xs
xsm
sm
md
lg

คำสั่งศาลปกครอง กรณีมาบตาพุด เรื่องที่ภาครัฐและเอกชน ไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงแม้คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 จะมีความชัดเจนว่า ให้ระงับโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด 65 โครงการไว้ก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2552 ให้ครบถ้วนเสียก่อน แต่รัฐบาลและนักลงทุนเจ้าของโครงการ ก็ยังทำตัวเหมือนไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ คำสั่งศาล พยายามหาช่องทางผลักดันโครงการต่อไปให้ได้

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลเตรียมให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการอย่างน้อย 42 รายจาก 65 โครงการที่ลงทุนในมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ถูกคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ระงับโครงการชั่วคราว เนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่โดยเห็นว่ามีช่องทางที่สามารถทำได้ โดยการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาล เพื่อขอความเห็นกลับไปที่อัยการอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ให้พิจารณามาตรกรช่วยเหลือนี้

ทั้ง 42 โครงการที่จะขอให้ศาลปกครองผ่อนผัน จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ 4 ข้อต่อไปนี้ คือ 1.ต้องเป็นโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนวันที่ 24 ส.ค.2550 2.ต้องเป็นโครงการที่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม 3. เป็นโครงการที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และ 4. ไม่อยู่ใน 19 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม

ตอนท้ายคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า

“ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า โครงการหรือกิจกรรมในส่วนที่เหลือซึ่งประกอบไปด้วยโครงการปิโตรเคมีและท่อส่ง โครงการเหล็ก นิคมอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้า โรงบำบัดกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม เป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ถ้าโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2552 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้มีส่วนได้เสีย อาจมีคำขอต่อศาลที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวได้

ขณะนี้ การดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรค 2 ยังทำไม่ได้ ในเรื่องของการประมินผลกระทบด้านสุขภาพ และยังไม่มีองค์กรกลาง ที่จะมาให้ความเห็นต่อ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ไม่มีรัฐบาลชุดไหน ใส่ใจทำให้ มาตรา 67 วรรค 2 ซีงเป็นบทบัญญัติรับรองสิทธิของชุมชน ที่อาจถูกกระทบจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่

เหตุผลที่นายกอร์ปศักดิ์ อ้างว่า จะขอให้ศาลปกครองผ่อนปรนนั้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งเอาไว้ และคำสั่งนี้ถือเป็นที่สุดแล้ว เพราะเป็นศาลปกครองสูงสุด มีแต่ต้องไปเร่งให้ กระบวนการ และกลไกตาม มาตรา 67 วรรค 2 เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่านั้น

เข้าใจละว่า ทางฝ่ายนักลงทุนเจ้าของโครงการนั้น ต้องเสียหายจากความล่าช้า คิดเป็นมูลค่ามหาศาล แต่เรื่องนี้ ต้องโทษรัฐบาล ต้องโทษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ซึ่งไม่รู้เรื่องมาบตาพุดเลย แล้วแต่ปลัดวิฑูรย์จะชงเรื่องมาให้ เอาแต่จะพาเมียไปเที่ยวเมืองนอก กับบีโอไอ ขากลับขนกระเป๋าไม่ผ่านด่าน ชนิด วัลลภ พุกกะณะสุต ชิดซ้ายไปเลย โรดโชว์ที่ยุโรป กำหนดเดิมเป็นเดือนมีนาคมปีหน้า ก็ไปบีบให้บีโอไอ ร่นมาจัดช่วงวันที่ 14-24 ธันวาคม เพราะอยากพาอาจารย์บังอรไปดูหิมะ และช้อปปิ้ง แต่ต้องรีบแจ้นกลับเมืองไทยให้ทัน ประชุม ครม. เช้านี้ เพราะถูกนายกฯเฉ่งในที่ประชุม ครม. ว่า มาบตาพุด เป็นเรื่องใหญ่ แต่เจ้ากระทรวงหนีไปเที่ยว) ที่ไม่ทำตามกติกาให้เกิดความชัดเจน แต่ใช้วิธีเลี่ยงบาลี แล้วก็ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีตรารับรองให้ ว่า ไม่ผิดกฎหมาย แต่ศาลปกครอง ท่านไม่ได้มองแต่เรื่องของ มุลค่าการลงทุน จีดีพี ท่านมองไปถึง สิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ และมองไปถึงต้นเหตแห่งปัญหาว่า เพราะรัฐบาลไม่ทำตามกฎหมาย ดังเนื้อความตอนหนึ่งในคำสั่งศาลว่า

“ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า หากจะเกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องโดยตรงมาจากการละเลยไม่ดำเนินการหรือความล่าช้าของผู้ถูกฟ้องคดีเองที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมนั้นจะต้องชะลอการดำเนินการก่อสร้าง ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการของตนออกไป อันส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของภาคเอกชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ จึงมิใช่เนื่องมาจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลโดยตรง”

ที่ถูกแล้ว ภาคเอกชน ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้มีอำนาจในกระทรวงอุตสาหกรรม และในทำเนียบรัฐบาลได้มากกว่าภาคประชาชนอยู่แล้ว ต้องกดดันให้รัฐบาล ให้มีการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 เพื่อเป็นการสร้างกรอบกติกาการลงทุนให้ชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในระยะยาว ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า เฉพาะตน ขอให้รัฐบาลผลักดันเฉพาะโครงการ 42 โครงการให้ศาลปกครองพิจารณาใหม่

หรือว่า ที่จริงแล้ว ภาคเอกชนก็ไม่ต้องการให้มีการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องทำประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่ม และต้องให้องค์กรกลางเห็นชอบด้วย เอาแบบเดิมดีกว่า วิ่งเต้นให้ผ่านกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้แล้ว


ฝ่ายรัฐบาลนอกจากจะไม่ใส่ใจกับ การสร้างกติกาการลงทุนให้ชัดเจนแล้ว ยังแสดงจุดยืนว่า อยู่ข้างเดียวกับนักลงทุนเต็มตัว ด้วยวิธีพูดถึง ความเสียหายมูลค่าถึง 6 แสนล้าน จากที่ 65 โครงการถูกระงับ หรือว่า จะต้องขึ้นราคาแก๊สแก๊สหุงต้ม เพราะไม่สามารถสร้างโรงแยกแก๊สแห่งที่ 6 ได้

ทั้งๆ ที่ความเสียหาย หากจะเกิดขึ้นจริง ตามที่กล่าวอ้างกันนั้น ก็เป็นเพราะ การไม่ทำหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบนั่นแหละ ศาลปกครองสุงสุด ท่านคงจะคาดได้ว่า จะต้องมีการบิดเบือนในเรื่องนี้ จึงได้ดักคอไว้เลยว่า

“การบริหารจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวในอารยประเทศ ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของรัฐที่รัฐจะต้องดำเนินการ ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงการบริหารงานของรัฐด้านเศรษฐกิจกับด้านพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิตของประชาชน และสิทธิชุมชนแล้ว เห็นได้ว่า ความเสียหายที่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมจะได้รับอาจเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ในกรณีนี้ได้แก่ รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติใบอนุญาตได้พิจารณาผลการประเมินในเรื่องต่างๆ ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด”
กำลังโหลดความคิดเห็น