xs
xsm
sm
md
lg

เอาเงิน 76,000 ล้านบาทไปทำอะไรดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ในขณะที่กลุ่มเสื้อแดงกำลังดิ้นพล่าน เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับบ้านเมือง ซึ่งเพิ่งจะผ่านเดือนแห่งความสุขมาหยกๆ ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะทำสงครามประชาชน เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เอาทักษิณกลับประเทศ โดยไม่ต้องติดคุก แ ละได้เงิน 76,000 ล้านบาทคืน พวกเรา คนไทยที่รักชาติ รักประชาธิปไตย ควรจะใช้ช่วงเวลา ก่อนที่จะถึงวันพิพากษาคดียึดทรัพย์ นช.ทักษิณ ชินวัตร คือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 มาช่วยกันคิดว่า ถ้าศาลตัดสินให้ยึดทรัพย์เงิน 76,000 ล้านบาทแล้ว เราควรจะเอาเงินก่อนนี้ไปทำอะไรบ้าง

ย้อนอดีตกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการยึดทรัพย์ผู้มีอำนาจทางการเมือง 4 ครั้ง คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ กับพวก

จอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ.2506 เพียง 4 ปี 9 เดือน ที่อยู่ในอำนาจ มีทรัพย์สินรวมกัน 2,800 กว่าล้านบาท ถ้าเทียบเป็นค่าเงินในสมัยนี้ ก็น่าจะหลายหมื่นล้านบาท เมื่อจอมพลสฤษดิ์ตายคาเก้าอี้นายกฯ ลูกและเมีย ซึ่งมีหลายคน ฟ้องร้องแย่งชิงมรดกกัน จึงทำให้คนไทยรู้ว่า นายกรัฐมนตรี ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีคนบางกลุ่ม ยกย่องว่า เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มีทรัพย์สมบัติ มากมาย เกินกว่า ที่คนที่ทำมาหากินโดยสุจริต จะพึงมี

ข้อสงสัยนี้ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน และสื่อมวลชนที่ดังขึ้นทุกวันว่า ทำไมจอมพลสฤษดิ์จึงมีเงินมากมายขนาดนั้น โกงบ้านโกงเมืองมาหรือเปล่า ทำให้จอมพลถนอม กิตตขจร นายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ต้องใช้มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี พ.ศ.2502 ยึดทรัพย์มูลค่า 600 กว่าล้านบาทของจอมพลสฤษดิ์ ด้วยข้อหาว่าจอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการโดยมิชอบ กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐหลายครั้งหลายหน

มาตรา 17 นี้ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเหนือกฎหมายทั้งหมด จะสั่งประหารชีวิต หรือจำคุกใคร โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก็ได้ เป็นเหมือนศาลเตี้ย ที่ออกมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่ต้องมาถูกเล่นงานดวยกฎหมายฉบับนี้เสียเอง

ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภรรยาจอมพลสฤษดิ์ พยายามต่อสู้ ฟ้องศาล เรียกสมบัติคืน แต่ไม่สำเร็จ

รายต่อมา จอมพลถนอมกับพวก คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร โดนเหมือนกัน หลังจากถูกนักศึกษาประชาชนขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว แรงกกดันของสังคมในตอนนั้น ทำให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์สินของจอมพลถนอมและพวก รวมมูลค่าสี่ร้อยกว่าล้านบาท ในปี 2517 แม้ว่าฝ่ายจอมพลถนอม จะต่อสู้เพื่อขอทรัพย์สินคืนโดยการฟ้องศาลแต่ก็ไม่สำเร็จ

รายที่ 3 พลเอกชาติชาย ชุนหะวัณ กับพวกที่เป็นรัฐมนตรีรวม 10 คน หลังถูก ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อทำการอายัดทรัพย์ และตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองที่เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งในที่สุดมีคำสั่งยึดทรัพย์รวมมูลค่า หนึ่งพันหกร้อยกว่าล้านบาท โดยทั้ง 10 คน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล และศาลฎีกาตัดสินว่า คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ จึงได้ทรัพย์สินคืนไป ไม่โดนยึด

