“เทพเทือก” เปิดโผ 5 แคนดิเดตเก้าอี้สาธารณสุข “องอาจ-จุติ-เฉลิมชัย-ชินวรณ์-นิพิฐฏ์” มีลุ้น แย้มเอาคนรู้นโยบายรัฐ ทำงานแทนได้ คาดหลังปีใหม่รู้กัน ไม่ชี้นำ “มานิต” ไขก๊อกตาม โยนตอบคำถามสังคมเอง จ่อคุย “เนวิน-สมศักดิ์” หลังเทศกาล
วันนี้ (30 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการสลับตำแหน่งระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยจะให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ มาเป็น รมว.สาธารณสุข แทนนายวิทยา แก้วภราดัย ที่ลาออกไปว่า เวลาที่มีตำแหน่งว่างคนก็จะคาดคิดและวิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะตนจะรอหลังจากปีใหม่จึงจะไปแจ้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อปรึกษาหารือกัน ตามขั้นตอนขอนพรรค ที่ต้องผ่านกรรมการบริหารว่าจะพิจารณาใคร เช่นครั้งที่ผ่านมาที่ตัดสินใจให้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรรมการบริหารพรรคก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ บุคคลที่เหมาะสมคือนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และเมื่อกรรมการบริหารพรรคได้ข้อยุติ ก็จะประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.ทั้งหมดและกรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง เพื่อพิจารณามติของกรรมการบริหารพรรค เมื่อ ส.ส.เห็นตรงกันก็เดินหน้าได้ กรณีของนายวิทยาก็เช่นเดียวกัน เมื่อประชุมกรรมการบริหารพรรคแล้วก็ต้องประชุมร่วม ซึ่งในการประชุมบางครั้งก็มีการอภิปรายกันเข้าใจดี ก็ไม่ต้องลงมติ เพราะทุกคนเห็นตรงกัน แต่บางครั้งก็ต้องลงมติ นี่คือระบบของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน ไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าเป็นพรรคอื่นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคกำหนดได้
ส่วนคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็น รมว.สาธารณสุข จะต้องเป็นอย่างไรนั้น นายสุเทพกล่าวว่า นักการเมืองเป็นฝ่ายคุมนโยบาย ดังนั้นคนที่จะมาทำงานจะต้องเข้าใจนโยบายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเกี่ยวกับกระทรวงนั้นๆ ซึ่งการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พรรคได้กำหนดนโยบายเรื่องสาธารณสุขไว้ชัดเจน ซึ่งคนในพรรคก็ทราบดี ดังนั้นถ้าพรรคเห็นว่าใครเหมาะสมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และมีความรู้ ความเข้าใจ ก็เลือกเข้ามาได้ ขณะที่โควตาภาคก็เป็นแค่ตัวประกอบเล็กน้อยในพรรค เพราะเราถือหลักในการพยายามเกลี่ยโดยไม่ได้ยึดถือตัวเลขชัดเจน แต่คำนึงว่าให้มีตัวแทนแต่ละภาคขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตนไม่คิดว่าจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะพรรคใช้ระบบประชาธิปไตยในการบริหารพรรค ซึ่งคนที่อยู่ในข่าย ในส่วนภาคเหนือก็มีนายจุติ ส่วน กทม.ก็มีนายองอาจ ส่วนภาคกลางก็คือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส่วนภาคใต้ก็คือนายนิพิฏฐ์ และนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ แต่ที่ประชุมพรรคจะพิจารณาอย่างไรต้องไปว่ากันในที่ประชุม ซึ่งขณะนี้ก็มี 5 คนนี้ ที่สมาชิกพรรคให้การยอมรับ และสนับสนุน
ขณะที่มีเสียงติงว่าทั้ง 5 คนนี้ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์การทำงานแต่จะให้ขึ้นชั้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ คงจะไม่เหมาะนั้น นายสุเทพกล่าวว่า หลายคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ในขณะนี้ เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม ก็ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน เรื่องนี้คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะระบบรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบแบบของเรา ไม่จำเป็นต้องผ่านตามลำดับจึงจะมาเป็นรัฐมนตรีได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีการคุยกันภายในพรรคว่าจะปรับกี่ตำแหน่ง บอกตามตรงว่าที่สื่อมวลชนถามมา ตนจะไม่พยายามตอบ เพราะเมื่อทราบข่าวจากสื่อตนได้ไปแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีว่าเอาไว้ตัดสินใจหลังปีใหม่ แต่เมื่อนายวิทยาตัดสินใจลาออกก่อน ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ซึ่งตนคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าคงจะออกมาเป็นแบบนี้ ตนเข้าใจนายวิทยาเป็นอย่างดีว่าเป็นคนที่มีอุดมการณ์และความคิด มีความรับผิดชอบ จึงไม่รอให้ใครมากดดันและตัดสินใจด้วยตัวเอง
