“การเมืองใหม่” ชี้คนเสื้อแดง ชุมนุมกดดัน พล.อ.สุรยุทธ์ ที่บ้านพักเขายายเที่ยง เป็นการโจมตีเพื่อหวัง กระทบไปถึง “ป๋าเปรม” คาดชุมนุมงวดนี้ไม่หนัก เพราะกลัว รบ.ใช้ยาแรงปราบม็อบ พร้อมแนะ รบ. ใช้โอกาสนี้เริ่มปฎิรูปจัดสรรที่ดินไร้เอกสารสิทธิ์ เหมือนเขายายเที่ยง ให้ ปชช. ได้ทำกิน – จี้ นายก ทบทวนมติ ก.ตร.คดี 7 ตุลา ชี้เป็นแค่การรั้งเวลา กระบวนการอำนาจยุติธรรม และอำนาจของ ป.ป.ช.
วันนี้ (10 ม.ค.) นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่ นายประพันธ์ คูณมี กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และนายชุมพล สังข์ทอง นายทะเบียนและกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่แถลงข่าวถึงกรณี การเคลื่อนไหว การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในขณะนี้ว่า ทางพรรคการเมืองใหม่เชื่อว่า เป้าหมายการต่อสู้ของคนเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในรอบนี้ น่าจะอยู่ที่ต้องการปั่นป่วน และกดดันให้รัฐบาลยุบสภาเท่านั้น คงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อเหตุจลาจล เผาบ้าน เผาเมืองเหมือนอย่างเดือนเมษายน ปีที่แล้ว
ทั้งนี้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ คงมีการประเมินว่าคดีร่ำรวยผิดปกติ ที่จะมีการตัดสินในเร็ว ๆ นี้ ตนน่าจะได้ทรัพย์สินคืน 2-3 หมื่นล้านบาท การเคลื่อนไหวจึงไม่จำเป็นต้องรุนแรงนัก เพราะเพียงแค่รัฐบาลยุบสภา ก็จะทำให้หลายอย่างง่ายขึ้น เพราะทางพรรคเพื่อไทย คงมั่นใจว่าหากมีการยุบสภา พรรคของตนก็จะได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งและเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นเรื่องง่าย
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดง ประเมิณว่ารัฐบาล และกองทัพ จะใช้ความเด็ดขาดและความชอบธรรมจัดการกับการป่วนบ้านป่วนเมืองมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ลดความเข้มข้นลง ดังนั้นในกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธ์ หนึ่งในแกนนำ นปช. ออกมาประกาศจ่าจะระดมคนให้ได้ 1 ล้านคนนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้
พรรคการเมืองใหม่ ยังระบุถึงกรณีการชุมนุมที่บริเวณที่ดินเขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา ของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ ด้วยว่า กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขจุดชนวน ในการระดมพล และมุ่งกระแทกไปที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี หรือมหาอำมาตย์ ในความหมายของคนเสื้อแดง เนื่องจาก พล.อ.สุรยุทธ์ ถือเป็นองคมนตรีลำดับที่ 3 หากมีการโจมตีก็จะสามารถกระทบไปถึงประธานองคมนตรี รวมถึงสถาบันองคมนตรีได้ อย่างไรก็ตามทางพรรคเห็นด้วยกับการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จะคืนที่ดินให้กรมป่าไม้ และออกมาขอโทษประชาชนอีกครั้ง เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจในเรื่องดังกล่าว
อนึ่งสำหรับปัญหาที่ดินเขายายเที่ยงนี้ ทางพรรคการเมืองใหม่มองว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นการจัดสรรปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นระบบ ซึ่งยังมีที่ดินแบบเดียวกันกับเขายายเที่ยง อีกนับร้อยล้านไร่ ในประเทศ แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณาออกเอกสารดังกล่าว เพื่อให้ประชาชน ได้พัฒนาอาชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง โดยในปัจจุบันประเทศไทยเอง ก็มีดาวเทียมธีออส ที่สามารถถ่ายภาพให้เห็นได้ถึงพื้นที่ป่าได้อย่างครอบคลุมแล้ว การที่รัฐบาลจะนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาตรวจสอบว่า พื้นที่ใดไม่มีสภาพของป่าสงวนแล้วก็ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
พรรคการเมืองใหม่จึงขอเสนอว่ารัฐบาลควรนำที่ดินซึ่งไม่มีสภาพเป็นป่าสงวนนั้น มาจัดสรรให้กับประชาชนผู้ไร้ที่ดินทำกิน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีที่ทำกิน อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชาติได้เป็นอย่างดี แต่ในการที่จะจัดสรรที่ดินให้ประชาชนนั้น ทางพรรคมองว่า รัฐบาลไม่ควรพันธนาการอยู่แค่ การจำกัดให้ประชาชนเท่าการเกษตรเท่านั้น แต่ควรให้อิสระประชาชนในการทำมาหากิน หากใครมีฝีมือทำหัตถกรรม ค้าขาย หรือแม้แต่ผลิตสินค้าแปรรูปเอง ก็ต้องสามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางพรรคการเมืองใหม่มองว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นจากนี้ทางพรรคก็จะผลักดันและสนับสนุนเรื่องนี้ต่อไป
นอกจากนี้ พรรคการเมืองใหม่ยังเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทบทวนมติ ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน กรณีที่ ก.ตร. มีมติที่จะส่งสำนวนของคณะกรรมการการป้องกัน และปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ได้ชี้มูลความผิด 3 นายตำรวจ ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต. เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี เหตุสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ทำร้ายพันธมิตรฯ ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของ ป.ป.ช.
โดยเรื่องนี้ทางพรรคมองว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการยื้อเวลา และไม่เคารพคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยตีความมาก่อนแล้วอย่างเช่น กรณีนาย วีรพล ดวงสูงเนิน อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิด แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเห็นว่าไม่ผิด จน ป.ป.ช. ต้องเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีอำนาจ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนที่รับอุทธรณ์ไม่มีอำนาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ซึ่งในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกันที่ ก.ตร. ไม่มีอำนาจเหนือ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรียังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน ปล่อยให้ ก.ตร.ดำเนินการต่อ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการรั้งกระบวนการอำนาจยุติธรรม และอำนาจของ ป.ป.ช. ต่างกับกรณีของ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ลาออกจากตำแหน่ง แต่นายกรัฐมนตรี กลับออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจน