ในรอบปี 2552 เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งปี ที่วงการสีกากีมีแต่เรื่องยุ่งเหยิง เรียกว่า"งานเข้า"ตำรวจตลอดทั้งปี แต่ที่เป็นประเด็นร้อนที่สุดในแวดวงสีกากี คงหนีไม่พ้นการประชุม ก.ต.ช.เพื่อเลือกแม่ทัพสีกากีคนใหม่ แทน “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่มีอันต้องเจอโรคเลื่อน “ค้างเติ่ง” จนถึงขณะนี้
และนี่ก็เป็นเหตุให้เมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค.2552 อันเป็นเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ ต้องมีคำสั่งตั้ง “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ไว้ก่อน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตำรวจไทย ที่เมื่อสิ้นปีงบประมาณแล้ว แต่ไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ตัวจริงได้
หากย้อนไปถึงกระบวนการเฟ้นหาผู้นำสีกากี คนที่ 8 เมื่อเทียบฟอร์มรองผบ.ตร.ทุกคนที่มีอยู่ ว่ากันว่าในสังเวียนเพื่อชิงตำแหน่งบิ๊กสีกากีครั้งนี้ มีแคนดิเดตเพียง 2 คน เท่านั้น
คนแรก “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ อาวุโสอันดับ 2 รองจาก “บิ๊กอ๊อฟ”พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่เมีย “นช.แม้ว” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกตัดออกจากสารบบตั้งแต่ยกแรก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นขั้วอำนาจเก่าอย่างชัดเจน
สำหรับ พล.ต.อ.ปทีป มีทีเด็ดตรงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุน รวมทั้ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่ามีความเหมาะสมกับเก้าอี้นี้มากกว่าอีกคน รวมถึงคุณสมบัติเด่นอีกอย่างหนึ่งของ พล.ต.อ.ปทีป คือความเป็นกลางทางการเมือง ไร้ขั้ว ไร้สี
คนที่สอง “บิ๊กจุ๋ม” พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผบ.ตร.รายนี้แม้จะอยู่คนละขั้วกับรัฐบาล เพราะมีสายสัมพันธ์แนบแน่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นรต.26 และเคยทำงานรับใช้ในสมัยที่ยังเรืองอำนาจ แต่ด้วย “กำลังภายใน” ที่ยากจะหาตัวจับ รวมทั้งมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง นายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวมถึงพล.ต.อ.พัชรวาท และ กลุ่มการเมืองค่ายสีน้ำเงินคอยหนุนหลังอีกแรง ทำให้สปอร์ตไลท์ทุกตัวย่อมจับไปที่ตัว พล.ต.อ.จุมพล เป็นธรรมดา และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันในสังเวียนนี้ ยิ่งทวีความระอุ ไม่แพ้สังเวียนใดๆ
สำหรับกระบวนการเลือก ผบ.ตร.นั้น นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้เสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อให้คณะกรรมการ ก.ต.ช.เห็นชอบ แต่กระนั้นคณะกรรมการ ก.ต.ช.แต่ละคนเองก็ย่อมมีเอกสิทธิ์ในการจะออกเสียง เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบก็ได้ ซึ่งการจะมีมติใดๆรวมถึงเห็นชอบตำแหน่งให้ความตำแหน่ง ผบ.ตร.จะต้องได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของนายกฯที่จะแสดงเหตุผลเพื่อโน้มน้าวใจบุคคลที่เสนอชื่อเพื่อให้คณะกรรมการฯเห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่า นายอภิสิทธิ์ ได้เลือกที่จะจองเก้าอี้นี้ ไว้ให้กับ พล.ต.อ.ปทีป ตั้งแต่แรก แม้จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าหนทางข้างหน้านั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม เรียกได้ว่า “หิน” แต่นายอภิสิทธิ์ เองก็เลือกที่จะเดินฝ่าไป โดยไม่ฟังเสียงทัดทาน จากคนรอบข้าง จึงได้นัดประชุม ก.ต.ช.ในวันที่ 20 ส.ค.2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล
แม้ว่าก่อนการประชุม เริ่มมีกลิ่นไม่ดี เพราะแว่วว่านายใหญ่กลุ่มเสื้อน้ำเงินได้ทำการล็อบบี้คณะกรรมการ ก.ต.ช.ไว้เกินกว่าครึ่งแล้ว แต่ทว่านายกฯ อภิสิทธิ์ ยังคงยืนกรานที่จะเดินหน้าประชุมต่อไป โดยยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่ายังไงพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะหักหลัง ...ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิด!!
