xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ยื่น กกต.สอย “กษิต” ใช้อำนาจแทรกแซงศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร    ลีกิจวัฒนะ
ส.ว.จอมแฉ ยังคุ้ยไม่เลิก ยื่น กกต.สอบ “กษิต” ใช้อำนาจแทรกแซงศาลเหตุ เสนอความเห็นในเอกสารลับต่อนายกรัฐมนตรี ให้ศาลเร่งพิจารณคดี “ทักษิณ”

วันนี้ (25 ม.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องให้กับประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรม นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ว่ามีการกระทำอันต้องห้ามตาม 268 และ มาตรา 266 (1) ว่าด้วยการห้ามมิให้ ส.ส.และ ส.ว.ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

กรณีที่ นายกษิตได้ทำหนังสือเสนอแนวทางในการทำงานในหน้าที่ราชการไปยังผู้บังคับบัญชาคือนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาสาระบางส่วนที่มีลักษณะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีต่างๆ โดยในข่าวได้อ้างถึงหนังสือ หนังสือที่ กต 1303/2555 วันที่ 16 พ.ย.2552 และ หนังสือที่ กต 1302/2318 ลงวันที่ 10 พ.ย.2552 เรื่อง เรื่อง แนวทางการดำเนินการกับปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนข้อที่ 2ว่าด้วยเรื่องแนวทางการดำเนินการ ในข้อ 2.4 ตอนหนึ่งที่ระบุว่า ให้มีเร่งการพิจารณาคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เพราะการพิ จารณาคดีต่างๆ เป็นเรื่องอำนาจตุลาการ

“ผมเห็นว่าการมีหนังสือราชการของรมว.ต่างประเทศไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเสนอให้มีการเร่งการพิจารณาคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยังคั่งค้างอยู่ นั้น การกระทำดังกล่าวของรมว.ต่างประเทศในฐานะผู้เสนอนั้น อาจจะมีลักษณะเข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของศาลที่ถือเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 266 จึงอยากให้กกต.ตรวจสอบว่า ผลของการทำหนังสือดังกล่าวนั้นจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกษิตสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 182 (7) หรือไม่อย่างไร” นายเรืองไกรกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาคดีนั้น รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง บัญญัตว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ดังนั้น การพิจารณาคดี กับการพิพากษาคดี จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลมิใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้

ทั้งนี้ รายละเอียดของข้อ 2.4 เรื่องแนวทางดำเนินการระบุว่า “ลดและแยกการเชื่อมโยงระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและฝ่ายค้านในประเทศไทย ด้วยการลดและขจัดเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โดยรัฐบาลควรแสดงท่าทีและความเห็นต่างๆ อย่างมีเอกภาพและเป็นระบบการตอบโต้รัฐบาลกัมพูชาอย่างสุขุม มีสติ ไม่วู่วาม และกระทบประชาชนน้อยที่สุด จะมีส่วนสำคัญในการ “ครองความนิยม” ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่สำคัญควรเร่งแปรความรู้สึก “สะใจ” หรือสนับสนุนรัฐบาลเป็น “ความเข้าใจ” โดยอาศัยการประชาสัมพันธ์ และบริหารจัดการ “เวลา” ให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยที่สุด โดยการเร่งการพิจารณาคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังคั่งค้างอยู่”
กำลังโหลดความคิดเห็น