xs
xsm
sm
md
lg

สองมาตรฐานของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ศักดิ์ศรีของ ผบ.ทบ.ต้องมาก่อน!!! (เข้าใจไหม ประชาชน)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ขอถาม พลเอกอนุพงษ์ว่า หลักการของผู้บัญชาการทหารบก ในกรณี ปฎิบัติการต่อ เสธฯ แดง กับ หลักการในกรณีมีผู้ใช้อาวุธสงคราม ยิงถล่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ทำเนียบรัฐบาล ที่สนามบินดอนเมือง กับ กรณีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ผู้ต้องสงสัยจนถูกออกหมายจับ เป็นทหารสังกัดหน่วยรบพิเศษ 2 นาย มีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ อย่างไร

ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังข่าวกองบัญชาการกองทัพบก ถูกมือดียิงระเบิดใส่ ตอนเช้ามืดวันที่ 15 มกราคม 2553 ถูกแพร่ออกไป ปฏิบัติการไล่ล่าผู้ต้องสงสัย อันมี พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “ เสธฯแดง” ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็นเป้าหมายอันดับ1 ก็เริ่มขึ้นอย่างทันอกทันใจ

กองกำลังทหารและตำรวจบุกเข้า พื้นที่ต้องห้าม สำหรับคนไทยทั่วไป “ ม. พัน 4 เกียกกาย” เพื่อตรวจค้นบ้านพักของเสธฯแดง โดยค้นพบอาวุธสงครามร้ายแรงจำนวนมาก และควบคุมตัวลูกน้องเสธฯแดง 2คน ไปสอบปากคำ แล้วคุมขังไว้ พร้อมๆกับ การขอให้ศาลออกหมายจับเสธฯแดง และหมายค้นบ้านพักที่จังหวัดราชบุรี แต่ศาลให้แค่ออกหมายเรียก และไม่อนุมัติหมายค้นบ้านเสธฯ แดง

เป็นปฏิบัติการที่รวดเร็ว ฉับไว ทันอกทันใจดีแท้ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับ “ ขั้นตอนตามกฎหมาย” เหมือนที่กองทัพชอบอ้างเวลา คนของตนไปรังแกประชาชนที่ไม่มีสี

น่าเสียดาย ที่ความเอาจริงเอาจัง ที่จะเอาผิดกับคนในเครื่องแบบสีเขียวขี้ม้าในกรณีนี้ เป็น เอกสิทธิ์ ที่สงวนไว้สำหรับ “ นาย” พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ประชาชน ไม่เกี่ยว

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 การชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่สนามบินดอนเมือง ถูกยิงระเบิด เอ็ม 79 ใส่ หลายครั้ง มีคนตายจำนวนหนึ่ง มีผู้บาดเจ็บอย่างรุนแรงจำนวนมาก หลายคนถึงพิการ แต่ตำรวจ ไม่เคยจับใครได้ ทั้งๆที่มีเบาะแส ร่องรอย อยู่ชัดเจน

ผู้ทรงคุณวุฒิ ในมาตรฐานของกองทัพบก อย่าง เสธ ฯ แดง ให้สัมภาษณ์หลายครั้ง หลายหน เป็นการเตือนล่วงหน้าว่า จะมีการยิงเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุม และแสดงบทบาทเป็นผู้ฝึกการใช้อาวุธ ให้กับกองกำลังของกลุ่มเสื้อแดงที่ใช้ชื่อว่า นักรบพระเจ้าตาก อันเท่ากับการยอมรับกลายๆ และโอ้อวดตัวว่า ใคร คือ ผู้อยู่เบื้องหลัง ความรุนแรงเหล่านั้น

แต่พลเอกอนุพงษ์ก็ไม่เคยคิดจะระงับ ห้ามปราม แม้สักครั้งเดียว ทั้งๆที่น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า ทั้งผู้บงการ กำลังพล และอาวุธที่ใช้เข่นฆ่าประชาชนในครั้งนั้น คือคนในบังคับบัญชาของตนทั้งสิ้น กลับปล่อยให้ “ ผู้ทรงคุณวุฒิ” ของกองทัพ ออกมา แสดงกิริยาอาการเหมือนคนเสียสติ ข่มขู่ จนกระทั่งลงมือสังหารประชาชนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

ผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งความจริงแล้ว ตอนเกิดเรื่อง ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีคนตาย ไม่มีคนเจ็บ ไม่มีเสียงระเบิด โฆษกกองทัพบก พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ระเบิดที่ยิงเข้าไ ป อาจจะไม่ใช่เอ็ม 79 บังเอิญว่า มันไปกระทบกับ “ ศักดิ์ศรี” ของ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีค่ามากกว่า ชีวิตของประชาชน เท่านั้นเอง ทหารก็เลยยกทัพ พาตำรวจกองปราบ ฝ่า “ เขตทหารห้ามเข้า” บุกรังเสธฯแดง ใน ม.พัน 4 เกียกกาย