ทันทีที่ถึงเวลามี ก.ต.ช.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงทั้ง 11 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธาน ก.ต.ช., นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย, นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลิรัฐวิภาค รมว.กระทรวงยุติธรรม, นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร., นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย, นายนพดล อินนา ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาองค์กร, นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ และ พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวางแผน หรือการบริหารและจัดการ
โดยหลังเริ่มประชุมได้เพียง 20 นาที เมื่อถึงวาระเลือก ผบ.ตร. นายอภิสิทธิ์ ได้เชิญเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดออกจากห้องประชุม เหลือเพียงกรรมการ ก.ต.ช.ทั้ง 11 คน ก่อนที่จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เพียงรายชื่อเดียว ให้กับคณะกรรมการ ก.ต.ช.พิจารณา จากนั้นได้มีการโหวตว่าจะรับหรือไม่รับ พล.ต.อ.ปทีป เป็น ผบ.ตร.ซึ่งผลการโหวตปรากฏว่ามีเสียงสนับสนุน พล.ต.อ.ปทีป ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถเลือก ผบ.ตร.ได้ นายกฯ จึงได้สั่งปิดการประชุมและต้องเลื่อนการประชุมออกไป
แต่กระนั้น ก็มีคณะกรรมการ ก.ต.ช.บางคนท้วงติงว่า ทำไมถึงได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เพียงรายเดียว พร้อมเสนอในที่ประชุม ให้พิจารณาชื่อ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย มาพิจารณาด้วย แต่นายกฯซึ่งตามกฎหมายจะเป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถเสนอรายชื่อได้ ไม่เสนอชื่อ พล.ต.อ.จุมพล ในที่ประชุม ก.ต.ช.แล้วชิงปิดประชุม จึงไม่มีการโหวตชื่อ พล.ต.อ.จุมพล แต่อย่างใด
สำหรับ 5 เสียงที่โหวตไม่รับ พล.ต.อ.ปทีป ได้แก่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล, นายวิชัย ศรีขวัญ ,นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม ,พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ส่วนเสียงข้างน้อย 4 เสียง ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายปิยะพันธ์ นิมมานเหมินทร์ นายถวิล เปลี่ยนศรี ขณะที่นายนพดล อินนา งดออกเสียง อ้างว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอ
จะว่าไปแล้วขบวนการหักหน้า นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่เป็นการวางแผนมาอย่างเป็นระบบ ของผู้ที่มีส่วนได้เสียกับการตั้งผบ.ตร.
อย่างไรก็ตามครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่นายอภิสิทธิ์ จะต้องตระหนัก และทบทวนการกระทำของตัวเอง โดยเฉพาะในตำแหน่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่พยายามจะผลักดัน พล.ต.อ.จุมพล มาโดยตลอด สวนทางกับนายกฯ แม้ตัวเองจะมีคดีติดตัวอยู่มากมาย ทั้งเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง คดี 7 ตุลาทมิฬ คดีพัวพันทุจริตงบโฆษณา ถูกกล่าวหาเป็น"ตอ"ขัดขวางการสืบสวนคดียิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ แต่ยังคงเถลิงอำนาจอยู่ได้ เพราะมีบารมีของพี่ชายหัวแก้วหัวแหวนอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุ้มหัว แต่ยังไม่สำเหนียกตัวเอง
กระทั่ง เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง กรณีสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 จนมีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นในวันที่ 9 ก.ย.2552 นายอภิสิทธิ์ จึงมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมตั้ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รักษาราชการแทนผบ.ตร.