นายสุเทพกล่าวถึงกรณีของนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ด้วยว่า ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายมานิตเอง ซึ่งต้องเคารพความคิดและการตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทย ตนคงไม่เข้าไปแทรกแซง เราจะดูเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องขอบคุณนายวิทยาที่แสดงความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน ทำให้พรรคไม่ต้องมีอะไรที่ต้องกังวลใจในช่วงปีใหม่ ทั้งนี้ตนไม่เห็นว่านายกฯกดดันอะไรนายมานิต ตนไม่ได้ฟังที่นายกฯแถลง และตนจะลำดับความให้ฟังว่าเมื่อวานนี้ (29 ธ.ค.) ตนอยู่กับสื่อ และหลังการทำบุญตักบาตรตนได้เดินเข้าไปพักที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า นายวิทยาได้เข้ามากระซิบบอกว่า “พี่ครับ ผมตัดสินใจแล้วนะครับ ผมจะแถลงข่าววันนี้ ผมจะไม่เข้าประชุม ครม.” ซึ่งตนได้บอกไปว่า “โอเค ทำในสิ่งที่เห็นว่าดีที่สุด” พอ เข้าประชุม ครม.ตนก็ได้ไปบอกนายมานิตว่าให้ติดตามการแถลงของนายวิทยาว่าจะพูดในแง่มุมไหน เพราะเดี๋ยวจะมีคนมาถาม ก็เท่านั้น ไม่ได้ไปกดดันอะไร ซึ่งนายมานิตได้ตอบกลับมาว่าต้องไปหารือในพรรคภูมิใจไทยก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร
เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย แต่ละพรรคมีระบบและวิธีการของเขา จะไปกำหนดให้เขาทำทุกอย่างเหมือนเราไม่ได้ จะไปว่าหน่อมแน้มก็คงไม่ใช่ ซึ่งสื่อเองอย่าคาดการณ์อะไรในทางที่เป็นปัญหา ช่วงนี้คิดว่าน่าจะสบายใจ เพราะเมื่อมีกรณีเกิดขึ้นไม่ว่าจะถูกหรือผิด และยังไม่ได้พิสูจน์ รัฐมนตรีว่าการที่เห็นอยู่แล้วว่าไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือฉ้อโกง คอร์รัปชัน และเป็นคนสั่งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเอง แต่ผลกลับมาเล่นงานตัวเอง ก็ได้แสดงความรับผิดชอบ ประชาชนก็สบายใจได้ว่าการเมืองมีมาตรฐาน ดังนั้นให้ไปฉลองปีใหม่ได้อย่างสบายใจ ส่วนกฎเหล็ก 9 ข้อที่นายกฯตั้งขึ้นยังสามารถใช้ได้กับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด หรือใช้ได้เฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายสุเทพกล่าวว่า ตอนที่นายกฯพูดไม่ได้พูดในพรรคประชาธิปัตย์ แต่พูดในที่ประชุม ครม.ก็หมายความว่าพูดกับทุกคน เมื่อถามว่านายวิทยาแสดงความรับผิดชอบแล้ว แต่กรณีของนายกอร์ปศักดิ์ยังไม่เห็นออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือแสดงสปิริตบ้าง นายสุเทพถอนหายใจก่อนกล่าวว่า ตนเห็นใจนายกอร์ปศักดิ์ที่พยายามแก้ปัญหาและปรับปรุง ซึ่งตนยังไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรต่อเนื่อง และขณะนี้นายกอร์ปศักดิ์ก็กำลังจะไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างเป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ได้เกี่ยวกับพรรค แต่เมื่อมีปัญหาก็พยายามช่วยกันดูแล ตรวจสอบ จะเห็นได้จากการทำงานของตน ที่มีลูกพรรคออกมาวิจารณ์เป็นระยะ เพราะพรรคเราซัดกันได้ทุกระดับ
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้ต่อสายถึงนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เพื่อหารือกรณีของนายมานิตแล้วหรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่ได้คุย แต่หลังปีใหม่จะคุย เพราะเบื้องต้นชัดเจนว่าภายในกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง หรือเรื่องที่รัฐจะเสียประโยชน์ มีแต่เรื่องที่ประชาชนเสียความรู้สึกและมีผู้รับผิดชอบแล้ว ดังนั้นหากจะคุยหลังปีใหม่ก็คงไม่มีอะไรเสียหาย จึงขอให้ทุกคนผ่อนคลายบรรยากาศในช่วงปีใหม่นี้ เพราะเหนื่อยกันมาทั้งปี หลังปีใหม่ค่อยมาคุยกันใหม่ เมื่อถามว่าแสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังยอมให้กับพรรคภูมิใจไทย เพราะมีกระแสข่าวว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรค โทรศัพท์มากำชับนาย มานิต ไม่ให้ลาออก นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าผู้บริหารพรรคภูมิใจไทยคิดอย่างไร แต่เชื่อว่าเขาเป็นนักการเมือง ต้องมีทางออกทางใดทางหนึ่ง ที่ตอบสนองความรู้สึกของประชาชน
ในส่วนของการปรับ ครม.นั้น นายสุเทพกล่าวว่า เราเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ลมหายใจของเราก็คือการสนับสนุนของประชาชน จึงต้องฟังเสียงประชาชนแน่นอนอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลคงจะพิจารณาในแต่ละพรรค ตนไม่ได้เข้าไปซักถาม เพราะเคารพกิจการภายในของเขา ส่วนการปรับในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น เอาเป็นว่าเป็นเรื่องของพรรคเขาที่ต้องไปปรึกษาหารือกัน และต้องมีคำตอบให้ประชาชน ในฐานะที่ตนเป็นผู้จัดการรัฐบาลจะดำเนินการอะไรก็ต้องจัดการด้วยความระมัดระวัง เพราะเราเป็นรัฐบาลผสม ต้องเคารพความคิดคนอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยกับเขาบ้าง ตนมีหน้าที่ประคับประคอง ขณะที่มีความกังวลหรือไม่ว่าหากมีการปรับใหญ่จะกระทบเสียงในสภานั้น นายสุเทพกล่าวว่า ต้องว่าไปตามกติกา หากเป็นปัญหาก็ต้องเป็น ถ้าไม่เป็นก็คือไม่เป็น ถ้าจะเป็นปัญหาจริงๆ ใครก็ห้ามไม่ได้