นำของ “อภิสิทธิ์” คือ ชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย วิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(ขณะนั้น) เรวัติ ฉ่ำเฉลิม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์

ส่วน กตช.เสียงข้างน้อยที่ยืนหยัดข้าง “อภิสิทธิ์” ในวันนั้นคือ พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ถวิล เปลี่ยนศรี เลขา สมช. และ ปิยะพันธ์ นิมมานเหมินทร์ โดย นพดล อินนา งดออกเสียง

ระหว่างทางก่อนจะมีการเรียกประชุม กตช.เป็นครั้งที่สอง พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ กตช.ผู้ทรงคุณวุฒิ ทนแรงเสียดทานที่มีการกดดันอย่างหนักไม่ไหวลาออกจากการเป็น กตช.

“พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้” ได้รับเลือกจาก กตช.ให้เข้ามาทำหน้าที่แทน

จากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ถูกย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลัง ปปช.ชี้มูลว่ามีความผิดวินัยร้ายแรงจากการสลายการชุมนุม 7 ตุลา

“พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์” ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ รักษาการ ผบ.ตร. ทำให้องค์ประกอบใน กตช.เปลี่ยนแปลงไป และมีความหวังมากขึ้นว่า “พล.ต.อ.ธานี” จะช่วยเพิ่มคะแนนเสียงสนับสนุนชื่อที่ “อภิสิทธิ์” เสนอ ซึ่งจะเป็นเสียงชี้ขาดที่ทำให้ได้รับชัยชนะ เพราะ “พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้” ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ

ทำให้องค์ประชุมของ กตช.ขณะนั้นเหลือ 10 คน คือ อภิสิทธิ์ พีรพันธ์ ถวิล ปิยะพันธ์ กิตติพงษ์นพดล ชวรัตน์ วิชัย เรวัติ และ พล.ต.อ.ธานี ซึ่งหากวัดกำลังกันตามฐานเดิมจากการประชุม กตช.ครั้งแรก เสียงของฝ่ายที่สนับสนุน พล.ต.อ.จุมพล จะเหลือเพียง 3 เสียง เต็มที่ก็จะเพิ่มมาอีก 1 เสียงคือ นพดล ที่งดออกเสียงไปในครั้งที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ฝ่าย “อภิสิทธิ์” เป็นเสียงข้างมากมีสิทธิ์ที่จะกำชัยชนะ

แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคิด เพราะเมื่อฝ่ายตรงข้ามตกเป็นรอง ก็ยิ่งเดินเกมแรงกดดันหนักขึ้น ทำกันถึงขนาดบีบ “กิตติพงษ์” (ปลัดยุติธรรม) ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจต่างประเทศให้กลับมาพลิกคะแนนเสียงที่เคยสนับสนุนชื่อที่ “อภิสิทธิ์” เสนอ

เมื่อไม่ได้ผลก็เบนเข็มไปกดดัน กตช.ฝั่ง “อภิสิทธิ์” แบบรายตัว รวมทั้ง ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องเข้าประชุม กตช.แทน ปลัดกระทรวงยุติธรรมด้วย

แรงบีบคั้นอย่างหนัก ทำให้ กตช.ฝั่ง “อภิสิทธิ์” ขวัญหนีดีฝ่อ เสนอให้ “อภิสิทธิ์” เลื่อนการเสนอชื่อ ผบ.ตร.ออกไปก่อน จึงทำให้การประชุม กตช.ครั้งที่สองในวันที่ 16 กันยายน 2552 ยังไร้ตัว ผบ.ตร.

จากนั้น พล.ต.อ.ธานี เกษียณอายุราชการ “อภิสิทธิ์” มีคำสั่งตั้ง “พล.ต.อ.ปทีป” ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. ส่งผลให้ “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่พอใจลาออกจากตำแหน่ง

ไม่เพียงเท่านั้นแรงกระเพื่อมจากปัญหานี้ยังทำให้ “ปิยะพันธ์ นิมมานเหมินทร์” ลาออกจากตำแหน่ง กตช.เป็นคนที่สอง ก่อนที่จะมีการตั้ง “สุภา ปิยะจิตติ” มาทำหน้าที่แทน

เท่ากับว่าขณะนี้องค์ประชุมของ กตช.จะครบเต็มจำนวนคือ 11 คน และ “อภิสิทธิ์” ก็เดินหน้าทำความเข้าใจกับ กตช.เสียงข้างมากในการโหวตคว่ำชื่อ “พล.ต.อ.ปทีป” อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่ออำนาจหน้าที่ของ กตช.อย่างถ่องแท้ ว่ามีหน้าที่เพียงให้ความเห็นชอบรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีได้คัดเลือกมาแล้วตามกฎหมายเท่านั้น

การใช้วิธีโหวตสวนชื่อที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เพื่อบีบให้นายกรัฐมนตรีต้องเสนอชื่อบุคคลที่ตัวเองสนับสนุนนั้น เป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และถือเป็นการกระทำที่ผิด พรบ.ตำรวจแห่งชาติด้วย

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เราคงได้เห็น

“พล.ต.อ.ปทีป” เป็น ผบ.ตร.ตัวจริงเสียที หลังจากที่ต้องนั่งแป้นรักษาการอยู่นานกว่า 4 เดือน

หาก “อภิสิทธิ์” ประสบความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยงครั้งนี้ ก็จะทำให้โครงสร้างการบริหารประเทศไม่ถูกบิดเบือน คุ้มค่ากับการยืนหยัดต่อสู้ตามแนวทางที่ถูกต้อง โดยไม่ยอมให้สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมมาอยู่เหนือกฎหมาย

กำลังโหลดความคิดเห็น