โฆษกเพื่อไทย จับแพะชนแกะ จับป๋าโยงอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมือง อ้างนัดถก “อภิสิทธิ์” ไม่เหมาะสม เชื่อฝ่าฝืน รธน.ม.14 สมองฝ่อเรียกร้องร้องให้ลาออกจากประธานองคมนตรี ดักคอ กกต.พิจารณาคดียุบ ปชป.อย่ามีวาระซ่อนเร้น จี้เลิกเกรงกลัวผู้มีบารมี ที่สนับสนุนรัฐบาล-ปชป.
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรายงานข่าวออกมาว่า ได้แนะนำไม่ให้นายกรัฐมนตรียุบสภา รวมทั้งจะไปเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ และรู้สึกกังวลกับกรณีที่ดินเขาสอยดาว จ.จันทบุรี ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 14 ระบุไว้ชัดเจนถึงหน้าที่ขององคมนตรี และประธานองคมนตรีว่า ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดๆ หรือเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ดังนั้น การที่ พล.อ.เปรม พบกับนายอภิสิทธิ์นั้นเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ก็ได้ออกมาชื่นชมว่า คนไทยโชคดีที่ได้นายกรัฐมนตรีชื่อนายอภิสิทธิ์มาครั้งหนึ่งแล้ว ทำให้สังคมเกิดความสับสน ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กลับถูกกล่าวหาว่าทรยศชาติ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พล.อ.เปรม เป็นคู่ขัดแย้งและอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมือง
นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า ขอฝากคำถามไปยังประชาชนให้ช่วยกันพิจารณาด้วยว่า หัวหน้ารัฐบาลตัวจริง คือ พล.อ.เปรม ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ขาดภาวะความเป็นผู้นำ โดยยอมอยู่ภายใต้ระบอบอำมาตย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและตำแหน่งใช่หรือไม่ และพล.อ.เปรมมีบทบาทอยู่เหนือรัฐบาล ประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ ดังนั้น ขอเรียกร้อง พล.อ.เปรมว่า มีหน้าที่อะไรที่จะตัดสินใจแทนรัฐบาลหรือประชาชนทั้งประเทศ หาก พล.อ.เปรมต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็ขอให้ลาออกจากประธานองคมนตรี อย่าทำตัวให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และอย่าเป็นอีแอบทางการเมืองให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่าการเดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรมนั้นเป็นการเข้าพบเพื่อสวัสดีปีใหม่ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีปฏิเสธทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ทุจริตก็บอกว่าไม่มีการทุจริต ตนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พล.อ.เปรมได้เรียกนายอภิสิทธิ์ไปเข้าพบ ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้าพบ พล.อ.เปรมก็เท่ากับเป็นการข่มขู่พรรคร่วมรัฐบาล เป็นนัยทางการเมืองซ่อนเร้นแอบแฝงไม่ให้บีบพรรคประชาธิปัตย์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส่วนเชื่อว่าจะสามารถสยบพรรคร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า มีพรายกระซิบมาบอกตนว่า พรรคร่วมรัฐบาลอึดอัดที่นายอภิสิทธิ์ใช้วิธีแบบนี้ แต่คงจะต้องไปถามนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเองว่าเขาอึดอัดแบบไหน
นายพร้อมพงศ์แถลงถึงกรณีที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท และเงินสนับสนุนของ กกต.23 ล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะส่งเรื่องเข้าที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาและมีมติอีกหรือไม่นั้นต้องขอพิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้ออ้างของนายอภิชาตรับฟังไม่ได้ ขอฝากไปยังประธาน กกต.และกกต.อีก 3 ท่านว่า อย่ามีวาระซ่อนเร้นและต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 236(5) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะพิจารณาวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่ประธาน กกต.เป็นผู้ชี้ขาดเพียงผู้เดียว นอกจากนี้ คดีนี้ กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาสอบสวนโดยใช้เวลากว่า 7 เดือน และส่งเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุม กกต.แล้ว ก่อนที่จะมีมติเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2552 นั้นแสดงว่า กรรมการการเลือกตั้งทุกคนได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนและเอกสารในสำนวนแล้ว ดังนั้นจะอ้างว่าเอกสารมีมาก ต้องใช้เวลานั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล อีกทั้งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาซ้ำอีกชุดนั้นแสดงให้เห็นว่า อาจมีการยื้อเวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และคณะกรรมการที่ตั้งภายหลังนี้ไม่ได้ผ่านมติของ กกต.
นายพร้อมพงศ์กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องประธาน กกต.และกกต.อีก 3 ท่านว่า ขอให้วินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา ใช้มาตรฐานเดียวกับที่เคยเสนอยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคอื่นๆ โดยไม่เกรงกลัวหรือเกรงใจผู้มีบารมีคนใดที่สนับสนุนรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ เพราะบารมีและอำนาจสักวันหนึ่งก็ต้องสูญสิ้นไปตามธรรมชาติและความเสื่อมของผู้นั้น แต่ความเที่ยงธรรมต่างหากที่ไม่มีวันตาย ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ม.ค. เวลา 10.00 น.ตนและทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยจะไปยื่นหนังสือต่อประธาน กกต.เพื่อทวงถามคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นครั้งที่ 2 ด้วย