xs
xsm
sm
md
lg

คำนูณ สิทธิสมาน : รัฐบาลยังสอบตกในเรื่องพิทักษ์สถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
สัมภาษณ์


ในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีขบวนการคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เคลื่อนไหว รุกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบที่ปรากฏ มีทั้งการเปิดเว็บไซต์โจมตี แจกใบปลิวจาบจ้วงสถาบันฯ โดยเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ทั้งยังมีการปราศรัยของแกนนำมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดง อาทิ จักรภพ เพ็ญแข, ดา ตอร์ปิโด, ชีพ ชูชัย หรือชูชีพ ชีวสุทธิ์ จึงเป็นสาเหตุให้สมาชิกวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ขึ้นมาเพื่อปกป้องสถาบันฯ ไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ กระทำการจาบจ้วง ล่วงละเมิดมากไปกว่านี้ "เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ได้สัมภาษณ์ นายคำนูณ สิทธสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมาธิการพิทักษ์สถาบันฯ ถึงผลงานที่ได้ทำมา และแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต รวมทั้งข้อเสนอแนะให้รัฐบาลและสังคมได้ตระหนัก

- ในรอบปีที่ผ่านมา เท่าที่คณะกรรมาธิการพิทักษ์สถาบันฯ ได้ดำเนินการไปพบว่ามีคนกลุ่มใดบ้างที่มีความคิดโค่นล้มสถาบันฯ

จากการที่ได้รวบรวมข้อมูลหมิ่นสถาบันฯ ทางเว็บไซต์ หรือแม้แต่การปราศรัยของบรรดาแกนนำกลุ่มเสื้อแดง พบว่ามีขบวนการที่คิดโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์จริง และเริ่มมีการขยายไปในวงกว้าง โดยมีแนวร่วมหลายระดับ อาทิ แกนนำคอมมิวนิสต์บางคนในอดีต นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและคนที่หนีไปต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง

กลุ่มแนวร่วมของคนเหล่านี้จะมีหลายกลุ่ม เช่น แนวร่วมที่เป็นฐานเดิมส่วนใหญ่จะเป็นอดีตผู้เคยเข้าป่า ซีกที่ไม่เอากลุ่มคนเสื้อเหลือง กลุ่มแนวร่วมใหม่ จะเป็นคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัย มีอยู่ในหลายสถาบันทั้ง มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนต์ อีกทั้งยังรวมกลุ่มในเว็บบอร์ด “ฟ้าเดียวกัน”

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแนวร่วมที่พร้อมจะถูกชักจูงได้ง่าย คือชาวบ้านระดับรากหญ้าที่สวมเสื้อแดง ที่เดิมทีไม่ใส่ใจในเรื่องนี้มากนัก มีความจงรักภักดีพอสมควร แต่เมื่อถูกปลูกฝังผ่านกลวิธีหลากหลายก็สามารถเอนเอียงได้ง่าย เพราะถูกกล่อมให้จงรักภักดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายใหญ่ ซึ่งหลักฐานการปลุกระดมในต่างจังหวัด จะเป็นในลักษณะแจกใบปลิวโจมตีสถาบันฯเป็นส่วนใหญ่

- ความรุนแรงของสถานการณ์จนกลายเป็นขบวนการล้มเจ้า จนผูกโยงขบวนการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่

หลังจากปี 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เผชิญกับภัยคุกคาม 2 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งจะเห็นว่าในยุคแรกไม่ซับซ้อน เพราะต่างก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันสิ้นเชิง มีการจัดตั้งขบวนการติดอาวุธในป่ามาสู้กัน ช่วงที่สอง จะเป็นช่วงที่มีขบวนการปฏิเสธสถาบันฯ โดยมีการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ หรือโดยประชาชน ที่เริ่มชัดเจนหลัง พ.ศ.2548 ยุคนี้เป็นยุคหลังที่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น เพราะแฝงตัวมาในทางการเมือง ภายใต้ชื่อของระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน ความซับซ้อนของสถานการณ์ใน 4-5 ปีมานี้ จะทวีมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่ม นปก. และ พ.ต.ท.ทักษิณ อุดมการณ์ ดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นพลังหลักที่ขับเคลื่อนคนเสื้อแดง จากเดิมที่เป็นการรวมตัวของคนที่หลากหลาย ทั้งพวกที่เกลียดทหาร และการรัฐประหาร พวกที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งพวก ส.ส.ที่หวังโหนกระแส พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กลับมามีอำนาจเหมือนเดิม และพวกล้มเจ้า ที่แฝงเข้ามา

