"เนวิน-สมศักดิ์” สั่ง”มานิต” ลุยชิงแถลงสื่อลาพักราชการ หลังเล่นบทมีมารยาท ยื่นใบลาแต่ถูกปฏิเสธ เหตุนายกฯ ต้องการให้ไขก็อก รมช.สธ.มากกว่า ขณะที่ใบลาระบุขอความเป็นธรรม เปิดทางสอบเพื่อไม่กดดันขรก. ยันพร้อมรับผิดชอบหากป.ป.ช.ชี้มูลมีเอี่ยวทุจริต
วันนี้ (6 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีโดยนายมานิตยืนยันว่า จะขออยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป และปฏิเสธไม่ได้มายื่นใบลาราชการ 30 วัน โดยนายมานิตได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที และได้เดินทางไปพบนายเนวิน ชิดชอบ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่อาคารสิริภิญโญ พญาไท เพื่อหารือหลังจากที่นายกฯไม่รับใบลาราชการของนายมานิต แต่ต้องการให้นายมานิตลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับนายวิทยา แก้วภราดัย ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้
หลังจากนั้นนายมานิตได้เดินทางกลับเข้ามาพบนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกพรรคภูมิใจไทย ที่ห้องทำงานของนายศุภชัย ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล และได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งพร้อมกับโชว์ใบลาขอพักราชการ 30 วัน กับสื่อมวลชนได้มีการแจ้งยังสื่อมวลชนทำเนียบว่า นายมานิตจะแถลงข่าวที่ตึกนารีสโมสร
โดยนายมานิต ระบุว่า ก่อนหน้าที่ไม่ได้ตอบกับทางผู้สื่อข่าว จริงๆแล้วสาเหตุที่มาพบนายกฯ มีความตั้งใจมายื่นหนังสือลาพักราชการ 30วัน เพื่อให้มีการตรวจสอบโครงการของกระทรวง โดยไม่มีการกดดันทางฝ่ายการเมือง หรือทางด้านใด และเมื่อพบนายกฯในฐานะผู้บังคับบัญชา ซึ่งนายกฯมีเหตุผลในฐานะผู้บังคับบัญชาส่วนหนึ่ง ยังไม่ให้มีการลาพักราชการ
“แต่ผมคิดว่า ถ้าเราไม่ลาพักราชการหลังจากที่บอกกับนายกฯ ต้องมานั่งคิดว่าการดำเนินการในกระทรวงจะมีความกดดันว่า เราเป็นนักการเมืองยังอยู่ในกระทรวงการตรวจสอบต่างๆในกระทรวงอาจจะมีผลหรือเปล่า ตรงนี้เป็นสาเหตุในการตัดสินใจ” นายมานิต กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่าตอนมาพบนายกฯ ท่านไม่อนุมัติให้ลาออก แล้วตอนนี้อนุมัติแล้วหรือ นายมานิต กล่าวว่า อันนี้อยู่ที่นายกฯ เมื่อถามอีกว่า หมายถึงการขอพักราชการต่อนายกฯทางอากาศหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า ไม่ใช่ ในส่วนนี้ไม่ได้ขอกลางอากาศ เป็นการยื่นหนังสือตามขั้นตอนราชการ ต่อข้อถามที่ว่า ทำไมไม่ลาออกจากการเป็นรมต.แทนการลาพักราชการ 30วัน นายมานิต กล่าวว่า ในแนวทางความรับผิดชอบทางการเมือง มีหลายวิธี เช่น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่ากทม. ในคดีทุจริตรถดับเพลิง ก็ลาพักราชการก่อน และให้กระบวนการตรวจสอบทำงานไป ตรงนี้เรามองว่า ถ้าเรายังไม่ลาพักราชการอาจจะมีผลต่างๆอย่างที่พูดไป จึงคิดว่า เราน่าจะลาเพื่อให้การตรวจสอบและการดำเนินการของคณะกรรมการรวมถึงภายในกระทรวงจะไม่มีแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง
เมื่อถามว่า ถ้านายกฯไม่ลาอนุมัติให้ลาพักราชการจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป นายมานิต กล่าวว่า อันนี้อยู่ที่นายกฯ เชื่อว่านายกฯคงจะมีเหตุผล แต่นายกฯยังไม่ได้เห็นหนังสือ แต่ที่พบนายกฯเป็นการพูดคุยเบื้องต้นก่อน ในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็เล่าให้ฟังด้วย อย่างไรก็ตามตอนนี้ได้ยื่นใบลาพักราชการไปแล้วผ่านเจ้าหน้าที่
