xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อสัญญาหวยออนไลน์ รัฐล้มโต๊ะจ่ายชดเชยจิ๊บจ๊อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



"เรื่องมันฟ้อง"
โดย...กรงเล็บ

ถือเป็นการตัดสินใจทางนโยบายครั้งสำคัญของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ที่เลือกกำหนดทิศทางที่ถูกต้องให้กับบ้านเมือง ด้วยการไม่เพิ่มช่องทางการพนันจาก “หวยออนไลน์”

แน่นอนว่า การตัดสินใจในประเด็นที่ท้าทายสังคมไทยเช่นนี้ ย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ความเห็นของแต่ละฝ่าย ใช้อะไรเป็นหลักคิด

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้ออกหวยออนไลน์ มีวิธีคิดง่ายๆว่า เมื่อทำให้สิ่งผิดกฎหมาย คือหวยใต้ดินหมดไปไม่ได้ ก็ยกมันขึ้นมาอยู่บนดินให้ถูกกฎหมายเสีย เพื่อนำรายได้มาเข้ารัฐดีกว่าที่จะเสียเงินจำนวนดังกล่าวให้กับธุรกิจใต้ดิน

ถามว่าคิดอย่างนี้ผิดไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ผิดหรอก แต่มีคำถามกลับไปเหมือนกันว่า ถ้าอย่างนั้นใช้หลักคิดเดียวกันนำเอาสิ่งผิดกฎหมายที่ปราบไม่ได้ มาทำให้ถูกกฎหมายทั้งหมดเลยดีไหม

คำตอบคือ ถ้าทำอย่างนั้นผู้คนก็จะอยู่กับความไม่ถูกต้อง และปล่อยให้มันกลืนกินสังคมไปทีละเล็กละน้อย จนทำให้รากฐานอ่อนแอ เราต้องการเห็นสังคมไทยเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

ล่าสุด สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “ความคิดเห็นประชาชนต่อกรณีหวยออนไลน์” โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 53.6 % มองว่าหวยออนไลน์ จะเป็นอบายมุขมอมเมาคนไทยมากขึ้น และส่วนใหญ่ยังมองว่า จะทำให้เด็ก และเยาวชนที่เป็นหญิงหันมาเล่นหวยอฮนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 52.9 % เห็นว่ารัฐบาลควรจะต่อสู้คดีความกับบริษัทเอกชน เพื่อไม่ให้มีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะที่ 35.4 %เห็นว่า รัฐบาลควรยอมให้มีหวยออนไลน์ ส่วนปัญหาน่ากังวลอันดับแรกที่อาจตามมา หากเด็กและเยาวชนมีการเล่นหวยออนไลน์มากยิ่งขึ้นคือ ปัญหาแหล่งการพนัน อบายมุขเพิ่มมากขึ้น 75.1 %

ผลการสำรวจยังพบว่า หากมีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทย ประชาชนส่วนใหญ่ 58 % ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหวยใต้ดินได้ อีกทั้งหวยออนไลน์จะยิ่งเป็นการมอมเมาเยาวชน เปิดช่องทางให้คนเล่นหวยมากขึ้น

วันนี้ “อภิสิทธิ์” ยึดจุดยืนเดิมที่ประกาศเสมอมาว่า ไม่เห็นแก่เงินที่รัฐจะได้มากไปกว่าการกำหนดนโยบายที่ถูกต้องให้สังคม ปัญหาจึงมีอยู่เพียงแค่ว่า จะเดินหน้าล้มหวยออนไลน์อย่างไร เพื่อไม่ให้รัฐเสียหายจากการฟ้องร้องของเอกชน ควบคู่ไปกับการให้ความเป็นธรรมกับเอกชนด้วย

เพราะมีสัญญาค้ำคออยู่

แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก เพราะเมื่อพลิกสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลาก (หวยออนไลน์) ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทำไว้กับบริษัทล็อกซเลย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด จะพบว่า

กรณีดังกล่าวมิใช่การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่เป็นสัญญาที่รัฐว่าจ้างให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ที่สำคัญคือ ในข้อ 12 ที่ระบุถึงการบอกเลิกสัญญา ก็กำหนดชัดว่า

หากรัฐบาลมีนโยบายล้มเลิกโครงการนี้ ก็สามารถดำเนินการได้


โดยเนื้อหาในข้อ 12.1 ระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาได้โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือล่วงหน้าไปยังผู้รับจ้างไม่น้อยกว่า 12 เดือน ในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายล้มเลิกโครงการนี้ หรือมีความจำเป็นต้องล้มเลิกโครงการนี้

