xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กมธ.ยุติธรรมดันร่าง พ.ร.บ.กม.อิสลามเข้าสภาฯ หวังทำชายแดนใต้สงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรม สภาผู้แทนฯ ควงประธานคณะกรรมการอิสลามกลางประจำ จังหวัดสงขลา แถลงเสนอร่าง พ.ร.บ.กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดก และการพิจารณาคดี ดันเข้าสภาฯ สมัยประชุมนี้ ชี้หวังปรับปรุงกฏหมายให้สอดคล้องวิถีมุสลิม ช่วยให้เกิดความสงบในจังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (27 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามกลางประจำ จังหวัดสงขลา และในฐานะผู้ยกร่างฯ ร่วมกันแถลงข่าวถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกและการพิจารณาคดี พ.ศ... เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้

นายอาศิสกล่าวว่า เดิมกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดก ได้มีการบังคับใช้มา 64 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 ซึ่งบังคับใช้เพียง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีการขยายออกไปนอกจังหวัดที่มีมุสลิมอาศัยอยู่เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในศาล และยังไม่ได้กำหนดวิธีพิจารณาคดี แต่มีการนำวิธีพิจารณาคดีแพ่งมาบังคับใช้แทน รวมทั้งยังเป็นศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา ดังนั้น เราจึงต้องการปรับปรุงกฎหมายให้มีความสมบูรณ์และให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นการให้ความยุติธรรม ซี่งนำไปสู่การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ โดยเชื่อว่าหากกฎหมายนี้มีการบังคับใช้จะช่วยให้เกิดความสงบในภาคใต้มากขึ้น ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีการผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนในภาคใต้ได้เรียกร้องมานาน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าหากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะสร้างความสงบให้ภาคใต้อย่าง ยั่งยืน

ขณะที่ นายวิรัตน์กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมทั่วประเทศ โดยมีการกำหนดเป็น 2 ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น และศาลฎีกา เป็นการจัดตั้งแผนกคดีครอบครัวมรดกอิสลามขึ้นใน 3 จังหวัด ตามที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนด จัดตั้งแผนกคดีครอบครัวมรดกอิสลามขึ้นในศาลฎีกา เพื่อให้พิจารณาพิพาทคดี โดยองค์คณะของผู้พิพากษาศาลจังหวัดฯ จะประกอบด้วยดาโต๊ะยุติธรรมไม่น้อยกว่า 2 คน ส่วนองค์คณะของผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีครอบครัวมรดกอิสลามจะต้องประกอบด้วยดาโต๊ะยุติธรรมไม่น้อยกว่า 2 คน โดยในระยะแรกอาจเปิดทำการเป็นการถาวรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปิดแผนกคดีครอบครัวมรดกอิสลามกลาง ส่วนจังหวัดอื่นอาจใช้ศาลเคลื่อนที่ ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีนอกศาลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น