รายที่ 4 นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ 233 ล้านบาท ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และต่อมาในวันที่ 28 ตุลาคม 2546 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินจำคุกนายรักเกียรติ ในคดี รับสินบน เป็นเวลา 15 ปี ปัจจุบัน นายรักเกียรติได้รับการพักโทษและปล่อยตัว หลังจากติดคุกมา 5 ปี

ส่วนนายวัฒนา อัศวเหม ที่ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 10 ปี ในคดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ไม่โดนยึดทรัพย์

มูลค่าสินทรัพย์ของนักการเมือง ที่ถูกยึดในอดีตเทียบไม่ได้กับ มูลค่า 76,000 ล้านบาท ของ นช.ทักษิณ และครอบครัวเลย ถึงแม้จะปรับค่าให้เป็นมูลค่าในปัจจุบันแล้วก็ตาม

เงินจำนวนนี้เท่ากับเกือบเท่ากับ 5 % ของงบประมาณรายจ่ายปี 2553 ถ้าเอาเงิน ก่อนนี้ไปสร้างรถไฟฟ้าใน กทม.จะได้รถไฟฟ้าเกือบ 2 เส้น และถ้าเอาไปจ่ายหนี้นอกระบบให้ครัวเรือนไทย ที่มีตัวเลขว่าเป็นหนี้กันครัวเรือนละ 130,000 จะปลดหนี้ให้คนไทยได้เกือบ 6 แสนครอบครัว

นช.ทักษิณไม่ต้องกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ ก็สามารถทำให้คนไทยหายจนได้

มีสิงคโปร์ มีหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นชื่อ Corruption Practice Investigation Bureau หรือ CPIB ซึ่งได้ตั้งพิพิทธภัณฑ์ คอร์รัปชัน เพื่อให้คนสิงคโปร์รุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า นักการเมือง และข้าราชการในอดีตที่คอร์รัปชั่นและถูกจับได้ มีวิธีโกงอย่างไร เช่น กรณีของ นาย Tan kia Gan รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาแห่งชาติ ที่ถูกสอบสวนในเดือนสิงหาคม 2509 ข้อหาเป็นคนกลางช่วยเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจขายเครื่องบิน ให้สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ แต่พยานไม่ยอมให้การปรักปรำ จึงไม่ถูกลงโทษอาญา แต่ถูกปลดจากตำแหน่ง หรือในกรณีของ นาย Wee Toon Boon รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่ถูกข้อหารับสินบน เป็นบังกะโลมูลค่า 5 แสนเหรียญ ตั๋วเครื่องบินไปอินโดนีเซียสำหรับตัวเองและครอบครัว และพอกเก็ตมันนี้ เป็นเงิน 3 แสนเหรียญ เขาถูกจำคุก 4 ปีครึ่ง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 18 เดือน
รายที่สามคือ นาย Teh Cheang Wan รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาแห่งชาติ ถูกตั้งข้อหาว่า รับสินบนจากนักพัฒนาที่ดินรวม 1 ล้านเหรียญ เมื่อ พ.ศ.2529 แต่เขาฆ่าตัวตายก่อนที่จะมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล

พฤติกรรมของนักการเมืองสิงคโปร์ทั้ง 3 ราย นี้ เป็นการโกงแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา เป็น “คอร์รัปชั่น 101" เทียบไม่ได้กับลีลา ชั้นเชิง และนวตกรรมของนักการเมืองไทย

นช.ทักษิณ คงจะเต็มใจ ถ้าหากว่า จะมีการเจียดเงิน 76,000 ล้านบาทของเขา ไปสร้างพิพิทธภัณฑ์คอร์รัปชันแบบสิงคโปร์ โดยนำเรื่องของเขาเป็นกรณีศึกษาหลัก เป็นการสร้าง สังคมแห่งการเรียนรู้ ที่เขาอยากจะทำอยู่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น