ขณะที่ในวันเดียวกัน พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ตัดสินใจยื่นไปใบลาออก....ปิดตำนาน "ตอ" ที่คาราคาซังมานาน นอกจากนี้ยังทำให้เสียงที่ไม่เอา พล.ต.อ.ปทีป หายไป 1 เสียง
นอกจากการลงจากตำแหน่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท แล้วในวันต่อมา พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ตัดสินใจลาออกจากกรรมการ ก.ต.ช. เนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหว ซึ่งจะทำให้เสียงของฝ่ายที่ไม่เอา พล.ต.อ.ปทีป หายไปอีก 1 เสียง โดยหลายฝ่ายมองกันว่า นายอภิสิทธิ์ อาจถือโอกาสนี้ผลักดันคนของตัวเองเข้ามา แต่ติดปัญหาว่าต้องมีการโปรดเกล้าฯ ก่อน จึงจะสามารถเข้าประชุมและยกมือโหวตได้ หรือ อาจจะเดินหน้าประชุมเลือก ผบ.ตร.โดยเหลือกรรมการก.ต.ช.เพียง 9 คน ไม่รวมนายกฯ
ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เลือกที่จะประชุม เพื่อเลือก ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิแทน พล.ต.อ.สุเทพ ก่อน โดยที่ประชุมในวันที่ 15 ก.ย.ได้มีมติเลือก พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ แต่ทว่ายังไม่สามารถยกมือโหวตเลือก ผบ.ตร.ได้ ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ เสียก่อน
ขณะที่ในวันที่ 16 ก.ย.นายอภิสิทธิ์ ได้นัดประชุม ก.ต.ช. อีกครั้งโดยมีวาระสำคัญในการเลือก ผบ.ตร. ซึ่งครั้งนี้นายอภิสิทธิ์ พกพาความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า เนื่องจากได้เสียงเพิ่มจาก พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รรท.ผบ.ตร. และนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รรท.ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเข้าประชุมแทน นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ไปราชการต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าผลการโหวตสนับสนุนพล.ต.อ.ปทีป จะออกมา 5:4 ไม่รวมประธาน
แต่ทว่าการประชุมซึ่งเริ่มขึ้นในเวลา 15.00 น.เร็วกว่ากำหนดเดิมที่วางไว้ในเวลา 16.30 น. หลังเวลาผ่านไปเพียง 30 นาที การประชุมก็จบลง พร้อมกับการออกมาแถลงข่าวของนายอภิสิทธิ์ และกรรมการ ก.ต.ช.ทั้งหมด ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ระบุว่า " กรรมการ ก.ต.ช.มีวาระการประชุมในเรื่องให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า กระบวนการที่จะพิจารณาในเรื่องนี้สมควรที่จะใช้เวลาเพื่อให้เกิดเอกภาพ และความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการได้ตัว ผบ.ตร. และเห็นว่า ในการดำเนินการส่วนนี้ หากมีความจำเป็นที่ต้องเวลาพิจารณานานเกินวันที่ 30 ก.ย. ก็สามารถตั้งรักษาการแทน ผบ.ตร.ทำหน้าที่ไปก่อนระหว่างที่กระบวนการให้ความเห็นชอบและการแต่งตั้งยังไม่เสร็จ " ซึ่งนั่น เป็นถ้อยแถลงของ นายอภิสิทธิ์ ที่ออกมา ซึ่งก็ไม่สามารถตอบสังคมได้ว่าเหตุผลที่แท้จริงมันคืออะไรกันแน่...
แต่ทั้งนี้ มีรายงานว่าเหตุผลหนึ่งที่การประชุมต้องเลื่อนออกไป เพราะ ก.ต.ช.บางคนได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ ก่อนการประชุม และแจ้งความจำนงค์ว่ามีเหตุผลบางประการที่ไม่สามารถยกมือโหวตให้กับ พล.ต.อ.ปทีป ได้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ ตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป อย่างไม่มีกำหนด...