ผู้ว่าจ้างจะชดเชยการลงทุนบางส่วนให้แก่ผู้รับจ้างเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างบริการเฉลี่ยต่อ 1 เดือน นับแต่วันที่เริ่มจำหน่ายสลากจริง ถึงวันยกเลิกสัญญา จำนวนไม่เกิน 12 เดือน โดยผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หรือค่าชดเชยอย่างใดอีก

ดังนั้นการที่บริษัทล็อกซ์เลย์ ออกมาตีขลุมว่า รัฐจะต้องชดเชยเต็มจำนวนการลงทุนไปกว่า 3,000 ล้านบาท หรือไปไกลถึงขั้นการสูญเสียโอกาสทางรายได้เป็นตัวเลข “กว่าหมื่นล้านบาท”นั้น

ถือเป็นการปั่นตัวเลขเกินความเป็นจริง บนพื้นฐานความคิดของเอกชนที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม คิดแต่ได้ โดยไม่เคยคิดที่จะให้

เพราะในสัญญาระบุชัดว่า รัฐยกเลิกโครงการได้หากเป็นนโยบาย และกำหนดชัดให้ชดเชยไม่เกิน 12 เดือน ดังนั้นบริษัทล็อกซ์เลย์ ย่อมรู้ดีว่า โครงการนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกล้มเลิกสัญญาได้มาตั้งแต่ต้น จึงไม่ควรนำสัญญามาบีบรัฐว่าต้องเดินหน้าเท่านั้น

อย่าลืมว่า โครงการนี้เป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับสังคม และรัฐบาลที่ตั้งต้นเดินหน้าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่รัฐบาลภายใต้การนำของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความชอบธรรมที่จะยกเลิกโครงการได้ บนพื้นฐานที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชนตามสัญญาซึ่งก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดที่ “เกียรติ สิทธิอมร” เป็นประธาน ต้องไปพิจารณารายละเอียดของสัญญา และการชดเชยที่เป็นธรรม ไม่ใช่ชดเชยเกินความเป็นจริง ให้กับบริษัทล็อกซ์เลย์

อีกประเด็นหนึ่งที่บริษัทล็อกซ์เลย์ไม่เคยพูดถึงคือ ในสัญญาข้อ 12.3 ระบุว่า ผู้รับจ้างรับทราบแล้วว่าในขณะลงนามสัญญานี้ ศาลปกครองกำลังพิจารณาคดี ระหว่างผู้เสนอราคารายอื่นกับผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างตกลงว่า หากศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ว่าจ้างระงับการจ้าง หรือยกเลิกการประกวดราคา หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใดอันทำให้การจ้างตามสัญญานี้ไม่สามารถจะดำเนินการต่อไปได้อีก

ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ โดยผู้รับจ้างตกลงจะไม่เรียกร้องเอาค่าเสียหาย ค่าชดเชย หรือเงินอื่นใดในทำนองเดียวกันจากผู้ว่าจ้าง


เนื้อหาตามสัญญาข้อนี้สะท้อนชัดเจนว่า นับตั้งแต่บริษัทล็อกซ์เลย์จรดปากกาลงนามในสัญญานี้ก็รู้ดีว่ามี “ความเสี่ยง” ทั้งจากการยกเลิกโดยนโยบาย และปัญหาที่ยังมีข้อพิพาทค้างอยู่ในศาลปกครอง แต่บริษัท ล็อกซ์เลย์ ก็ยังกล้าซื้ออนาคตลงนามในสัญญานี้ เพราะเชื่อว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะคุ้มค่า

แนวทางที่ “อภิสิทธิ์” เดินมานั้น ถูกต้องแล้วที่ไม่ยอมจำนนโดยให้สัญญามาเป็นตัวบีบบังคับ แต่พยายามหาทางออกที่ดีให้กับสังคม และให้ความเป็นธรรมกับบริษัทเอกชน ตามที่สัญญากำหนด

ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยดี และต้องจบที่การฟ้องร้อง เรื่องของหวยออนไลน์ก็ไม่ใช่ “ค่าโง่” เพราะสัญญาฉบับนี้ถือว่า ทำไว้รัดกุม และรัฐมิได้เสียเปรียบหรือเสียค่าโง่ให้กับบริษัทเอกชน แต่เงินที่ต้องชดเชยให้เอกชน

“เป็นการซื้ออนาคตที่ดีให้ลูกหลานของเรา ไม่ต้องเสี่ยงกับช่องทางการพนันที่เพิ่มขึ้นโดยถูกกฎหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานที่ถูกต้องในสังคม”
กำลังโหลดความคิดเห็น