xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชี้ช่อง “อภิชาต” ยกคำร้องยุบ ปชป.ไม่ต้องเสนอที่ประชุมใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิชาต สุขัคคานนท์
เลขาฯ กกต.เผยความเห็นที่ปรึกษา กม.ระบุชัด หาก “อภิชาต” เห็นควรยกคำร้องยุบ ปชป.กรณี 258 ล้านไม่ต้องเสนอที่ประชุม กกต.อีก พร้อมมีมติรับรอง “ประยุทธ์” เป็นส.ส.มหาสารคาม เพื่อไทยแล้ว

วันนี้ (28 ม.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่าที่ประชุม กกต.มีมติประกาศรับรองนายประยุทธ์ ศิริพานิช จากพรรคเพื่อไทย เป็น ส.ส. เขต 1 มหาสารคาม โดยยกคำร้องในกรณีที่นางคมคาย อุดรพิมพ์ ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ร้องว่าหาเสียงหลอกลวงด้วยการใส่ร้ายให้เข้าใจผิดรวมไปถึงการหาเสียงด้วยความรื่นเริง

นายสุทธิพลยังกล่าวว่า จากการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษากรณีเงิน 258 ล้านบาท และการใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองของพรรคประชาธิปัตยผิดวัตถุประสงค์ และต่อมาได้หารือที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.เกี่ยวกับอำนาจของ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมืองกรณีการยุบพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้ที่ปรึกษากฎหมายได้มีความเห็นในสามประการประกอบด้วย 1.การที่ กกต.มีมติเสียงข้างมากให้ส่งเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณาตาม มาตรา 95 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง นั้น การจะเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ยุบพรรคการเมือง เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะมีความเห็นก่อนแล้วจึงเสนอต่อ กกต.เพื่อขอความเห็นชอบ ดังนั้นนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงสามารถนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต.ที่เคยตั้งขึ้น มาประกอบการตรวจสอบและมีความเห็นว่า พรรคการเมืองดังกล่าวกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย อันมีเหตุที่จะให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองหรือไม่

2.กรณีที่หากนายทะเบียนเห็นว่าไม่ควรยุบพรรคจำเป็นต้องส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาอีกหรือไม่ ที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่า กรณีที่เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบและเห็นว่าพรรคการเมือง ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อ กกต.แต่อย่างใด 3.การกระทำความผิดครั้งนี้เป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2541 จะสามารถนำมาใช้กับกฎหมายฉบับปัจจุบันคือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 2550 ได้หรือไม่ ที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อครั้งขอเสนอยุบพรรคพลังธรรม ซึ่งมีประเด็นทำนองเดียวกันกับข้อหารือนี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 ม.62 และ ม.65 เป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับใช้ในขณะที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ม.82 และ ม.93 แม้จะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับภายหลังแต่ก็มิได้เพื่อให้มีผลแตกต่างจนทำให้ไม่เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองในเหตุเดียวกันได้ ดังนั้นจึงสามารถนำคำวินิจฉัยดังกล่าวมาเทียบเคียงได้

นายสุทธิพลกล่าวว่า หลังจากนี้ ประธาน กกต.จะได้นำผลการหารือที่ปรึกษากฎหมายเสนอให้ คณะทำงานพิจารณาพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น