xs
xsm
sm
md
lg

Davos man

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แซมมวล ฮันติงตัน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังซึ่งล่วงลับไปแล้ว และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง "การปะทะกันของอารยธรรม" (Clash of Civilization) เรียกคนที่ไปร่วมประชุมเวทีหารือเศรษฐกิจโลก "World Economic Forum" ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า "Davos Forum" ในนัยว่า เป็นพวกชนชั้นนำ ตีนลอย อยู่แต่บนคอยงาช้าง ไม่เคยได้สัมผัสกับความเป็นจริงของชีวิตสักเท่าไหร่นัก

การประชุมเวทีหารือเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี ที่เมืองตากอาการเชิงเขาอัลไพน์แห่งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน ล้วนแต่เป็นผู้นำ-ประมุขของประเทศ ผู้ในภาคธุรกิจ นักคิด นักวิชาการ ผู้นำภาคประชาชน เอ็นจีโอ และสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับเชิญจากผู้จัดการประชุม และองค์กรพันธมิตรเท่านั้น จึงจะตีตั๋วเข้าไปร่วมได้

คนพวกนี้จะไปนั่งคุย และนั่งฟังกันว่า เรื่องที่เป็นปัญหาท้าทายโลก ในปีนี้ คือเรื่องอะไร จะรับมือกับมันได้อย่างไรบ้าง คุยจบก็เก็บกระเป๋ากลับบ้าน ปีหน้ากลับมาคุยกันในเรื่องใหม่ ถ้าได้รับเชิญ เพราะเวทีนี้ เป็นเวทีของการหารือ แสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนความเห็นกันและกัน ไม่ใช่ที่ประชุมที่จะมีฉันทมติ หรือแผนปฏิบัติการใดๆ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากจะมีได้ คือ การคุยนอกรอบ เพื่อตกลงกันสองต่อสอง หรือทำความรู้จักกันของผู้เข้าร่วมประชุม

การประชุมที่เมืองดาวอสนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา 40 ปีแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่นายเคล้าส์ ชแวปส์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเจนีวา เชิญนักธุรกิจของประเทศต่างๆในยุโรป มาประชุมร่วมกันเพื่อหารือว่าจะแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาอย่างไร เมื่อเดือนกรกฎาคมของปี 1971 ตอนนั้น เมืองดาวอส มีชื่อเสียงว่า เป็นสถานที่พักฟื้นของผู้ป่วยวัณโรค เพราะเชื่อกันว่าอากาศแทบเทือกเขาอัลไพน์จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นได้

นายเคล้าส์ ชแวปส์ ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นประธานของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ส่วนการประชุมนั้นก็มีต่อเนื่องกันมาทุกปี แต่ได้ขยายวงจากเดิมที่มีแต่นักธุรกิจ และเข้าของกิจการเข้าร่วมประชุม ก็เชิญพวกนักการเมืองและคนในวงการอื่นๆ มาร่วมเป็นสมาชิกด้วย หัวข้อการหารือก็กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมไปถึงประเด็นทางการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่หลายๆครั้ง ที่การประชุมที่ดาวอส เป็นที่พบปะกันของผู้นำทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกัน จนได้รับความสนใจไปทั่วโลก อย่างเช่น การประชุมในปี 1992 นายเดอ เคลิก ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ในยุคเหยียดสีผิว ซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพ หลังจากติดคุกมา 27 ปี ได้ขึ้นเวทีร่วมกันเป็นครั้งแรกที่นี่ หรือในปี 1997 ที่ชิมอน เปเรส รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลในขณะนั้น ได้พบปะนายยัสเซอร์ อาราฟัต ในเรื่องสิทธิเหนือดินแดนฉนวนกาซา

สำหรับการประชุมในปีนี้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม มีหัวข้อว่า lmprove the state of the world : Rethink, Redesign,Rebuild ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายความรร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การป้องกันความเสี่ยงหรือความล้มเหลวของระบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงและค่านิยมที่ดี ตลอดจนการสร้างกลไกและสถาบันที่มีประสิทธิภาพในระบบโลก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วยเหมือนกัน เป็นปีที่2 แล้ว นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเพิ่งเข้าตำแหน่งใหม่ๆ ยังไม่มีใครมั่นใจว่า จะอยู่ได้นานแค่ไหน ได้รับเชิญในฐานะประธานเอเซียด้วย ปีนี้ไทยไม่ได้เป็นประธานอาเซียน แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังได้รับเชิญ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีคุณสมบัติแบบ "Davos man" ด้วยหรือเปล่า

นอกจากไปนั่งฟังคนอื่นพูดแล้ว นายกรัฐมนตรีไทย ยังจะได้ร่วมอภิปราย และกล่าวสุนทรพจน์ด้วยในหลายข้อหัว เช่น หัวข้อเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร และการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การต่อต้านคอร์รัปชัน การรวมตัวเป็นกลุ่มประชาคมเอเซีย เป็นต้น

การไปร่วมประชุม และขึ้นเวทีของนายอภิสิทธิ์ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยด้วย อย่างน้อยก็ได้ในแง่ของภาพลักษณ์ และถือว่าประเทศไทยยังได้รับการยอมรับในเวทีสากลอยู่ ถึงแม้จะมีความพยายามทำลายชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือในทุกๆด้านอยู่อย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น