เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธขัดแย้งนายกรัฐมนตรี ดัน “ไตรรงค์” ควบเก้าอี้หัวโต๊ะสาธารณสุข ยันพรรคไม่ให้แน่ แย้ม “ชินวรณ์-นิพิฏฐ์” ชิงดำ โอดเห็นใจ “มานิต” โดนสังคมกดดัน ฐานดื้อด้านยึดที่นั่งรัฐมนตรีต่อ อ้างแล้วแต่มุมมองกฎหมาย ย้ำกฏเหล็ก 9 ข้อ ยังขลัง ยันไม่ประกาศ พ.ร.บ.คุมแก๊งเสื้อแดงบุกเขายายเที่ยง จ่อถก กอ.รมน.รับมือพวกป่วนชาติ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวติดตลกถึงกรณีที่มีข่าวว่างัดข้อกับนายกรัฐมนตรี เรื่องการพิจารณาตัวบุคคลมาดำรงตำแหน่งรมว.สาธารณสุข เพราะมีกระแสข่าวว่าอาจให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี มาเป็น รมว.สาธารณสุข ว่า “นายกฯ ผอมอย่างนั้น ข้อจะสู้ผมได้อย่างไร” ส่วนประเด็นที่มีข่าวว่าตนขัดแย้งหรืองัดข้อกับนายกฯเรื่องการเลือกบุคคลมาเป็นรัฐมนตรียืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งวันที่ตนไปรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนายกฯ มีตนกับนายกฯ เพียง 2 คนเท่านั้น และได้ปรึกษาหารือถึงสถานการณ์บ้านเมืองโดยรวมให้นายกฯรับทราบ และรับบัญชาของนายกฯมาปฏิบัติ ซึ่งในช่วงหลังตนกับนายกฯ ไม่ได้คุยกันบ่อย
“ที่ผ่านมาผมระมัดระวังตลอดเวลา เพราะบทบาทของผมเป็นรองนายกฯ จึงจะทำทุกอย่างตามที่นายกฯกำหนดออกมาเป็นนโยบาย และเมื่อนายกฯ รับฟังแล้วจะตัดสินใจอย่างไรก็เป็นเรื่องของนายกฯ จึงไม่มีวันที่ผมจะไปขัดแย้งหรืองัดข้อกับนายกฯ แต่ปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งผมและนายกฯ ทราบและเข้าใจกฎเกณฑ์ กติกา ขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของพรรคดี ว่าในพรรคไม่มีใครที่จะชี้นำได้ว่าการแต่งตั้งคนที่มาเป็นรัฐมนตรีจะต้อง เลือกนาย ก หรือนาย ข แต่ข้อสรุปทั้งหมดต้องเป็นมติของที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค หรือที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรค ขอย้ำว่านายกฯ ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนโน้นหรือคนนี้ แต่ฟังเสียงมติเป็นหลัก ที่พูดมาทั้งหมดนั้นคือข้อเท็จจริง” นายสุเทพกล่าว
เมื่อถามว่าแสดงว่านายไตรรงค์ จะยังคงเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แทนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อยู่เหมือนเดิมใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ใช่ เรื่องนายไตรรงค์จบไปตั้งนานแล้วว่าจะดำรงตำแหน่งใด เพราะผ่านมติของที่ประชุมพรรคไปแล้ว และเมื่อนายกอร์ปศักดิ์ สะสางงานที่ค้างไว้เสร็จสิ้น ก็จะไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อถามว่ากระแสข่าวที่ออกมาเหมือนเป็นการโยนหินถามทาง เหมือนกรณีที่นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข โควตาพรรคภูมิใจไทยยังไม่ยอมลาออก จึงมีการทำบ้าง นายสุเทพกล่าวว่า ไม่มีโยนหินถามทางขอย้ำอีกครั้งว่ากรณีของนายกอร์ปศักดิ์ ผลสรุปยังไม่ออกมาจากกรรมการที่สอบสวน แต่เมื่อมีข้อกล่าวหาและวิพากษ์วิจารณ์ ป.ป.ช.ก็เข้าไปสอบ เชื่อว่าเมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น แต่ที่นายกอร์ปศักดิ์ออกมาจากตำแหน่งรองนายกฯ เพราะต้องการให้มาเป็นเลขาธิการนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่นายมานิตยังไม่ออกจากตำแหน่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การปรับครม. ต้องเลื่อนไปเป็นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตนเคยเรียนไปแล้วถึงเหตุผลการปรับ ครม.จึงต้องรอเวลา ส่วนกรณีนายมานิตต้องรอดูกันไป เพราะการเมืองไม่ได้ดั่งใจเราทุกอย่างและไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างต้องจบ ภายในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ เรื่องนี้ต้องใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน ต้องวิเคราะห์ผลดี ผลเสียทุกแง่มุม เพราะแต่ละพรรคมีระบบและวิธีคิดของเขา ซึ่งแตกต่างกัน จึงต้องให้โอกาสเขาได้คิด แต่ถึงแม้ว่าแต่ละพรรคจะมีวิธีคิด และระบบประเพณีที่ต่างกัน แต่เมื่อมาทำงานอยู่ด้วยกันต้องแลกเปลี่ยนและรับฟังซึ่งกัน