แสดงว่า ทั้งทหาร และตำรวจ รุ้ดีถึงพฤติกรรมของเสธฯแดงดี รู้ดีว่า ถ้ามีการใช้เอ็ม 79 ถล่มกัน ใจกลางกรุง จะต้องนึกถึงใครก่อน จึงไม่ต้องเสียเวลารอขั้นตอนตามกฎหมาย หรือหาพยานหลักฐาน บุกตรงไปที่บ้านเสธฯแดงได้เลย เพราะศักดิ์ศรี ของ ผบ.ทบ. ต้องมาก่อนชีวิตของประชาชนอยู่แล้ว

หรืออย่าง กรณี การลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย เช้าตรู่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 ที่บริเวณสี่แยก บางขุนพรหม ที่รายรอบด้วย ด่านตรวจของทหาร ซึ่งมีหลักฐานในเบื้องต้นชัดเจนว่า คนในกองทัพบก มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งจากอาวุธที่ใช้ และกระสุนปืน ที่เบิกมาจากคลังแสงของกองทัพบก และตัวผู้ลงมือบางคน จนเจ้าหน้าทีตำรวจ ขอศาลออกหมายจับ ผู้ต้องสงสัย 3 คน 2 ใน 3 นั้น เป็นทหารประจำการ สังกัดหน่วยรบพิเศษ คือ จ.ส.อ.ปัญญา ศรีเหรา สังกัดศูนย์สงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี ถูกหมายจับเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 อีกคนคือ ส.อ.สมชาย บุนนาค สังกัดกองร้อยกองบังคับการกรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ถูกออกหมายจับ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2552

พล.อ.อนุพงษ์ เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง แต่โดยหลักการเคยบอกไปแล้วว่า ใครที่กระทำความผิด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมได้เลย ทางกองทัพให้การสนับสนุนไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินการตามกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้เลย
ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษกับ ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ พลโทภุชงค์ รัตนวรรณ นอกจากมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องทำ เช่น กรณีที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการขอตัว หรือมีการทำหนังสือมายังกองทัพ ทางกองทัพจะดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ

ผ่านไปครี่งปีแล้ว ทหารทั้งสองคน ยังลอยนวลอยู่ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ไม่มีใครรู้ มีแต่พวกทหารด้วยกันเองที่รู้ดี อย่างที่รู้ๆกันอยู่ ถ้าพลตำรวจเอกธานี สมบูรณ์ทรัพย์ สมัยที่รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีนี้ อยากจะจับสองทหารรบพิเศษ ก็ต้องถือหมายจับเข้าไปที่ค่ายป่าหวาย ลพบุรี ซึ่งเป็น “ เขตทหาร ห้ามเข้า” ถ้าทหารไม่ให้เข้า ก็เข้าไมได้ ถึงแม้จะมีผู้ต้องสงสัยว่า ยิงนายสนธิ หลบซ่อนตัวอยู่ในนั้น หรือในค่ายทหารอื่นๆ

ไม่เหมือน กรณีที่ บุกรัง เสธฯแดง ที่ทหารให้เข้า จูงมือตำรวจไปจับคนสนิทเสธฯแดง และทลายคลังแสงส่วนตัว ที่ ม. พัน 4 เกียกกาย

พลเอกอนุพงษ์ จะไม่รู้เลยหรือว่า ทหารที่ถูกหมายจับ ทั้ง 2 คน อยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร ถ้าเพียงแต่พลเอกอนุพงษ์พยักหน้าเท่านั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะได้ตัวทหารทั้งสองคนนี้มา

หรือว่า เรื่องแบบนี้ ไม่เข้าข่าย กระทบกับศักดิ์ศรีของผู้บัญชาการทหารบก พลเอกอนุพงษ์ และกองทัพบก จึงไม่ให้ความสนใจ เหมือน หลายกรณีที่มีทหารประจำการ ใช้เครื่องหมายมงกุฎครอบดาว อ้างสิทธิในการถืออาวุธ เป็นเกราะกำบัง เข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย ผู้บังคับบัญชา รู้ทั้งรู้ แต่ก็ไม่ห้ามปราม ตัดไฟแต่ต้นลม ถือว่า ธุระไม่ใช่ อ้างว่า เป็นเรื่องส่วนตัว เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ตราบใดที่ไม่กระทบกระเทือนต่อศักดิ์ศรีของกองทัพ ปล่อยให้ “ เสธฯ” ทั้งหลายไปหากินนอกกรมกอง ตามสะดวก

ขอถาม พลเอก อนุพงษ์ว่า หลักการของผู้บัญชาการทหารบก ในกรณี ปฎิบัติการต่อ เสธฯ แดง กับ หลักการในกรณีมีผู้ใช้อาวุธสงคราม ยิงถล่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ทำเนียบรัฐบาลฃ ที่สนามบินดอนเมือง กับ กรณีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ผู้ต้องสงสัยจนถูกออกหมายจับ เป็นทหารสังกัดหน่วยรบพิเศษ 2 นาย มีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น