"ผ่าประเด็นร้อน"
ในที่สุดก็เป็นไปตามความคาดหมายสำหรับมติของพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม อุ้ม มานิต นพอมรบดี ให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไปอย่างหน้าตาเฉย
ไม่ยอมแสดงสปิริตเหมือนกับ วิทยา แก้วภราดัย ที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที หลังจากคณะกรรมการสอบสวนสรุปว่ามีความบกพร่องส่อไปในทางทุจริตในการใช้งบประมาณตามโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข
แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายคนก็มีความหวังเล็กๆว่า มานิต และพรรคภูมิใจไทยคงจะไม่ฝืนความรู้สึกของสังคมมากนัก ยอมลาออกตามหลังวิทยา เพื่อสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง และเป็นการเคารพต่อกฎเหล็ก 9 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กำหนดขึ้นมาใช้สำหรับบรรดาคณะรัฐมนตรี
แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างออกมาเป็นตรงกันข้าม เพราะมติพรรคภูมิใจไทยเข้าขั้น “ด้าน” ไม่สนใจคำว่า จริยธรรม และสปิริตของนักการเมืองเลยแม้แต่น้อย อ้างเหตุผลข้างๆ คูๆเพื่อกอดเก้าอี้แน่น
อ้างว่ารอให้ฝ่ายค้านอภิปรายซักฟอกก่อนแล้วจะได้ชี้แจง รวมไปถึงรอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดออกมาเสียก่อนแล้วถึงจะยอมลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งในกรณีหลังตามความเป็นจริงทางกฎหมายแล้ว หากโดนชี้มูลเมื่อไหร่ ถึงไม่อยากออกก็ต้องออกอยู่แล้ว เพราะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
แต่นั่นไม่เท่ากับว่าพฤติกรรมของคนในพรรคภูมิใจไทย ไม่เคยใส่ใจกับมาตรฐานทางจริยธรรม เพราะหากพิจารณามาตั้งแต่ต้น และหากเน้นเฉพาะกรณีของ มานิต ถือว่าได้กระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด หรือข้อห้ามสำหรับนักการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว
โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชี้ความผิดกรณีถือหุ้นเกินตามที่กฎหมายกำหนด มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 แต่เขาก็ยัง “ด้าน” โดยอ้างต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดออกมาก่อน หรืออยู่ต่อไปเพื่อสร้างบรรทัดฐาน ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่า เป็นมาตรฐานแบบไหนกันแน่
อย่างไรก็ดีเมื่อแน่ชัดแล้วว่า มานิต และพรรคภูมิใจไทย ยังยื้ออยู่ในเก้าอี้รัฐมนตรีต่อไปโดยไม่สนใจความรู้สึกจากสังคม ทำให้แรงกดดันดังกล่าวเบนเป้าหมายมาที่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทันที ในฐานะที่เป็นคนออกกฎเหล็ก 9 ข้อ สำหรับคณะรัฐมนตรี
กลายเป็นว่ามาตรฐานทางจริยธรรมที่วางเอาไว้อย่างสวยหรู ก็เป็นเพียงแค่หลักการที่ “สร้างภาพ” เท่านั้น ขณะที่ในทางปฏิบัติไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง หรือไม่ทั่วถึง แม้ว่าอีกด้านหนึ่งสังคมอาจจะรู้สึกเห็นใจได้ว่าองค์ประกอบของรัฐบาลผสมมาจากหลายพรรคหลายกลุ่ม ต้องประคับประคอง อะลุ้มอะหล่วย เพื่อให้อยู่รอด แต่นั่นก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก
เพราะนี่คือมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองในระดับรัฐมนตรีที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ จะต้องมีระดับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายเท่า และกรณีที่เกิดขึ้นกับ มานิต ยังถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน และ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นกรรมการ น่าจะเป็นการันตีได้ในเบื้องต้นถึงความตรงไปตรงมาและความโปร่งใส และชี้ชัดว่าส่อไปในทางทุจริต จากการเข้าไปล้วงลูก ก้าวก่ายค่อนข้างชัดเจน
หากจะว่ากันไปแล้วกรณีของ มานิต น่าจะต้องรีบลาออกไปตั้งแต่ต้น หากเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ก็สามารถต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส แต่กลายเป็นว่ายังนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งก็ย่อมมีข้อครหาว่าต้องการปกปิด หรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้อีก
สำหรับนายกฯ อภิสิทธิ์ นาทีนี้ ก็ย่อมพบกับคำถามในเรื่องหลักเกณฑ์ของกฎเหล็กว่ายังมีอยู่จริงหรือไม่ และยังสามารถใช้ได้กับทุกคนหรือไม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และที่สำคัญก็คือหากมีรัฐมนตรีที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว เขาจะกล้าดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่าง และสร้างความศรัทธากับสังคมเพิ่มขึ้นได้หรือไม่
เพราะหากตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวไม่ได้ครบถ้วน ก็จะเกิดแรงกดดันจากกฎเหล็กของตัวเองที่บีบเข้ามา โดยเฉพาะ “หลักการ” หรือ “ หลักลอย” กันแน่ !!