ต่อข้อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคร่วมรัฐบาลกำลังร่วมมือกันบีบพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มีการบีบมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะแต่ละพรรคก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ต้องปรับเข้าหากัน และคุยกันด้วยเหตุผล เมื่อถามว่า เหตุผลที่นายมานิตไม่ออก เพราะเป็นไปตามข้อตกลงเดิมที่คุยกับพรรคภูมิใจไทยไว้หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่มีข้อตกลงอะไรที่วางไว้ ตนเป็นผู้ประสานงานรัฐบาลพอมีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องวิ่งไปฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ รับเหตุผล ข้างโน้นมาเรียนให้ข้างนี้ทราบ และพยายามพูดคุยให้เข้าใจตรงกัน เมื่อถามว่าการตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทยที่ไม่ให้นายมานิต ลาออกส่งผลให้กฎเหล็ก 9 ข้อ ถูกยกเลิกไปโดยปริยายหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพราะนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลได้กำหนดกฎ กติกา ได้กำหนดไว้ให้ทุกคนปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐมนตรีที่รับทราบเห็นดีงามด้วยและยอมรับในกฎดังกล่าว แต่กฎดังกล่าวก็มีแง่มุมที่สามารถโต้แย้งได้
เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่ากรณีของนายมานิต จะทำให้สังคมมองว่ารัฐบาลไม่เด็ดขาดและมี 2 มาตรฐานในการทำงาน นายสุเทพกล่าวว่า คงไม่มี 2 มาตรฐาน ยืนยันว่าต้องมีมาตรฐานเดียว ยอมรับว่าตนเห็นใจนายมานิต ถูกสังคมกดดัน และเข้าใจในความเป็นนักการเมืองว่าเมื่อถูกกล่าวหาก็ต้องการโอกาสในการชี้แจง ซึ่งการชี้แจงที่ดีที่สุดก็คือในสภา ซึ่งนายมานิตอาจจะคิดในมุมที่ตนพูดไปก็เป็นได้ จึงยังคงทำหน้าที่ต่อ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่พรรคภูมิใจไทยยกประเด็นนายกอร์ปศักดิ์มาเทียบเคียงกับนายมานิต ที่ยังไม่ออกจากตำแหน่งมองว่าสามารถเทียบเคียงกันได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดในกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีผลสอบของคณะทำงานได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และแจกให้ ครม.รับทราบโดยระบุรายละเอียดในรายงาน ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ถือว่าชัดเจน จนนายวิทยาต้องรับผิดชอบถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการซื้อขายหรือ ทุจริตก็ตาม แต่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ เมื่องานมีความบกพร่องต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะรู้ว่าประชาชนไม่ชอบใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้นแรงกดดันจึงมาอยู่ที่นายมานิต เพราะรายงานมีบุคคลเกี่ยวโยงถึงนายมานิต จึงทำให้มีแรงกดดันค่อนข้างหนัก
นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนกรณีโครงการชุมชนพอเพียงที่นายกอร์ปศักดิ์ดูแลรับผิดชอบ มีการกล่าวหาว่า สัญญาซื้อขายไม่ถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง.และป.ป.ช.ก็เข้าไปตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้สรุปออกมา สมมติว่าถ้าสรุปผลการสอบออกมาว่าเกี่ยวโยงกับใคร ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องพิจารณา ซึ่งความต่างทั้งสองเรื่องอยู่ตรงนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดง ว่าพรรคภูมิใจไทยเห็นว่าผลการสอบของคณะทำงานสอบข้อเท็จจริงชุดนพ.บรรลุ ศิริพานิช ไม่ศักดิ์สิทธิ์ หรือเคารพในผลการสอบ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเขาไม่ได้ออกมาคัดค้านตั้งแต่ครั้งแรกที่ตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้น เมื่อถามว่า กรณีปัญหาในกระทรวงสาธารณสุขจะตกเป็นเป้าในการอภิปรายหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ก็คงต้องเจอ เพราะเชื่อว่าฝ่ายค้านคงเอามาอภิปราย อย่างไรก็ต้องรับมือให้ไหว ต้องชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง ทุกอย่างต้องเปิดเผยตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ความชัดเจนเรื่องตัวบุคคลที่จะมาทำหน้าที่รมว.สาธารณ สุขแทนนายวิทยาได้เมื่อไหร่ นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าวันนี้ (6 ม.ค.) น่าจะชัดเจนพรรคเข้าใจดีว่าประชาชนสนใจติดตามอยู่ คงไม่ทำอะไรยืดเยื้อ ส่วนคนที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดต ตนขอให้มีการประชุมในพรรคก่อนจึงจะมาเรียนให้ทราบ ถ้าไปพูดอะไรก่อนจะถูกกล่าวหาว่า ไปชี้นำเพราะเป็นเลขาธิการพรรคต้องวางตัวให้ดี
อย่างไรก็ตาม นายสุเทพกล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 11 มกราคมว่า คงไม่มีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยยังได้ย้ำในที่ประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีนี้ ซึ่งในวันศุกร์นี้จะมีการหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกันอีกครั้ง