ที่ปรึกษา สศช.ตบเท้าร้องกรรมสิทธิฯ ส่งศาล รธน.ตีความ กรณี พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาฯ ว่าขัดหรือแย้ง รธน.หรือไม่ ด้านอนุ กก.สิทธิฯ จี้ สตช.ถามความคืบหน้าคดีทำร้ายชาวบ้านสวนปาล์ม สุราษฎร์
วันนี้ (28 ม.ค.) สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณ 10 คน นำโดยนายเกรียง วิศิษฏ์สรอรรถ สมาชิกสภาที่ปรึกษา ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 257 (2) เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2547 ว่าขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 6 มาตรา 258 และมาตรา 299 วรรค 4 หรือไม่
โดยนายเกรียงกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น กำหนดให้สภาที่ปรึกษาฯอยู่ในสถานะองค์กรอิสระ แต่ใน พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาฯที่ออกตาม รัฐธรรมนูญฉบับเดิมนั้นกำหนดให้ สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯอยู่ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในกฎหมายฉบับดังกล่าวยังกำหนดสัดส่วนของกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯโดยให้มาจากทั้งส่วนของสำนักงาน และในส่วนของปลัดกระทรวงต่างๆซึ่งถือว่า อยู่ในควบคุมของรัฐซึ่งอาจจะขัดต่อความเป็นอิสระขององค์กร
“ตามรัฐธรรมนูญระบุว่า ระหว่างที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฉบับใหม่ก็ให้ใช้ฉบับเดิมไปพลาง เว้นแต่จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ให้ใช้รัฐธรรมนูญแทน พวกผมเห็นว่ากฎหมายเก่ามีความขัดแย้งจึงเห็นควรเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะใช้บทบัญญัติใดจึงจะถูกต้องตามเจตนารมณ์ และในระหว่างนี้ก็ยังไม่ควรมีการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาชุดใหม่ แม้ว่าจะหมดวาระตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ควรรออกฎหมายฉบับใหม่หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียก่อนว่าถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่เริ่มกระบวนการสรรหาเหมือนในขณะนี้”
โดยนายปริญญากล่าวว่า หลังจากนี้กรรมการสิทธิฯ จะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปตรวจสอบว่าอยู่ในอำนาจหรือไม่ หากพบว่ามีอำนาจก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ พร้อมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน จัดประชุมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีการจัดการที่ดินสวนปาล์มใน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายฉลอง มณีโชติ ตัวแทนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จ.สุราษฎร์ธานี พล.ต.ต.อิทธิฤทธิ์ หงษ์ทอง ตัวแทนตำรวจภูธร ภาค 8 และพ.ต.อ. วิทยา วังส์ด่าน ผกก.สภ.ชัยบุรี พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านชุมชนไทรทอง ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี เข้าชี้แจง
นพ.นิรันดร์ กล่าวหลังการประชุมว่า ทางอนุกรรมการฯจะทำหนังสือถึงผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 เพราะว่าคดีการทำร้ายชาวบ้านนั้น ต้องมีการติดตามและต้องมีผลความคืบหน้าด้วย หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำอย่างนี้ก็อย่าไปพูดถึงเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เลย แต่มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีของตำรวจ กรณีนี้รัฐบาลต้องมีวิธีคิดเพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน เนื่องจากเรื่องโฉนดชุมชนในขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ต้องถอดถอนทัศนคติที่ไม่ดีต่อชาวบ้านออกไป เพราะชาวบ้านถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกหรือม็อบ แต่ชาวบ้านเหล่านั้นต้องการเรียกร้องในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินตนเอง ซึ่งเป็นเจตจำนงของรัฐที่ประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าการต่อสู้ของชาวบ้านนั้น ใช้เพียงแค่เท้ากับปากเท่านั้น แต่นายทุนกลับมีที่ดินทำกินมาตลอดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้มีการมองในทัศนคติที่ไม่ดี และเรื่องของการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการตกเป็นเครื่องมือของนายทุน นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะมีมาตรการด้านความมั่นคง และความปลอดภัยในชีวิตของคนในพื้นที่อย่างชัดเจน
“เรื่องที่ จ.สุราษฎร์ธานีนั้น ต้องมีการผลักดันทางกฎหมาย หากไม่มีการเพิกถอนสิทธิของผู้ที่บุกรุกที่ดิน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเชื้อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ดังนั้นหน่วยงานราชการต้องมีการลงโทษการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ทำก็จะเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบโดยชี้เป็นมติตามอำนาจ ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีนายกฯไว้ ทั้งนี้ผมคิดว่าระเบียบที่จะออกเรื่องโฉนดชุมชนนั้นไม่ได้ผล หากนายกฯ สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะได้รับการยอมรับมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”