รองนายกด้านความมั่นคง ถือหางก.ตร.งัดข้อคำสั่งป.ป.ช.อุ้ม 3 บิ๊กตร.คดีม็อบ 7 ตุลาทมิฬ กวักมือเรียก"เบื๊อก"กลับเข้ารับราชการ อ้างผู้ถูกชี้มูลมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ตามระเบียบ ดิสเครดิตคำวินิจฉัยกฤษฎีกาห้ามก.ตร.แย้งมติป.ป.ช. แค่เป็นที่ปรึกษากฏหมายรัฐบาล โยนครม.พิจารณาชงเรื่องศาลรธน.ชี้ขาดอำนาจป.ป.ช.
วันนี้ (6 ม.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะทำหนังสือมาถึงนายสุเทพในฐานะประธาน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งจากคณะกรรมการก.ตร.ว่าป.ป.ช.ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดนายตำรวจ 3 นายในคดีม็อบ 7 ตุลาคม ว่า เรื่องนี้มีขั้นตอนว่าป.ป.ช.ได้พิจารณาชี้มูลความผิดนายตำรวจ แล้วส่งเรื่องมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ทางสตช.จึงได้ดำเนินการให้นายตำรวจทั้ง 3 นายออกจากการปฏิบัติหน้าที่คือปลดออก ตามมติของป.ป.ช. ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามมติของป.ป.ช. ต่อมาตำรวจทั้ง 3 นายใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้าราชการตำรวจที่ระบุว่า เมื่อถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และการพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นไปตามกฎหมายตำรวจ ที่มีคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาร่วมกัน และส่งผลการพิจารณาที่สรุปว่าคำอุทธรณ์ของตำรวจทั้ง 3 นายนั้นฟังขึ้น และไม่ได้กระทำความผิดวินัยตามที่ป.ป.ช.กล่าวหา จึงได้เสนอผลการพิจารณากลับมาที่ก.ตร. และก.ตร.ก็ได้พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคณะกรรมการอุทธรณ์
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ทางสตช.ต้องดำเนินการตามขั้นตอน กรณีของพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.ภ. 4 อดีตผบช.น. และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผบก.ภ.อุดรธานี ให้กลับเข้ารับราชการได้เลยตามที่มติไว้ในที่ประชุมก.ตร. ส่วนกรณีของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. นั้นต้องเสนอเรื่องมาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและสั่งการให้ลงโทษ ซึ่งนายกฯจะมีการวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นเรื่องของนายกฯ
เมื่อถามว่า อย่างนี้จะเป็นการย้อนรอยไม่เคารพมติของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งตามกฏหมายถือว่าเป็นมติเด็ดขาดไปแล้ว นายสุเทพ กล่าวยอมรับว่าก็เป็นประเด็นที่เป็นปัญหา หาก 2หน่วยงานมีความขัดแย้งกัน นายกฯอาจจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมครม. และถ้าเห็นว่า 2 หน่วยงานที่ถือกฏหมายคนละฉบับอาจจะมีปัญหาขัดแย้งกัน รัฐบาลก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
เมื่อถามว่า จะถือว่าเป็นการตะแบงหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ได้ตะแบงด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเช่นนี้เหมือนมีคำสั่งประหารชีวิตไปแล้ว แต่มาเปลี่ยนแปลงอีกได้หรือ นายสุเทพ กล่าวว่า คงไม่มีการประหารชีวิตกันทันที เพราะต้องรอให้กระบวนการเสร็จสิ้นเสียก่อน ทั้งหมดมีกระบวนการของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องไปตื่นเต้นอะไร เมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับใดถูกต้องก็ว่าไปตามนั้น เมื่อถามว่า ทางป.ป.ช.อ้างว่าเคยมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติยืนยันแล้วว่า ก.ตร.ไม่มีสิทธิโต้แย้งมติป.ป.ช. รองนายกฯ กล่าวว่า กรณีของกฤษฎีกาไม่ใช่องค์กรที่จะวินิจฉัยสุดท้าย เป็นเพียงให้คำปรึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน แต่หน่วยงานสุดท้ายจะต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้ว นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในกรณีเดียวกันหรือไม่ ตนไม่ใช่นักกฎหมายเมื่อนั่งเป็นประธานก.ตร.ก็ต้องฟังคนที่เขาหารือกันในทางกฎหมาย และในการประชุมก.ตร.วันนั้นก็ไม่ได้มีใครวอล์กเอ้าท์ มีเพียงกรรมการบางคนที่ขอกลับออกไปก่อน เพราะมีงานอย่างอื่น เมื่อถามว่า เป็นห่วงว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นกรณีตัวอย่างให้หน่วยงานอื่นด้วยหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า คงไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นความบังเอิญอย่างที่ตนบอกไปว่า กฎหมายป.ป.ช.ว่าไปอย่างหนึ่ง แต่กฎหมายตำรวจก็ว่าไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ยืนยันว่าไม่มีใครไปขัดแย้งกับป.ป.ช.เลย สั่งมาก็ดำเนินการจนครบถ้วน แต่คนผิดก็มีช่องทางของเขาคือการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกัน เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกันขัดแย้งกันก็ต้องมีคนวินิจฉัย เราเคารพและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาเป็นเรื่องที่ดีที่สุด กรณีของป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่มีการให้อำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้ เราก็ต้องว่ากันไปตามนั้น
เมื่อถามว่า สรุปแล้วจะให้ครม.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจป.ป.ช. ใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนสรุปไม่ได้ ต้องให้เรื่องไปถึงครม.ก่อน จะไปพูดแทนครม.ทั้งหมดไม่ได้ เมื่อถามว่า ทางป.ป.ช.ข้องใจว่าเพราะเหตุใดนายสุเทพ ถึงไม่มีการปกป้องป.ป.ช.แต่ปล่อยให้ทางตำรวจวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของป.ป.ช.หลายครั้งแม้กระทั่งในการประชุมก.ตร. นายสุเทพ กล่าวว่า ในการประชุมก.ตร.นั้นจะมีการแสดงความคิดเห็นกัน ตนต้องเคารพในความคิดเห็นของแต่ละคนเช่นเดียวกับการประชุมสภาฯ หากไม่มีการทำผิดกฎหมายหรือหมิ่นประมาทใครเราก็ไปว่าอะไรไม่ได้