เมื่อถามว่า ถ้านายกฯไม่อนุมัติการลาจะหยุดการทำงานหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า เราต้องบอกว่า ในนี้เรามีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (7ม.ค.) แล้วคิดว่านายกฯ คงมีเหตุผล เมื่อถามว่า ทำไมถึงลา 30วัน นายมานิต กล่าวว่า คิดว่าจากนี้ไปสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดสมัยประชุม ประมาณปลายเดือนม.ค. คงเข้าสู่กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คงจะช่วงประมาณนั้น
เมื่อถามว่า หากการอภิปรายอยู่ในช่วงที่ลาพักราชการ จะมาชี้แจงต่อสภาหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า หากอยู่ในช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเป็นช่วงคาบเกี่ยววันลา อันนั้นอาจจะดำเนินการขอถอนใบลาก็ได้เพื่อจะมาชี้แจงในสภาในฐานะที่ดูแลกระทรวงนี้ ซึ่งตรงนั้นคิดว่ากระบวนการเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาก็คงจะทราบ เมื่อถามด้วยว่าหากผลการสอบไม่เสร็จภายใน 30วันจะลาต่อหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า กระบวนการมีเรื่องอภิปรายในสภาก็เป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการตรวจสอบที่ให้ป.ป.ช.ดำเนินการ ตนก็มีในหนังสือใบลาพักราชการก็ขอให้นายกฯ เร่งดำเนินการให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช.
เมื่อถามว่าเหตุผลที่นายกฯไม่ให้ลาพักราชการคืออะไร นายมานิต กล่าวว่า ต้องถามนายกฯ พอดีนายกฯรีบไปประชุมพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการสรรหารมว.สาธารณสุข ต่อข้อถามอีกว่า เป็นเพราะโดนผู้ใหญ่ในพรรคลอยแพถึงต้องวิ่งไปมา 2 รอบก่อนแถลงหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า
“ไม่ได้วิ่ง บางครั้งอาจจะดูเหมือนอย่างที่ท่านว่า แต่นายกฯท่านรีบกลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้การพูดคุยกันน้อยไป แต่เรามองว่า ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะลาเพื่อให้การตรวจสอบดำเนินการอย่างเต็มที่ ผมคิดว่าเราน่าจะใช้ช่องทางนี้ เพื่อให้การทำงานต่างๆทำงานราบรื่นที่สุด”
เมื่อถามด้วยว่า นายกฯ ไม่ต้องการให้พักราชการแต่ต้องการให้ลาออกจากตำแหน่งจริงหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า อันนี้ต้องถามนายกฯ เมื่อถามว่าเป็นการชิงแถลงลาพักราชการที่จริงแล้วควรจะลาออกหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า นายกฯรู้อยู่แล้ว เพราะความตั้งใจที่จะมาคือการพักราชการ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆราบรื่น แต่นายกฯรีบไปพรรคเลยมีเวลาคุยกันน้อย เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า คงไม่ใช่ประเด็นนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกันเพราะเรามองว่า การลาพักราชการการดูแลกระทรวงสาธารณสุขนายกฯสามารถตั้งรักษาราชการได้อยู่แล้ว
เมื่อถามอีกว่า กังวลหรือไม่หากนายกฯไม่อนุญาตให้ลาพักแล้ว ทำให้ขาดราชการจน เป็นเหตุให้ต้องปรับออกจากครม.หรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า มันมีกระบวนการของเอกสารทางราชการ ว่า นายกฯต้องลงนาม หรือไม่ลงนามอย่างไร อันนี้คือหลักการทั่วไป เมื่อถามว่า เป็นการขัดความต้องการของผู้บัญชาการหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า คงไม่ใช่ ไม่เกี่ยวกัน เพราะเวลาคุยนายกฯรีบไปมีเวลาน้อย