แม้ต่อมาจะมีการประชุม ก.ต.ช.อีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2552 แต่ก็เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็น ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านงบประมาณ แทน นายปิยพันธ์ นิมมานเหมินทร์ ที่ลาอออกไปเท่านั้น
และนี่ก็เป็นเหตุให้เมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค.2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงยังไม่มี ผบ.ตร.ตัวจริง กลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจกว่า 2 แสนนาย
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่อง ผบ.ตร.ยังส่งได้ผลกระทบต่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจวาระประจำปี ที่มีอันต้องเจอโรคเลื่อนหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผบ.ตร.-ผบช. ทั้งที่กระบวนการทุกอย่างควรจะเสร็จลุล่วงภายใน วันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามที่ ก.ตร.ได้มีมติให้ขยาย เวลาไว้
นั่นเพราะการประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผบ.ตร.-ผบช.วาระประจำปี แต่มีอันต้องล้มเลิกไป เนื่องจาก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมี ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และ พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ สองเพื่อนซี้ร่วมรุ่นนรต.25 ของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหอกสำคัญในการเคลื่อนไหวตีรวน ซึ่งทั้งคู่ต่างแสดงบทบาท ด้วยการเปิดฉากอภิปรายอย่างเผ็ดร้อน ว่าไม่ควรแต่งตั้งโยกย้าย เพราะยังไม่ได้ตัว ผบ.ตร.ตัวจริง พร้อมยกเหตุผลอีกร้อยแปด ทำให้ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ อีกกลุ่มหนึ่งที่กลัวว่าหากแต่งตั้งไปจะผิดกฎหมาย ต่างก็เออออห่อหมกไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ทำให้ในวันที่ 1 ต.ค.2552 จึงมีตำแหน่งตั้งแต่ระดับรองผบ.ตร.ลงมาว่างลงเป็นจำนวนถึง 1,560 ตำแหน่ง โดยยังไม่มีการตั้งใครเข้ามาแทนที่ จึงต้องมีการขึ้นมารักษาราชการแทนโดยอัตโนมัติ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 72 วรรค 2
ซึ่งการแต่งตั้ง “โผใหญ่”ระดับรองผบ.ตร.-ผบช.มาสำเร็จลงได้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2552 ท่ามกลางบรรยากาศเก่าๆ คนเดิมๆอย่าง ร.ต.อ.ปุระชัย และ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ที่ควงคู่กันตบเท้าเดินออกจากห้องประชุม ต่อมาวันที่ 23 พ.ย.2552 การแต่งตั้งระดับรองผบก.-ผบก.ขณะที่ “โผเล็ก” ระดับรองผบก.-สว.มีอันต้องเลื่อนไปเป็นเดือนม.ค.ปีหน้า
นอกจากนี้ควันหลงจากการตั้งผบ.ตร.ในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดแรงกะเพื่อมทางการเมืองทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ที่กล้าโหวตสวนความต้องการนายกฯ ซึ่งกรณีก็ทำให้เกิดความกินแหนงแคลงใจ ระหว่างกันไม่มากก็น้อย จนหลายฝ่ายเชื่อว่านายกฯอาจจะกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการตอบโต้ ขณะที่ภายในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ได้ เกิดรอยร้าวเล็กๆ จากการยื่นไปลาออกจากตำแหน่งของ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สร้างแรงกะเพื่อมในกลุ่มก๊วนส.ส.ในสังกัดนายสุเทพ จนผู้ใหญ่ในพรรคหลายคนต้องออกมาเบรก กันเป็นการใหญ่
จะเห็นว่าที่กล่าวมาล้วนเป็นผลพวงจากการตั้งผบ.ตร.ทั้งสิ้น ใครจะคิดว่าตำแหน่งผบ.ตร.เพียงตำแหน่งเดียวจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งภายในองค์การสีกากีเอง รวมถึงการเมืองระดับประเทศ นี่จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่นายอภิสิทธิ์ ต้องพยายามตีโจทย์ให้แตก เพราะการซื้อเวลาไม่ได้ช่วยอะไร แต่รังจะทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น
แม้วันนี้ นายอภิสิทธิ์ จะออกมาให้สัมภาษณ์ เป็นมั่นเหมาะ ว่า ปีหน้าจะได้ ผบ.ตร.ตัวจริงอย่างแน่นอน...แต่ต้องไม่ลืมว่าปีหน้ามีทั้งหมด 365 วัน ต้องรอให้ พล.ต.อ.ปทีป รักษาการไปจนเกษียณ...หรือรัฐบาลหมดอำนาจไปเสียก่อน จึงจะได้ตัวผบ.ตร.