สุดท้ายกระแสอื่นๆ เป็นกระแสรอง แต่ขบวนการล้มเจ้าและยุทวิธีบ่อนทำลายสถาบันฯ กลับกลายเป็นยุทธวิธีหลัก จะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณในไทมส์ ออนไลน์ รวมทั้งใช้ ฮุนเซน เป็นเครื่องมือ เพราะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ชวนให้เกิดข้อกังขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ การออกมาประกาศแก้เรื่องผู้สำเร็จราชการฯ ในระหว่างที่ในหลวงทรงประชวร จึงนำเอาปัญหาพระพลานามัย และอาการประชวรของท่านมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการกำหนดวิธีการเคลื่อนไหวช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของคนกลุ่มนี้อย่างมิบังควร ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2552

- สถานการณ์ขบวนการล้มเจ้าปรากฏชัดอย่างโจ่งแจ้ง ไม่มีการปิดบังเหมือนในอดีต

ปัญหาดังกล่าวเหมือนกับคลื่นเซาะหิน ดูเผินๆ เหมือนยากที่จะโจมตี มองด้วยตาเปล่าไม่ชัด ทุกคนจึงไม่ตระหนัก ไม่ตื่นตัว เป็นการประเมินที่ต่ำไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปคือยังมีการส่งอีเมล์ลูกโซ่อย่างกว้างขวางในช่วงเดือนตุลาคม โดยใช้คำกระแนะกระแหน ใช้คำที่เป็นสัญลักษณ์ในเว็บบอร์ดต่างๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และสถานีวิทยุสีแดง 92.5 เปิดเพลงที่มีถ้อยคำว่า “อย่างนี้ต้องกิโยติน” เป็นการโค่นล้มศักดินาอย่างเปิดเผย ซึ่งใครได้ยินจะเข้าใจว่าเขาหมายความถึงอะไร

- รัฐบาลได้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดอย่างไร และกมธ.ได้ติดตามความคืบหน้าในการจับกุมไปถึงไหน


รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศนโยบายเป็นข้อแรกว่าจะส่งเสริมและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ระดับ คือ

1. การบังคับใช้กฎหมายปราบปรามผู้กระทำผิด โดยมีการจับกุม “ดา ตอร์ปิโด” ส่วนคนอื่นๆ อยู่ระหว่างหลบหนีทั้งสิ้น สำหรับคดีที่เป็นเนื้อเป็นหนังมากที่สุด คือ การโจมตีตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ 2 ราย การใช้กฎหมายยังมีข้อจำกัดในเรื่องการหาหลักฐาน และขั้นตอนในการดำเนินคดี การสอบสวนให้ลงลึกไปถึงต้นตอยังไม่ชัดเจน ได้แต่จับปลาซิว ปลาสร้อย

2. ระดับมาตรการส่งเสริมและป้องปราม เป็นมาตรการทางสังคม ควบคู่กับกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่ทำได้ดีในประเด็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์งานเฉลิมฉลองพระชนพรรษา

- ในเรื่องนี้ การทำงานของรัฐบาลยังบกพร่องในจุดใดบ้าง

จุดอ่อนของรัฐบาลที่เห็นชัด คือ ไม่สามารถทำให้สังคมตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องของความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก้าวล่วงไปถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อพระราชอำนาจตามนิติราชประเพณี เรื่องนี้รัฐบาลสอบตก เพราะไม่ได้ทำให้ประชาชน และสังคมเข้าใจรู้ชัด ถึงอันตราย มีเพียงการส่งเสริม เทิดทูนประชาสัมพันธ์ในช่วงวันสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องทำกันอยู่แล้ว

- ในฐานะเป็น กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ อยากเสนอแนะอะไรรัฐบาลต่อเรื่องนี้บ้าง

1.เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ต้องเข้มงวดมากกว่าที่เป็นอยู่ จะรอให้มีการกล่าวหมิ่น ถึงค่อยจับไม่ได้ ทำให้ละเลยเรื่องเล็กๆ ที่เป็นคลื่นซัดหิน ทั้งคำพูดจา การใช้สัญลักษณ์ และการเผยแพร่กลุ่มย่อย

2.ทำให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตราย ของสถานการณ์ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า ซึ่งรัฐบาลสอบตกในเรื่องนี้

3.ขบวนการนิยมทักษิณ กำลังหลอมรวมกับ ขบวนการล้มเจ้า เรื่องนี้ต้องชี้แจง ทำความเข้าใจในวิธีการที่หลากหลาย และทำให้ มีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนเข้าใจ เพราะมีหลักฐานเชื่อมโยง ยืนยันชัดเจน อย่างกรณีของ จักรภพ เพ็ญแข ที่เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดกลยุทธ์ นี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจน

4.การต่อสู้ด้วยข้อมูลวิชาการ ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ใช้อยู่ เหมาะและดีต่อประเทศมากกว่า ระบอบสาธารณรัฐ หรือประชาธิปไตยเฉยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น