เมื่อถามว่า การลาพักราชการมีการปรึกษากับผู้ใหญ่ในพรรคหรือไม่ เพราะในมติพรรคภูมิใจไทยไม่มีมติในเรื่องนี้ นายมานิต กล่าวว่า มติพรรคที่ขอไปคือการตรวจสอบจะได้เป็นแนวทางการทำงานของพรรคและเป็นบรรทัดฐาน ขณะที่ฝ่ายสภาก็มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งการตอบในสภาตนก็ต้องตอบให้ชัดเจน มีข้อมูลชัดเจน ไม่ได้บอกว่าจะต้องใช้พวกมากลากไป ต่อข้อถามว่า เชื่อว่าจะลดกระแสกดดันจากสังคมได้หรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ แต่เราพยายามแสดงเจตนาความรับผิดชอบ เพื่อให้การตรวจสอบทำได้อย่างเต็มที่ เพราะถ้ายังอยู่ก็จะถูกมองว่าตนไปกดดันข้าราชการส่วนที่เหลือและถ้าตนยังอยู่แค่วันเดียวก็ทำให้กระบวนการตรวจสอบช้าไปอีก ส่วนปลัดจะเป็นอย่างไร นายกฯคงจะพิจารณา เพราะทั้งกระทรวงจะต้องมีคนทำงาน ไม่มีคนทำงานเป็นไปไม่ได้ หากปลัดไม่สามารถทำงานได้คนอื่นก็ต้องทำงานต่อ เมื่อถามว่า นายกฯใช้อำนาจความเป็นนายกฯขอให้ท่านลาออกพร้อมจะลาออกหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า อันนั้นอยู่ที่นายกฯ
นายมานิต ยังกล่าวในตอนท้ายว่า ก่อนยื่นใบลาพักราชการได้ปรึกษากับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งท่านบอกว่า อีกแล้วทำให้การตรวจสอบสามารถทำได้อย่างเต็มที่ ถ้าไม่ลาออกอยู่ต่อก็เป็นการกดดันข้าราชการ
ทั้งนี้ในหนังสือขออนุมัติลาราชการ ระบุว่า หนังสือที่ สธ. 0100.1/27 วันที่ 6 มกราคม 2553 เรื่องขออนุมัติลาราชการ กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุว่าข้าพเจ้าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดจ้างในโครงการไทยเข้มแข็ง นั้น ข้าพเจ้าขอกราบเรียนชี้แจงว่า ข้าพเจ้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ ระบุแต่อย่างใด ด้วยเหตุผล ดังนี้ 1.ข้าพเจ้ามิได้กำกับ ควบคุมการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข 2.ขณะนี้ ยังไม่มีการจัดซื้อ จัดจ้าง และไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข จึงยังไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา แก้วภราดัย) ได้กราบเรียน ชี้แจงไปแล้ว
ข้าพเจ้าจึงขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี 2 ประการ คือ 1.โปรดมีบัญชาให้กระทรวงสาธารณสุข ส่งข้อมูลโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งอาจเป็นองค์กรอิสระที่มีกฎหมายรองรับ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 2.โปรดอนุมีติให้ข้าพเจ้า ลาพักราชการ เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในชั้นต่อไป เป็นไปอย่างมีอิสระ ป้องกันครหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายนโยบายอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบพบว่า ข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ข้าพเจ้าพร้อมแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทันที จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติด้วย จะเป็นพระคุณ ขอแสดงความนับถือย่างยิ่ง นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
จดหมายถึงนายกฯ ขอลาราชการ 30 วันจากนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข